ผมเคยเขียนเรื่องทำนองนี้ไปแล้วแต่จนถึงวันนี้ก็ยังมีค่านิยมทำนองนี้อยู่ในหัวหน้างานหรือผู้บริหารในบริษัทต่าง
ๆ อยู่
ตัวพิสูจน์ว่าค่านิยมประเภทนี้ยังมีอยู่ก็คือ
ผมยังยังเห็นการโพสเรื่องเหล่านี้ในเว็บไซด์ชื่อดังหลาย ๆ แห่ง โดยคนที่เป็นลูกน้องจะโพสกระทู้แสดงความข้องใจว่าทำไมหัวหน้าชอบให้กลับดึกโดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอยู่เป็นประจำโดยไม่ให้โอที
แต่บอกลูกน้องว่านี่คือความรับผิดชอบ นี่คือความทุ่มเทอุทิศตนให้กับงาน
แถมถ้าใครกลับบ้านเร็ว
(เช่นถ้าเลิกงานห้าโมงเย็นแล้วกลับบ้านประมาณหกโมงเย็นเป็นประจำ)
ก็จะถูกหัวหน้าประเมินผลการปฏิบัติงานว่าเป็นคนไม่ทุ่มเท ไม่อุทิศตนให้กับงาน ฯลฯ
แล้วความประพฤติอย่างนี้ก็จะไปมีผลลบกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีและโบนัสไปด้วย
เพราะถือว่าเป็นคน
“กินแรงเพื่อน” เนื่องจากเพื่อน ๆ กลับกันดึก ๆ ดื่น ๆ ก็แสดงว่าเพื่อน ๆ
เขาทำงานมากกว่าอุทิศตัวให้กับงานมากกว่าก็ควรจะให้โบนัสมากกว่าคนที่กลับบ้านเร็ว !!??
มันก็เลยเกิดดราม่าขึ้นมาว่า....
จริงหรือที่คนกลับบ้านดึกคือคนทุ่มเท และจะทำให้ได้ผลงานมากขึ้นดีขึ้น
?
ผมเองก็เคยเจอหัวหน้าที่มีค่านิยมทำนองนี้มาแล้ว และผมก็เชื่อว่าท่านก็อาจจะเคยเจอหัวหน้าที่มีค่านิยมแบบนี้มาเหมือนกัน
แต่ในวันที่เราเป็นลูกน้องเราอาจจะทำอะไรไม่ได้มากนัก
แต่พอวันที่เราเป็นหัวหน้าขึ้นมาบ้างลองกลับมาคิดทบทวนหาเหตุผลในเรื่องนี้ด้วยการตอบคำถามเหล่านี้กันอีกสักครั้งจะดีไหมครับ
ลองทบทวนดูว่า....
1.
งานที่ลูกน้องจะต้องทำคืองานอะไร งานนั้นมีความสำคัญและเร่งด่วนมากน้อยขนาดไหนถึงจำเป็นจะต้องทำหลังเวลางาน
(นี่ยังไม่รวมว่าถ้าตอบว่าเป็นงานเร่งด่วน สำคัญถ้าไม่ทำจะเกิดความเสียหายบริษัทก็จะต้องจ่ายโอทีให้ลูกน้องอีกด้วยนะครับ)
2.
งานตามข้อ 1 เกิดขึ้นเป็นประจำเลยหรือไม่
หมายถึงลูกน้องจำเป็นจะต้องอยู่ดึก ๆ เพื่อทำงานงานนั้นทุก ๆ วัน
ทุกเดือนและตลอดทั้งปีก็ยังต้องกลับดึกเพื่อทำงานที่ว่านี้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็แปลว่าบริษัทจะต้องมาจ่ายโอทีให้พนักงานทุกวันทุกเดือนเลยหรือครับ
หรือบริษัทมีนโยบายทำโอทีให้เป็นรายได้ให้กับพนักงานกันแน่ หรือเนื่องจากบริษัทให้เงินเดือนพนักงานน้อยเลยต้องเอาโอทีมาเป็นตัวโปะเข้าไปให้พนักงานเห็นว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำโอที
(ซึ่งเรื่องแบบนี้ผมเคยเขียนอธิบายไปแล้วคือ
“การทำโอทีให้เป็นรายได้..นโยบายที่ควรทบทวน” ลองไปหาอ่านเพิ่มเติมนะครับ) ซึ่งหัวหน้าควรจะต้องมาหาสาเหตุในเรื่องนี้กันให้ชัดเจนว่าทำไมถึงต้องให้ลูกน้องทำงานกลับดึกอย่างนี้ทุกวันทุกเดือนทุกปี
3.
แต่ถ้าตอบคำถามว่าทำไมต้องให้ลูกน้องอยู่ทำงานดึก
ๆ ว่าเพราะงานมันด่วน งานมีปริมาณมาก ต้องเสร็จทันเวลา ฯลฯ
ก็ควรจะต้องย้อนกลับมาดูว่าอัตรากำลังคนที่รับผิดชอบน้อยเกินไปหรือไม่ก็เลยทำให้งานโหลดมาก
ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยการให้พนักงานรับโหลดงานมาก ๆ เหล่านั้นตลอดทั้งปีหรือหลาย ๆ
ปีติดต่อกันก็คงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้วล่ะครับ เพราะในระยะยาวก็จะทำให้พนักงานอ่อนล้า
เครียด หมดกำลังใจและลาออกไปในที่สุด
เรื่องนี้ควรจะต้องมาพูดคุยกันในฝ่ายบริหารเพื่อแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุจะดีกว่าไหม
4.
ลักษณะของงานตามข้อ 3 ในบางองค์กรอาจจะบอกว่าบริษัทก็ให้โอที
สิ้นปีก็ให้โบนัส ก็จริงอยู่ แต่อย่าลืมว่าคนไม่ใช่เครื่องจักรนะครับ
ในระยะยาวจะทำให้สุขภาพของพนักงานทรุดโทรมเพราะโหมงานหนักมาหลาย ๆ ปีติดต่อกัน
ค่ารักษาพยาบาลของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้น
การเกิดอุบัติเหตุในการทำงานก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นเพราะความอ่อนล้า
ในอนาคตองค์กรก็จะมีแต่ผู้บริหารและพนักงานที่มีสุขภาพเสื่อมโทรมหรือไม่ บริษัทกำลังมองสั้นไม่มองยาวหรือเปล่า? นี่ยังไม่พูดถึงค่าใช้จ่ายของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเพราะเกิดจากการทำงานเกินเวลาที่สูญเปล่า
เช่น ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ฯลฯ
5.
ตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้เวลาการทำงานคือ 8 ชั่วโมงต่อวันเพราะต้องการให้ลูกจ้างมีเวลาเพื่อพักผ่อนบ้าง
มีเวลาดูแลครอบครัว หรือทำกิจกรรมอื่นเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดจากการทำงาน ฯลฯ
ซึ่งในสมัยก่อนหัวหน้ายุค Baby boomers หรือ Gen X อาจจะใช้อำนาจความเป็นหัวหน้าสั่งลูกน้องให้ทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ
แถมไม่ให้โอทีโดยอ้างว่าเป็นงานที่ต้องรับผิดชอบต่อเนื่องลูกน้องก็ไม่กล้าหือเพราะเป็นยุค
“คนง้องาน” ถ้าขัดคำสั่งก็กลัวถูกไล่ออกและหางานยาก แต่ในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะแล้วนะครับ
เพราะเดี๋ยวนี้กลายเป็นยุค “งานง้อคน” ยุคของ Gen Y ลูกจ้างมีทางเลือกมีช่องทางและมีโอกาสทำมาหากินมากกว่าเดิมโดยเฉพาะสื่อโซเชียลเอย
Start up เอย ฯลฯ คนรุ่นใหม่ที่อยากจะมาเป็นลูกจ้างมีน้อยลงไปกว่ายุคเก่า
ทำให้บริษัทหาคนยากกว่าเดิมจึงควรกลับมาคิดทบทวนดูว่าเราจะยังคงเป็นหัวหน้าที่หลงยุคเพราะค่านิยมแบบเดิม
ๆ อยู่หรือเปล่า
6.
ผู้บริหารบางคนมีพฤติกรรมที่แปลกกว่านั้นคือมักจะเรียกประชุมลูกน้องหลังเลิกงานสักประมาณห้าโมงเย็นไปจนถึงทุ่มเศษ
ๆ อยู่บ่อย ๆ โดยอ้างว่าระหว่างวันงานยุ่งไม่มีเวลาประชุม ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาสาระ (Agenda) ในการประชุมก็ไม่มีอะไร
หลายครั้งเป็นการประชุมแบบนโนสาเร่ไม่มีข้อสรุปเป็นการพูดจาสัพเพเหระทั่วไป
ระหว่างชั่วโมงทำงานลูกน้องก็เห็นอยู่ว่าหัวหน้าก็ไม่ได้มีงานยุ่งอะไรอย่างที่อ้าง
แถมหัวหน้าออกไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนตอนเที่ยงแต่เข้ามาตอนบ่ายสองบ่ายสามโมงอีกต่างหาก
ทำเอาลูกน้องมักจะเอาไปเม้าท์กันว่า “พี่เขาจะประชุมไปเพื่อ.....”
ซึ่งคำถามนี้หัวหน้าควรจะตอบว่า.....อะไรดีครับ?
ที่ผมเขียนมาเพื่อให้หัวหน้าหาคำตอบให้กับตัวเองข้างต้นนี้
ไม่ได้แปลว่าผมส่งเสริมให้ทุกคนรักษาสิทธิอย่างเคร่งครัด เช่น
พอถึงเวลาห้าโมงเย็นเลิกงานทุกคนก็รีบกระโดดไปรูดบัตรเพื่อเลิกงานกันเป๊ะทันทีนะครับ
ไม่ใช่อย่างงั้น
แต่ผมอยากจะให้หัวหน้าหรือผู้บริหารได้ข้อคิดและทำอะไรที่มีเหตุผลที่จะตอบคำถามของลูกน้องได้อย่างฟังขึ้น
เช่น งานมันจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉิน ถ้าไม่อยู่ดึก ๆ
ทำแล้วจะเกิดความเสียหายให้กับหน่วยงานหรือจะทำให้บริษัทเสียหาย เป็นต้น
แต่งานด่วน ๆ
ทำนองนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้นทุก ๆ วัน ทุก ๆ เดือน
หรือตลอดทั้งปีก็มีแต่เรื่องด่วนจริงไหมครับ
เพราะถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าระบบงานของหน่วยงานนั้น ๆ น่าจะมีปัญหาและควรจะต้องหาทางแก้ปัญหานี้แล้วล่ะครับ
“เราเลือกหัวหน้าที่ดีสำหรับเราไม่ได้..แต่เราเลือกเป็นหัวหน้าที่ดีสำหรับลูกน้องได้เสมอ”
เราอาจจะได้พบเจอกับหัวหน้าที่มีค่านิยมแบบนี้และอยากจะเห็นลูกน้องกลับบ้านดึกโดยไม่มีเหตุผลแต่เราก็จำใจต้องทำตามที่หัวหน้าอยากจะเห็นอย่างนั้นเพราะเราอาจจะไปเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดของหัวหน้าเราไม่ได้ตราบใดที่เรายังเป็นลูกน้องของหัวหน้าประเภทนี้
แต่พอวันที่เราเป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารขึ้นมาบ้างตัวของเราเองก็ควรจะเลือกที่จะคิดทบทวนและตัดสินใจได้นะครับว่าเราจะบริหารลูกน้องด้วยความไม่มีเหตุผลอย่างที่เราเจอมาหรือไม่
เราจะเลือกเป็นหัวหน้าที่ดีและมีเหตุผลกับลูกน้องหรือไม่
และผมหวังว่าท่านที่เป็นหัวหน้าผู้บริหารในยุคใหม่จะเป็นหัวหน้าที่ดีและลดค่านิยมในเรื่องการให้ลูกน้องกลับดึกแบบไม่มีเหตุผลกันบ้างแล้วนะครับ
…………………………………………………