วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

คุณวุฒิเดียวกันแต่จบต่างมหาวิทยาลัย..ทำไมได้เงินเดือนไม่เท่ากัน ?

            วันนี้ผมยังพบว่าในหลายองค์กรยังคงมีการบริหารค่าตอบแทนแบบตามใจฉัน (คือผู้บริหารระดับสูง) ที่ผมเรียกเล่น ๆ ว่า “หลักกู” โดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแล้วทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาให้ปวดหัวต้องมาตามแก้ไขกันอยู่เสมอ ๆ

            หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดของการบริหารค่าตอบแทนคือ “ความเสมอภาคและเป็นธรรม” โดยไม่ใช้หลักกู หรือใช้ความรู้สึกนะครับ

            เพราะถ้าองค์กรไหนขาดหลักของความเสมอภาคและเป็นธรรมในการบริหารและจ่ายค่าตอบแทนแล้ว ก็จะมีดราม่าตามมาเสมอ เพราะสัจธรรมที่ว่า....

          “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเงินเดือนของเพื่อนได้เท่าไหร่”

             แม้จะบอกว่าเงินเดือนเป็นความลับ แต่ในทางลึกแล้วเรื่องเงินเดือนมักจะไม่ลับในหมู่เพื่อนฝูงครับ

            ปัญหาในเรื่องค่าตอบแทนที่ผมนำมาคุยในวันนี้ผมเชื่อว่าเราจะพบเห็นกันได้ในหลายองค์กรนั่นคือ....

          การตั้งเงินเดือนให้ไม่เท่ากับสำหรับคนที่จบคุณวุฒิเดียวกัน แต่จบคนละสถาบัน !
          หรือแม้จบสถาบันเดียวกันแต่ถ้าใครได้เกียรตินิยมจะได้เงินเดือนสูงกว่าคนที่ไม่จบเกียรตินิยม !

            เช่นจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย ABC จะได้เงินเดือน 18,000 บาท ถ้าจบวุฒิเดียวกันแต่จบจากมหาวิทยาลัย DEF จะได้เงินเดือน 17,000 บาท และถ้าจบบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย GHIJK จะได้เงินเดือน 15,000 บาท แถมถ้าได้เกียรตินิยมอันดับสองจะได้เพิ่มอีก 5% ของเงินเดือน และถ้าใครจบเกียรตินิยมอันดับ 1 จะได้รับเงินเดือนเพิ่มอีก 10%

            โดยได้รับเงินเดือนที่แตกต่างกันนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน แถมในองค์กรหลายแห่งก็ไม่เคยมีการทดสอบคุณสมบัติของผู้สมัครงานว่ามีความรู้หรือมีทักษะหรือศักยภาพที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นหรือไม่ แม้แต่การสัมภาษณ์ก็ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบจิตสัมผัส (Unstructured Interview) โดยใช้ความรู้สึกหรือความพอใจของผู้สัมภาษณ์มาเป็นตัวตัดสินใจรับเข้าทำงานเสียอีก

            เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วองค์กรจะพิสูจน์ได้ยังไงล่ะครับว่าคนที่จบมหาวิทยาลัย ABC  ทุกคนจะทำงานได้ดีกว่าทุกมหาวิทยาลัย ?

          คำถามก็คือ “คนที่ทำงานได้ดี มีความรู้ความสามารถมีทักษะหรือมีศักยภาพเหมาะสมกับงานนั้น จะขึ้นอยู่กับสถาบันที่เขาจบมาหรือครับ ?”

            หลายครั้งที่ผมพบว่าคนที่จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังก็ไม่ได้ทำงานได้ดีไปกว่าคนที่จบวุฒิเดียวกันแต่ต่างมหาวิทยาลัย หรือคนที่จบมาด้วยเกรดเกียรตินิยมก็ไม่ได้ทำงานดีไปกว่าคนที่จบด้วยเกรด 2.00

          ถ้าเป็นอย่างงี้แล้วองค์กรจะจ่ายแพงกว่าเพื่อ....??

            สมัยที่ผมยังเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล เคยมี MD (Managing Director-กรรมการผู้จัดการ) บางคนชอบมาพูดกับผมว่า “นี่คุณ..เด็กคนนี้ (บอกชื่อพนักงาน) เขาจบมาจากที่ไหนน่ะเขาทำงานดีนะ” หรือเวลาไม่ชอบใจพนักงานใหม่บางคนก็จะมาบอกกับผมว่า “เด็กคนนี้จบมาจากที่ไหนเนี่ยะทำงานไม่เห็นได้เรื่องเลย”

            ผมต้องอธิบายให้แกเข้าใจว่าคนที่ทำงานดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันหรือเกรดเฉลี่ยที่เขาจบมาหรอกครับ แต่มันขึ้นอยู่กับ “Competency” หรือ K S A (Knowledge-ความรู้ในงาน S-Skill-ทักษะในงานที่ต้องรับผิดชอบ และ A-Attributes-คุณลักษณะนิสัยในงานที่ทำเช่นความอดทน, ความละเอียดรอบคอบ ฯลฯ) ต่างหาก

หรือจะพูดแบบง่าย ๆ คือ….

          คนที่ทำงานดีทำงานเก่งจะขึ้นอยู่กับตัวของคน ๆ นั้น ไม่ได้ขึ้นกับสถาบันหรือเกรดที่จบครับ
            ดังนั้น การกำหนดค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของพนักงานในกรณีจบใหม่จึงควรจะมีการทดสอบหรือมีการสัมภาษณ์ให้แน่ใจเสียก่อนว่าผู้สมัครงานคนไหนมี K S A เหมาะตรงกับตำแหน่งที่องค์กรต้องการจะรับเข้าทำงานอย่างแท้จริง ถ้าผู้สมัครคนไหนผ่านการทดสอบว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งแล้วองค์กรจะมาจ่ายเพิ่มให้ตามสถาบันหรือตามเกรดที่จบก็ค่อยมาคิดกันดูว่าแค่ไหนถึงจะเหมาะสม

            แต่ถ้าองค์กรไม่เคยมีการทดสอบอะไรที่เกี่ยวข้องกับ K S A ในตำแหน่งนั้น ๆ เลยแล้วก็มาใช้ “หลักกู” หรือความรู้สึกเอาเองว่า คนจบมาจากมหาวิทยาลัยนี้จะต้องเก่งทุกคน คนจบเกียรตินิยมจะทำงานดีกว่าทุกคนก็เลยมากำหนดอัตราเริ่มต้นให้สูงกว่าคนอื่น

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วล่ะก็นอกจากบริษัทจะจ่ายแพงกว่าที่ควรจะเป็น (Over Pay) แล้ว ยังทำให้ Staff Cost สูงขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ แถมยังทำให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ตามมาคือมีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่า แบ่งสี แบ่งสถาบันกันในองค์กรทำให้ Teamwork มีปัญหามากขึ้นมาอีก

            คำถามปิดท้ายของเรื่องนี้ก็คือ….

“วันนี้องค์กรของท่านมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานเข้าใหม่แบบที่ผมบอกมาข้างต้นโดยใช้หลักกูอยู่หรือเปล่า และถ้าใช้หลักกูในการจ่าย….ท่านคิดจะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นจ่ายตามหลักความเสมอภาคและเป็นธรรมแล้วหรือยังครับ ?”


………………………………….