วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ทำสัญญาจ้างครั้งแรก 120 วัน ถ้าผ่านทดลองงานค่อยทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานประจำ

            พอได้ยินคำถามนี้ผมก็ได้แต่รำพึงในใจเบา ๆ ว่า “เออหนอ..แทนที่บริษัทแห่งนี้จะเอาเวลาไปคิดทำทำมาหากินเพื่อให้เกิดดอกออกผลในทางธุรกิจทำให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นนี่ มันจะดีกว่ามาเสียเวลาคิดทำอะไรแบบนี้ไหม”

            เพราะถ้าจะถามผมว่าสัญญาจ้างอย่างที่บอกมานี้ทำได้ไหม ?

            คำตอบก็คือ “ทำได้ครับ”

            แต่ถ้าถามว่า “ถ้าทำสัญญาแบบนี้แล้วผลจะเป็นยังไง”

            อยากรู้ก็อ่านตามมาเลยครับ....

1.      ที่ผมบอกว่าสัญญาแบบนี้บริษัทสามารถทำได้ก็เพราะบริษัทสามารถทำสัญญาขึ้นมาได้แล้วระบุเงื่อนไขเอาเลย ตัวอย่างเช่น “บริษัทยินดีรับเข้าทำงานเป็นพนักงานโดยมีระยะเวลา 119 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2559” นั่นแปลว่าเมื่อถึงกำหนดวันที่ 28 มิถุนายน 2559 พนักงานไม่ต้องมาทำงานกับบริษัทนี้อีกต่อไป โดยพนักงานก็ไม่ต้องยื่นใบลาออกและบริษัทก็ไม่ต้องแจ้งเลิกจ้างโดยที่บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (เพราะอายุงานยังไม่ถึง 120 วัน) และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ เพราะถือว่าจบการทำงานไปตามสัญญาฉบับนี้ ซึ่งสัญญาจ้างประเภทนี้ภาษากฎหมายแรงงานจะเรียกว่า “สัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา” ครับ ภาษาคนทำงานมักจะเรียกว่า “สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว”

2.      แต่ถ้าทำสัญญาตามข้อ 1 แล้วเกิดพนักงานคนนี้มีผลงานดี ครั้นจะให้พนักงานคนนี้พ้นสภาพไปตามสัญญาก็เสียดายเพราะบริษัทจะต้องเสียเวลาหาคนใหม่เข้ามาทำงานแทนและมาเสียเวลาสอนงานกันใหม่อีก บริษัทก็เลยอยากจะให้ทำงานต่อไปล่ะจะทำยังไงดี....

3.      คำตอบก็คือบริษัทแห่งนี้ก็ทำสัญญาจ้างขึ้นมาใหม่อีกฉบับหนึ่งโดยกำหนดวันเริ่มรับเข้าทำงานคือวันที่ 28 มิถุนายน 2559 โดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดของสัญญาจ้าง ซึ่งภาษากฎหมายจะเรียกว่า “สัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลา” ซึ่งก็คือสัญญาจ้างพนักงานประจำนั่นเอง

4.      ถ้าหากบริษัทไหนทำตามที่ผมบอกมาข้างต้น (คือในข้อ 1 ถึงข้อ 3) แล้วสมมุติเกิดปัญหาขึ้นมาว่าเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน 2560 ในปีถัดมา (คือหลังจากรับมาเป็นพนักงานประจำแล้ว) พนักงานที่รับเข้ามาทำงานคนนี้เกิดเป็นคนที่มีปัญหาในภายหลังเช่น ทำงานไม่ดี เกเร อู้งาน ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ บริษัทจะเลิกจ้างพนักงานคนนี้ก็เลยนับอายุงานตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2559 (คือนับวันเริ่มงานตามสัญญาจ้างฉบับที่ 2) มาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยโดยจ่ายค่าชดเชยให้ 1 เดือน (ภาษาคนทำงานนะครับ ถ้าอยากทราบภาษากฎหมายที่ถูกต้องก็ไปดูได้ในมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน) เพราะถือว่าพนักงานมีอายุงานยังไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่รับเข้าทำงานครั้งที่สอง จะถูกต้องหรือไม่?

5.      คำตอบคือ “ผิด” ครับ เพราะอายุงานของพนักงานคนนี้จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 คือเริ่มนับตั้งแต่สัญญาจ้างตอนทดลองงานถึงจะถูกต้อง ดังนั้นอายุงานของพนักงานคนนี้คือ 396 วันหรือ 1 ปี 31 วัน ซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เขา 3 เดือน เพราะอายุงาน 1 ปีไม่เกิน 3 ปีจะต้องจ่ายค่าชดเชย 3 เดือน (ภาษาคนทำงาน) ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานครับ

6.      พออ่านมาถึงตรงนี้บางท่านอาจจะถามว่า “อ้าว..ทำไมถึงไม่เริ่มนับอายุงานตามสัญญาจ้างฉบับที่สองล่ะ?

7.      คำตอบคือ “ก็มันเกิดสภาพการจ้างแบบต่อเนื่องขึ้นนี่ครับ เพราะเมื่อสัญญาฉบับที่หนึ่งครบระยะเวลาแล้วโดยหลักการที่ถูกต้องคือนายจ้างจะต้องไม่รับลูกจ้างคนนี้กลับเข้ามาทำงานอีก ซึ่งในกรณีนี้เมื่อบริษัทแสดงเจตนารับพนักงานรายนี้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งโดยทำสัญญาต่อ ก็แสดงเจตนาของบริษัทชัดเจนว่าต้องการรับกลับเข้าทำงานใหม่ จึงเกิดสภาพการจ้างแบบต่อเนื่องขึ้นซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว อายุงานก็จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับเข้าทำงาน (คือวันที่ 1 มีนาคม 2559) ตามสัญญาจ้างฉบับแรกครับ

             ดังนั้นนี่ถึงได้เป็นคำตอบของผมในตอนต้นว่าถ้าจะถามผมว่า “บริษัทจะทำสัญญาจ้างสองครั้ง (อย่างที่บอกมาข้างต้น) ได้ไหม”

ผมถึงตอบว่า “ได้ครับ”

และจะบอกต่อว่า “ถึงทำไปก็ไม่มีประโยชน์และอย่าทำเลยครับ เอาเวลาไปคิดทำมาหากินเรื่องอื่นจะดีกว่า” นอกจากการทำสัญญาทำนองนี้ไม่มีประโยชน์ ๆ

แล้วเรื่องที่สำคัญก็คือ ความรู้สึกของพนักงานจะติดลบกับบริษัทอีกต่างหาก เพราะแค่ทำสัญญาจ้างแค่เริ่มต้นที่จะร่วมงานด้วยกันบริษัทก็ส่อเจตนาจะเอาเปรียบพนักงานตั้งแต่แรกอย่างนี้แล้ว จะไปหวังให้พนักงานรู้สึกดีกับบริษัทหรือรักบริษัทได้ยังไงล่ะครับ

            ย้ำอีกครั้งว่าบริษัทควรจะเอาเวลาไปทำมาหากินเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กับบริษัทมากกว่านี้ดีกว่า

           ดีไหมครับ ?

          ฝากคติสอนใจไว้ว่า....

         “เมื่อใหร่บริษัทคิดเล็กคิดน้อยกับพนักงาน..เมื่อนั้นพนักงานก็จะคิดเล็กคิดน้อยกับบริษัทเหมือนกัน”

            ทำยังไงก็จะได้ยังงั้นแหละ เพราะผลใด ๆ ที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุนำมาเสมอครับ


…………………………………