ผมเคยเขียนเรื่องของการสัมภาษณ์ไปแล้วหลายครั้ง
ซึ่งโดยหลักการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานที่จะทำให้ได้คนที่ “ใช่”
เข้ามานั้นจะประกอบด้วยเรื่องหลัก ๆ คือ
1.
Structured Interview ควรเตรียมคำถามเอาไว้ล่วงหน้า
มีเป้าหมายของคำตอบชัดเจน มีเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละคำถามที่ชัดเจน (อ่านเรื่อง “การสัมภาษณ์แบบ
Structured Interview คือยังไง” เพิ่มเติมนะครับ)
2.
ถ้าบริษัทมีระบบ Competency ก็ใช้วิธีการตั้งคำถามและสัมภาษณ์ตาม Competency หรือ
Competency Base Interview-CBI ถ้าบริษัทยังไม่มีระบบ Competency
ก็ตั้งคำถามและสัมภาษณ์ตาม Job Description แต่ก็ยังต้องอยู่บนหลักการของ
Structured Interview ตามข้อ 1
3.
ไม่ควรใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบ “จิตสัมผัส”
หรือ Unstructured
Interview
แต่ผู้สัมภาษณ์ควรจะต้องไม่ลืมดูองค์ประกอบที่สำคัญของการสัมภาษณ์อีก
2 เรื่องหลัก ๆ คือ
1.
ภาษากายของผู้สมัครงาน เช่น
แววตา สีหน้า ท่าที ฯลฯ ว่าสอดคล้องกับคำตอบหรือไม่ ซึ่งเรื่องของการสังเกตภาษากายนั้น
ผมเคยเขียนเรื่อง “เวลาสัมภาษณ์อย่าลืมสังเกตภาษากาย” ไปก่อนหน้านี้แล้วท่านลองไปหาอ่านเอานะครับ
2.
ทัศนคติของผู้สมัครงานว่าเป็นยังไงโดยเฉพาะผู้สมัครงานที่แสดงทัศนคติเชิงลบออกมาในระหว่างการสัมภาษณ์ทั้งที่รู้ตัวและในตอนที่ผู้สมัครเผลอตอบออกมาก็ตาม
คราวนี้เราลองมาดูกันสิครับว่าผู้สัมภาษณ์ที่มีทัศนคติแบบนี้ควรจะรับเข้าทำงานหรือไม่
1.
พูดตำหนิ (บางคนด่า) หัวหน้าเก่า,
ผู้บริหาร, บริษัทองค์กรที่เคยทำงานว่าไม่ดีอย่างงั้นอย่างงี้
2.
แสดงความคิดเห็นที่แรง ๆ ในเรื่องการเมือง
3.
มองแต่ด้านลบและข้อเสียขององค์กรหรือประเทศโดยไม่พูดถึงด้านดีบ้างเลย
4.
พูดโอ้อวดว่ารู้จักคนดัง อ้างว่ารู้จักคนโน้นคนนี้
มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนใหญ่คนโต
5.
พูดอวดความเก่งของตัวเอง ยกตนข่มท่าน
คนอื่นไม่เก่งหรือไม่มีความรู้ดีเท่าตนเอง อวดว่ามีความรู้ในทุก ๆ เรื่อง มี Ego ที่สูงมากแบบไม่ฟังความคิดของคนอื่น
6.
พูดในลักษณะที่ดูถูกคนอื่นวางตัวว่าอยู่เหนือคนอื่น
7.
มีทัศนคติปล่อยวางไปหมดทุกอย่างจนดูเฉื่อยชา
ไม่มีชีวิตชีวาแล้วแต่บุญกรรมจะนำไป ยอมคนไปหมดทุกเรื่อง เกรงใจคนอื่นมากจนไม่กล้าตัดสินใจ
ถ่อมตัวมากจนเกินพอดี
8.
โลเลเปลี่ยนใจได้ง่าย
ไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ขาดความมั่นใจในตัวเอง
9.
ฟังคำถามยังไม่จบก็มักจะพูดแซงขึ้นมาเหมือนรู้ทุกเรื่องรู้ทุกสิ่งอย่าง
10.
บ่นเรื่องรอบตัวแบบวนเวียนซ้ำซาก เช่น
รถติด, เศรษฐกิจไม่ดี, ของแพง ฯลฯ
11.
พูดถึงแต่ปัญหา ปัญหา และปัญหา
แต่ไม่มีไอเดียเลยว่าควรจะแก้ปัญหาที่พูดถึงยังไงบ้าง
12.
พูดเสียดสีแดกดันประชดประชันแบบเจ็บ ๆ
13.
พูดวนเวียนต่อรองในเรื่องของผลตอบแทน เช่น
เงินเดือน สวัสดิการ ตำแหน่ง ฯลฯ
14.
เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเสมอ คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักโดยไม่คิดว่าส่วนรวมจะมีผลกระทบด้านลบหรือไม่
15.
แสดงทัศนคติแบบอำนาจนิยมโดยมุ่งใช้อำนาจหน้าที่ที่มีเป็นหลักแบบไม่ฟังใคร
16.
ตอบคำถามโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่เหมาะสม หรือตอบแบบคลุมเครือไม่ชัดเจน
หรือตอบคำถามแบบแถ หรือเถียงเพื่อเอาชนะโดยไม่มีเหตุผล
ที่ผมยกตัวอย่างมาตั้งสิบกว่าข้อนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงออกเชิงทัศนคติของผู้สมัครงานในระหว่างการสัมภาษณ์ (ซึ่งท่านอาจจะเคยเจอมามากกว่านี้ก็ได้นะครับ)
ที่กรรมการสัมภาษณ์ควรจะต้องสังเกตให้ดีและจดบันทึกเอาไว้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเมื่อสัมภาษณ์ผู้สมัครงานครบหมดทุกคนแล้วเพื่อประเมินว่าใครจะมีทัศนคติที่เหมาะกับตำแหน่งงานนี้รวมถึงเหมาะกับหน่วยงานและองค์กรของเรามากกว่ากัน
ผมเชื่อว่าท่านคงจะเป็นประโยชน์และพอจะทำให้ท่านได้ไอเดียเพิ่มขึ้นสำหรับการเตรียมตัวในการสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงานที่เหมาะกับตำแหน่งงานในครั้งต่อไปแล้วแหละ
แต่ขอให้ข้อคิดปิดท้ายเอาไว้ว่า
คนที่ยังขาดความรู้หรือทักษะในงานเราอาจจะใช้เวลาในการฝึกอบรม สอนงานหรือพัฒนาพนักงานที่ยังขาดความรู้ทักษะในงานนี้บ้างแต่ก็ยังมีทางที่จะพัฒนาให้เขาเก่งขึ้นได้
แต่คนที่ทัศนคติมีปัญหานี่ท่านคิดว่าจะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่ถึงจะพัฒนาให้ดีขึ้นมาได้ล่ะครับ
?
หวังว่าคงไม่มีคนตอบมาว่า
“งั้นก็ส่งไปเข้าอบรมหลักสูตรการสร้างทัศนคติเชิงบวกสิ” นะครับ 555
……………………………………….