วันนี้ผมมีคำถามเข้ามาอีกแล้วครับ
คำถามคือ....
ทำไมเห็นคำว่า
“โครงสร้างค่าตอบแทน” แต่วงเล็บภาษาอังกฤษว่า “Salary Structure” คนถามก็เลยสงสัยว่าไม่ได้แปลว่า
“โครงสร้างเงินเดือน” ตามวงเล็บในภาษาอังกฤษหรือ
เพราะคำว่า
“ค่าตอบแทน” น่าจะตรงกับคำว่า “Compensation” มากกว่า
ก็เลยสงสัยต่อไปว่า โครงสร้างค่าตอบแทน
กับ โครงสร้างเงินเดือนเหมือนกันหรือต่างกันยังไง
แหม....ช่างสังเกตดีนะครับแถมเก่งภาษาต่างประเทศซะอีก
และจากความที่ผู้ถามเป็นคนช่างสังเกตก็ยังเป็นคนที่ตั้งคำถามเพราะอยากจะให้เกิดความกระจ่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้อีกเสียด้วย
ผมขออธิบายและตอบคำถามตามความเข้าใจของผมอย่างนี้นะครับ
เงินเดือน (Salary) ถือเป็นค่าตอบแทนการทำงาน (Compensation)
ตัวหนึ่ง แต่....
ค่าตอบแทนการทำงาน
(Compensation)
ไม่ได้มีแค่เงินเดือน ยังมีเงินที่ถือว่าเป็นค่าตอบแทนอีกหลายตัว
เช่น ค่าตำแหน่ง, ค่าวิชาชีพ, ค่าภาษา, ค่าคอมมิชชั่น, เบี้ยขยัน ฯลฯ
คำว่า
“โครงสร้างเงินเดือน” เป็นคำแปลมาจากภาษาฝรั่งว่า Salary Structure
น่ะผู้ถามเข้าใจถูกต้องแล้วครับ เพราะเรานำเอาองค์ความรู้ หรือ How to ในเรื่องนี้มาจากฝรั่ง
ซึ่งหลักในการทำโครงสร้างเงินเดือนก็จะต้องมีการประเมินค่างาน (Job
Evaluation-JE) มาก่อน แล้วจึงนำตำแหน่งงานที่เราประเมินค่างานเสร็จแล้วไปเทียบกับตลาดแข่งขันดูว่าเขาจ่ายเงินเดือน
(Salary) กันอยู่เท่าไหร่เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือน
(Salary Structure) ขององค์กรของเราให้เหมาะสมต่อไป
ซึ่งการทำโครงสร้างเงินเดือนนั้นเราจะใช้แต่ตัวฐานเงินเดือน
หรือบางตำราจะเรียกว่า “เงินเดือนมูลฐาน” หรือ “Base Salary” มาทำโครงสร้างเงินเดือน โดยจะไม่รวมเงินอื่น ๆ เช่น ค่าครองชีพ,
ค่าวิชาชีพ, ค่ารถ, ค่าตำแหน่ง, ค่าน้ำมัน, ค่าเบี้ยขยัน, ค่า....ฯลฯ เข้าไปในโครงสร้างเงินเดือนขององค์กรนะครับ
นี่คือความหมายของโครงสร้างเงินเดือน
หรือ Salary
Structure ที่ผมทำมาโดยตลอดครับ
เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้ว
เราค่อยมาดูกันอีกทีว่า เงินอื่น ๆ ที่เราจ่ายให้กับตำแหน่งต่าง ๆ เช่น
บางตำแหน่งที่มีค่าตำแหน่ง หรือตำแหน่งที่มีค่าวิชาชีพ
หรือตำแหน่งที่ต้องมีค่าภาษาต่างประเทศ ฯลฯ เหล่านี้น่ะ
เราจะบวกเงินเพิ่มเหล่านี้เข้าไปในฐานเงินเดือนของตำแหน่งต่าง ๆ
อีกเท่าไหร่ตามนโยบายขององค์กร
เจ้าเงินอื่น
ๆ ที่บวกเพิ่มเข้าไปหลังจากทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วนี้ ถึงจะเรียกว่าเป็นโครงสร้างค่าตอบแทน
(Compensation
Structure)
ในตำแหน่งต่าง ๆ ขององค์กรเราเพื่อที่จะได้นำไปดูว่าเราควรจะจ้างคนเข้ามาในตำแหน่งนั้น
ๆ หรือจะเลื่อนตำแหน่งคนใน (Promote from within) ขึ้นมาในตำแหน่งนั้น
ๆ ควรจะได้รับค่าตอบแทน (Compensation) รวมกับฐานเงินเดือนตามโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะได้รับค่าตอบแทนทั้งหมดในตำแหน่งนี้รวมเป็นเงินเท่าไหร่
ดังนั้นโครงสร้างเงินเดือน
กับโครงสร้างค่าตอบแทนจึงมีความแตกต่างกันตามที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น
อธิบายแบบง่าย
ๆ มาถึงตรงนี้แล้วหวังว่าเราคงจะเข้าใจคำว่า “โครงสร้างเงินเดือน” หรือ Salary Structure กับ “โครงสร้างค่าตอบแทน” หรือ Compensation Structure กันชัดเจนแล้วนะครับ
คราวหลังจะได้เรียกได้ถูกต้องและไม่สับสนครับ
…………………………………………