ผมได้เห็นคำถามทำนองนี้หลายครั้ง
แล้วก็จะมีคนตอบคำถามนี้แตกต่างกันไปไปตามความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น....
“ปริญญาเป็นตัวแทนหรือตัวชี้วัดของความสามารถถ้าไม่ดูปริญญาแล้วจะให้ดูอะไรแทน”
หรือ....
“รู้ไหมเจ้าของกิจการตั้งหลายแห่งไม่เห็นจบปริญญามาซักใบบางคนไม่จบแม้แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานแต่มีลูกจ้างที่จบปริญญาโท,เอก
แบบนี้เขาดูกันที่อะไร”
ท่านจะเห็นได้ว่าความคิดเห็นหลัก
ๆ จะแบ่งเป็นสองแนวคิด แนวคิดแรกก็คือความสามารถของคนต้องจบปริญญามาเสียก่อน
แต่แนวคิดหลังนี้บอกว่าความสามารถของคนไม่เกี่ยวกับปริญญาที่จบไม่ต้องจบอะไรก็สามารถทำงานได้เหมือน
ๆ กัน
ในความเห็นของผมแล้วทั้งสองแนวคิดนี้ถ้าคิดแบบสุดโต่งไปสองทางก็คงจะคุยกันลำบากนะครับ
มันคงคล้าย ๆ
กับคนที่เชื่อว่าผีมีจริงมาถกเถียงกับคนที่เชื่อว่าผีไม่มีจริงนั่นแหละครับ
ถ้าจะถามผมว่าคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้
?
ผมก็คิดเห็นในแนวคิดที่สามครับ
นั่นคือในปัจจุบันนี้ทั้งปริญญาและความสามารถมันเหมือนกับน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ามันต้องไปด้วยกัน
แต่มันจะแบ่งหน้าที่กันทำครับ !
จะพบได้ว่าในทุกบริษัทจะระบุคุณวุฒิที่ต้องการเอาไว้ใน
JD (Job Description) อยู่เสมอว่าในตำแหน่งนั้น ๆ
ต้องการคนที่จบวุฒิอะไร
ถ้าผู้สมัครคนไหนมีคุณวุฒิไม่ตรงตามที่ระบุไว้ใน
JD ก็จะไม่ผ่านเกณฑ์ในการคัดเลือกเบื้องต้น
นี่คือการทำหน้าที่ของปริญญาในช่วงแรก
คือช่วงของการคัดเลือกเบื้องต้นเพื่อเข้ามาทำงานครับ
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างปริญญากับความสามารถ
ผมก็ขอเปรียบเทียบปริญญาเหมือนกุญแจหรือระบบสตาร์ทรถ
ส่วนความสามารถก็เปรียบเหมือนกับเครื่องยนต์, ล้อ, เบรก ฯลฯ คือถึงแม้รถจะมีสมรรถนะของเครื่องยนต์มากแค่ไหน
ถ้าไม่มีระบบการสตาร์ทเป็นจุดเริ่มต้น รถยนต์ก็จะวิ่งไปไม่ได้จะแสดงศักยภาพหรือความสามารถของตัวรถออกมาไม่ได้เหมือนกัน
เมื่อปริญญาทำหน้าที่สตาร์ทรถให้ติด
(คือทำให้ผ่านการคัดเลือก) ได้แล้ว คราวนี้ก็อยู่ที่รถคนนั้น ๆ จะแสดงสมรรถนะออกมาให้เจ้าของรถ
(คือบริษัท) พึงพอใจได้แค่ไหน นี่คือหน้าที่ของความสามารถที่จะต้องทำต่อไป
แต่เราไม่ควรเอาเรื่องของปริญญา
(หรือสาขาที่จบ) มาเป็นตัวเชื่อมโยงว่า คนที่จบปริญญา (หรือจบสาขานั้น ๆ )
แล้วจะต้องเป็นคนที่มีความสามารถตรงตามปริญญาที่จบเสียทุกคนนะครับ !!
เช่น
คนที่จบวิศวะจะต้องเป็นวิศวกรที่เก่ง
หรือคนที่จบบัญชีจะต้องเป็นนักบัญชีที่เก่งอย่างแน่นอน
หรือแม้แต่ความคิดที่ว่าถ้าจบจากสถาบันนั้นสถาบันนี้แล้วคนที่จบจะต้องทำงานดีมีความก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน
อย่าไปคิดเป็นสมการเส้นตรงแบบนั้น....
เพราะ
“สมรรถนะหรือความสามารถ
(Competency) เป็นเรื่องของตัวบุคคล
ไม่ได้เกี่ยวกับคุณวุฒิที่จบโดยตรงเสมอไป”
อยู่ที่ว่าคนไหนมี K S A (K=Knowledge คือความรู้ในงาน,
S=Skills คือทักษะหรือความชำนาญในงานที่ทำ และ A=Attributes
คือคุณลักษณะภายในเชิงนามธรรม เช่น ความอดทน, ความรับผิดชอบ,
ความมุ่งมั่น, ความละเอียดรอบคอบ, มนุษยสัมพันธ์ ฯลฯ) ตรงกับงานที่รับผิดชอบ ซึ่งสามารถพัฒนาและใช้
K S A ที่มีอยู่ในตัวเองได้เหมาะตรงกับงานที่รับผิดชอบแล้วล่ะก็
คน ๆ นั้นคือคนที่มี “ความสามารถ” อย่างที่องค์กรต้องการครับ
ดังนั้น..คนที่จบปริญญาหรือจบสาขาใด
ๆ มาอาจจะมีความสามารถ (หรือ K
S A) ในสาขาที่ตัวเองจบมาก็ได้
หรืออาจจะมีความสามารถไม่เหมาะกับสาขาที่ตัวเองจบมาก็ได้
แต่อย่างน้อยคน ๆ
นั้นควรจะต้องผ่านด่านแรกของการคัดเลือกขององค์กรด้วยการใช้ปริญญาเป็นใบเบิกทางขั้นต้นเสียก่อนเพราะมันเป็น
Minimum Requirement ของแต่ละองค์กร แล้วถึงค่อยมีโอกาสได้มาแสดงความสามารถให้องค์กรเห็นในลำดับถัดไป
ยิ่งเมื่อทำงานไปยิ่งเชี่ยวชาญชำนาญและมีประสบการณ์ทำงานมากขึ้นไปเรื่อย
ๆ ความสามารถของตัวคนจะเพิ่มขึ้นมากจนคนลืมไปเลยว่าจบอะไรมาก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
ผมจึงมาสู่บทสรุปตรงนี้ว่า....
“ความสามารถของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับใบปริญญาเสมอไป
แต่ในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีใบปริญญาเป็นจุดสตาร์ทเสียก่อน
ถึงจะได้โอกาสที่จะแสดงความสามารถ”
………………………………..