วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ใครควรรับผิดชอบระบบ Competency....HRM หรือ HRD ?

            คำถามข้างต้นนี้มีผู้บริหารองค์กรใหญ่แห่งหนึ่งถามผมครับ

            ในองค์กรแห่งนี้เขาแยกงานด้าน HR (Human Resource) ออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายแรกคือฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งองค์กรแห่งนี้เขาเรียกย่อ ๆ ว่าฝ่าย HRM (Human Resource Management) ดูแลการสรรหาว่าจ้าง, เงินเดือนและสวัสดิการ, สหภาพแรงงานและแรงงานสัมพันธ์, การประเมินผลการปฏิบัติงาน และรับผิดชอบงานด้านระบบ Competency เฉพาะในส่วนของการสร้างระบบนี้และประเมิน Competency

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล หรือเรียกย่อ ๆ ว่าฝ่าย HRD (Human Resource Development) ดูแลเรื่องการจัดฝึกอบรม, การพัฒนาพนักงานในองค์กรด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ในการพัฒนาพนักงาน, แผนพัฒนารายบุคคล, การพัฒนาพนักงานที่มีศักยภาพสูง (Talent Management) และรวมถึงการวางแผนพัฒนาพนักงานระยะยาวคือรับผิดชอบการทำ Training Roadmap ให้กับพนักงานในตำแหน่งหลัก ๆ ที่สำคัญขององค์กร

ทั้งสองฝ่ายนี้มีผู้บริหารสูงสุดของแต่ละฝ่ายคือผู้อำนวยการฝ่าย และขึ้นตรงต่อผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการคนเดียวกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบ Competency ในองค์กรแห่งนี้ก็คือ....

ให้ฝ่าย HRM เป็นผู้รับผิดชอบการสร้างระบบ Competency ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Core Competency (CC), Functional Competency (FC) และ Managerial Competency (MC) ซึ่งเมื่อสร้างระบบขึ้นมาแล้วทางฝ่าย HRM ก็รับผิดชอบในการประเมิน CC, FC และ MC สำหรับพนักงานทุกคนทุกหน่วยงานในองค์กรนั้นให้เสร็จสิ้นไปโดยประเมิน Competency ปีละครั้ง

ส่วนฝ่าย HRD จะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำ FC ของหน่วยงานต่าง ๆ มาทำแผนการพัฒนาพนักงานระยะยาวที่เรียกกันว่า Training Roadmap  และนำผลที่ได้จากการประเมิน Competency มาวิเคราะห์ดูว่าพนักงานคนไหนยังขาดความสามารถในเรื่องไหน หรือที่เรียกกันว่า “Competency Gap” เพื่อจะได้พัฒนาพนักงาน (ที่ยังมี Gap) ให้เป็นไปตาม Training Roadmap

จากที่ผมเล่าให้ฟังมาข้างต้นท่านคงจะเริ่มเห็นปัญหาแล้วใช่ไหมครับ ?

ก็องค์กรแห่งนี้ไปแบ่งงาน ๆ เดียว (คือระบบ Competency) ออกเป็นสองซีกก็เลยเกิดปัญหาขึ้นเพราะเวลาสร้างระบบ Competency ไม่ว่าจะเป็น CC, FC หรือ MC ก็ไม่ได้เชิญฝ่าย HRD ให้เขาเข้าไปรับรู้รับทราบตั้งแต่แรกว่าระบบนี้มีที่มายังไง สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ก็คือการเขียนนิยามระดับความสามารถของ Competency แต่ละตัว (Proficiency Level Definition) ไม่ว่าจะเป็น CC, FC และ MC ซึ่งผมถือว่าเป็นหัวใจสำคัญมากของระบบนี้เขียนมายังไง และเขียนโดยใคร เขียนแล้วจะนำไปใช้ประเมินขีดความสามารถได้มากน้อยแค่ไหน มีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องนิยามระดับความสามารถสำหรับผู้ประเมินที่เป็นหัวหน้าผู้บริหารในหน่วยงานอื่น ๆ บ้างหรือไม่ ฯลฯ และ Competency แต่ละตัวกำหนดระดับความคาดหวัง (Expected Competency) ในแต่ละตำแหน่งเอาไว้ที่ระดับไหนบ้าง ฯลฯ

สิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับระบบ Competency เหล่านี้ทางฝ่าย HRD ไม่ได้รู้เห็นอะไรเลย ดังนั้นเมื่อองค์กรจะให้ทางฝ่าย HRD มาทำ Training Roadmap ฝ่าย HRD ก็งงไปไม่เป็นเหมือนกันนะครับ

ผมจึงตอบคำถามข้างต้นไปจากความคิดเห็นของผมเองอย่างนี้ครับ....

หากเรามาดูหลักการของระบบ Competency แล้วผมเห็นว่าระบบนี้ให้น้ำหนักในการ “พัฒนา” พนักงานค่อนข้างมาก เพราะระบบนี้ต้องการค้นหาและทราบสมรรถนะหรือขีดความสามารถของคนที่ทำงานว่าเหมาะสมหรือตรงกับตำแหน่งงาน (หรืองานนั้น ๆ ) ที่เจ้าของตำแหน่งงานนั้นรับผิดชอบอยู่หรือไม่ ถ้าคนไหนมีขีดความสามารถ (มี K S A คือ Knowledge, Skills, Attribute) ตรงกับงานที่รับผิดชอบก็เรียกว่าคน ๆ นั้นมี Competency แต่ถ้าใครขาดความสามารถในเรื่องไหนก็เรียกว่าคน ๆ นั้นยังมี Competency Gap ซึ่งก็ต้องทำการพัฒนาคน ๆ นั้นให้มีความสามารถเต็มตามที่หน่วยงานหรือองค์กรต้องการต่อไป

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วผมจึงเห็นว่างานเรื่องของระบบ Competency ควรจะอยู่กับทางฝ่าย HRD ทั้งหมดตั้งแต่การเริ่มสร้างระบบ Competency, การประเมินขีดความสามารถ, การวิเคราะห์ Gap, การวางแผนพัฒนาพนักงานตาม Competency รวมถึงการติดตามผลการพัฒนา ฯลฯ และควรโอนงานที่เกี่ยวกับ Competency จากฝ่าย HRM มาให้ฝ่าย HRD รับผิดชอบซึ่งจะถูกฝาถูกตัวมากกว่าและยุติปัญหานี้ลงได้ครับ


…………………………………