จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานด้าน HR มาจนถึงปัจจุบันที่มีอาชีพต้องเดินสายขายเสียงไปตามบริษัทต่าง
ๆ ก็ยังพบเจอปัญหาเหล่านี้อยู่เสมอ ๆ ก็เลยอยากจะนำประสบการณ์มาแชร์ให้กับพี่ ๆ
น้อง ๆ ที่ทำงาน HR ได้นำกลับไปคิดดูว่าเรายังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่าลองมาดูกันนะครับว่าสิ่งที่
HR ควรทำแต่ทำไม ถึงไม่ทำนั้นมีอะไรบ้างตามนี้ครับ
1.
ไม่ทำสัญญาจ้าง
เพราะได้ยิน
“เขาว่ากันว่า....”
ถ้าทำสัญญาจ้างเดี๋ยวพนักงานจะใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบริษัทได้ ส่วนที่บอกว่า
“เขาว่า” นี่ผมก็ไม่รู้นะครับว่าเขาคือใคร แต่เชื่อว่าเขาคนนั้นไม่รู้จริงครับ
เพราะสภาพการจ้างนั้นเกิดขึ้นได้แม้ไม่ต้องมีสัญญาจ้างเป็นกระดาษแต่อย่างใด เช่น
นายจ้างออกปากเรียกคนให้มาทำงานมีการจ่ายค่าจ้างให้, มีการจัดสวัสดิการต่าง
ๆ ให้, จะลาหยุดเมื่อไหร่ก็ต้องมาขออนุญาต ฯลฯ
เหล่านี้ถือว่าเกิดสภาพการจ้างขึ้นแล้วแม้ว่าจะไม่มีสัญญาจ้างงานก็ตามซึ่งลูกจ้างก็สามารถไปฟ้องศาลแรงงานได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้นต้องไปบอกเขาคนนั้นให้รู้ว่า “มีสัญญาจ้างดีกว่าไม่มี” นะครับ
จะได้สร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่จะมาเป็นพนักงานว่าบริษัทของเราไม่ใช่องค์กรใต้ดินผิดกฎหมายต้องหลบ
ๆ ซ่อน ๆ ดังนั้นถ้าใครจะไปทำงานที่บริษัทไหนแล้วไม่มีการให้เซ็นสัญญาจ้างผมตั้งข้อสังเกตไว้เสมอว่าบริษัทนั้นไม่น่าทำงานด้วยเพราะเริ่มแสดงความไม่จริงใจกันตั้งแต่แรกแล้วครับ
2.
ไม่ให้สำเนาสัญญาจ้างกับผู้สมัครงาน
ยังมี HR อีกหลายแห่งที่ไม่เคยให้สำเนาสัญญาจ้างกับผู้สมัครงานโดยบอกว่า
“เป็นความลับ” แปลกดีไหมครับกับข้ออ้างประหลาด ๆ แบบนี้
เพราะการให้สำเนาสัญญาจ้างกับผู้สมัครงานที่เขาเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทแล้วเป็นการยืนยันให้เข้าใจสภาพเงื่อนไขการจ้างที่ตรงกันระหว่างพนักงานและบริษัทแถมยังแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและมีมาตรฐานในการทำงานที่ดีอีกด้วยนะครับ
3.
ไม่สอน Line Manager ให้รู้หลักและวิธีการสัมภาษณ์ที่ถูกต้อง
ผู้สัมภาษณ์ในบริษัทส่วนใหญ่ที่ผมเจอมาทุกวันนี้ยังใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบ
“จิตสัมผัส” หรือ Unstructured Interview อยู่เลยนะครับ
คือไปคิดคำถามเอาในห้องสัมภาษณ์เดี๋ยวนั้น ซึ่งคำถามผู้สมัครแต่ละรายก็ไม่เหมือนกัน
ถามแบบสะเปสะปะแล้วใช้ความรู้สึกมาประเมินตัวผู้สมัครงานไม่ต่างกับการใช้จิตสัมผัสหรือใช้ญาณทิพย์ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
ซึ่งมักจะทำให้เกิดปัญหาสารพัดตามมาอยู่เสมอ
ซึ่งวิธีที่ถูกต้องคือควรจะตั้งคำถามตาม
JD หรือตาม Competency ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์และใช้คำถามที่เตรียมกับผู้สมัครงานทุกคนในแบบเดียวกันพร้อมทั้งมีเกณฑ์ในการให้คะแนนในแต่ละคำถามที่ชัดเจนว่าตอบคำถามข้อไหนจะได้กี่คะแนนและคำตอบนั้นเหมาะสมที่จะมาทำงานในตำแหน่งงานนั้น
ๆ หรือไม่ อย่าลืมว่าการสัมภาษณ์เป็นทักษะที่ต้องมีการเรียนรู้ฝึกฝนให้เกิดความชำนาญไม่ใช่พรสวรรค์ที่ติดมาตามตำแหน่งที่สูงขึ้นนะครับ
4.
ไม่ทำโครงสร้างเงินเดือน
บริษัทอีกไม่น้อยที่ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน
ยังมีการจ่ายค่าตอบแทนแบบ “ตามใจฉัน” คือตามใจฝ่ายบริหารหรือตามใจ MD ทำให้เกิดปัญหาดราม่าตามมาเกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมและทำให้พนักงานลาออกเพราะไม่พอใจในที่สุด
หรือบางแห่งมีโครงสร้างเงินเดือนตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้แต่ HR ที่มาทำแทนก็ทำไม่เป็นเสียอีกก็เลยไม่เคย Update โครงสร้างเงินเดือน
ดังนั้น HR จำเป็นต้องทำโครงสร้างเงินเดือนเพื่อให้บริษัทมีมาตรฐานในการจ่ายและบริหารค่าตอบแทนได้อย่างยุติธรรม
และสามารถแข่งขันกับตลาดได้
ถ้าบริษัทไหนอยากทำโครงสร้างเงินเดือนได้ด้วยตัวเองก็ไปดาวน์โหลดหนังสือของผมไปอ่านฟรีได้ที่
http://tamrongsakk.blogspot.com ดูที่มุมบนขวาของ
Blog ครับ
5.
ไม่วางระบบในการติดตามผลหลังการฝึกอบรม
ผมยังพบว่าบริษัทอีกไม่น้อยที่ไม่มีระบบในการติดตามผลการอบรม
จะใช้วิธีแบบเก่า ๆ เดิม ๆ คือแค่ให้ผู้เข้าอบรมทำข้อสอบ Pre Test หรือ Post Test แล้วตรวจผลส่งคะแนนให้หัวหน้าดูถ้าใครสอบได้คะแนนสูงก็แปลว่าเก่งในเรื่องนั้นแล้ว
ถ้าใครสอบตกหรือได้คะแนนน้อยก็แปลว่ายังไม่เก่งต้องมาเรียนใหม่หรือมาสอบซ่อม
ทำเหมือนกับจะย้อนวัยให้ผู้ใหญ่กลายเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง
หรือบางแห่งหัวหน้าก็ให้ลูกน้องที่เข้าอบรมทำรายงานมาส่งแล้วตรวจรายงานเหมือนคุณครูตรวจรายงานนักเรียน
?? ซึ่ง HR
ควรจะเป็นคนที่วางระบบในการติดตามผลการฝึกอบรมเช่น
หลังจากจบการอบรมแล้วพนักงานที่เข้าอบรมจะต้องนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในการทำงานให้เกิดเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้จริงและ
HR ควรจะต้องวางระบบและสอนให้หัวหน้างานรู้จักวิธีการมอบหมายติดตามงานและสอนงานลูกน้องที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนั้น
ๆ แล้วให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น
อย่างนี้ต่างหากถึงจะเป็นการจัดการฝึกอบรมที่คุ้มค่ากับเงินที่บริษัทจ่ายไป
ไม่ใช่แค่ให้พนักงานสอบเอาคะแนนหรือทำรายงานมาส่งเหมือนเด็ก ๆ
ในตอนที่ 1 ผมก็ขอนำสิ่งที่
HR ควรทำมาแชร์ให้ท่านได้ข้อคิดเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
เดี๋ยวในตอนที่ 2
ผมจะมาแชร์ต่อว่ายังมีอะไรอีกบ้างที่
HR ควรทำแต่ไม่ได้ทำมาให้ท่านได้ทราบกันอีกนะครับ
………………………………