วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

ขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ใช่ความก้าวหน้า

            ก่อนเขียนเรื่องนี้ผมก็คิดอยู่พอสมควรนะครับว่าเมื่อเขียนเรื่องนี้ไปแล้วอาจจะทำให้คนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน (ซึ่งผมก็เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อนเหมือนกัน) รู้สึกไม่ค่อยดีกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนเท่าไหร่นัก

            แต่พอมาคิดในอีกมุมหนึ่งว่าถ้าหากคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนได้รับรู้และนำเรื่องนี้กลับมาคิดวางแผนชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม เรื่องที่ผมเขียนนี้ก็น่าจะเป็นเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกหลายคนได้เช่นเดียวกัน

            ก็เลยสรุปกับตัวเองว่างั้นเขียนดีกว่าครับ....

            มนุษย์เงินเดือนอีกไม่น้อยคิดว่าการทำงานแล้วได้รับเงินเดือน และเมื่อถึงสิ้นปี (หรือถึงรอบที่จะพิจารณาขึ้นเงินเดือน) แล้วได้รับการขึ้นเงินเดือนเหมือนเพื่อน ๆ ชีวิตเราก็น่าจะโอเคแล้ว เพราะทุกปีฉันก็จะมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเหมือน ๆ กับเพื่อน ซึ่งเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนก็ได้พอ ๆ กับเพื่อน ๆ กลุ่มใหญ่ที่ทำงานได้ตามที่บริษัทต้องการ

            ผมสมมุติว่าบริษัทแห่งหนึ่งมีค่าเฉลี่ยขึ้นเงินเดือนประจำปีในปีนี้ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันที่จริงแล้วบริษัทต่าง ๆ ในเมืองไทยก็มักจะมีเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5-6 เปอร์เซ็นต์มานับสิบปีแล้วนะครับ เท่าที่ผมดูตัวเลขมาคือตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงปัจจุบันก็อยู่ในอัตราประมาณนี้แหละครับ

            ซึ่งถ้าหากเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยยังคงเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป ผมก็ขอสมมุติว่ามีพนักงานคนหนึ่งเข้ามาทำงานกับบริษัทจบปริญญาตรี ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งตอนนี้ก็เป็นค่าเฉลี่ยของคนจบปริญญาตรี หากพนักงานคนนี้ทำงานต่อไปอีก 10 ปี และเขาก็มีผลการปฏิบัติงานดีตามค่าเฉลี่ยก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนในแต่ละปี ๆ ละ 5 เปอร์เซ็นต์ตามค่าเฉลี่ย

            เงินเดือนของเขาก็จะเป็นไปตามตารางข้างล่างนี้ครับ


            
            จากตารางข้างต้นเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี  จากเงินเดือน 15,000 บาทจะเพิ่มขึ้นเป็น 23,270 บาท ซึ่งเห็นได้ว่าเงินเดือนของพนักงานคนนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์

            คำถามคือ....ท่านคิดว่าเงินเดือน ๆ ละ 23,270 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะพอใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตไหมล่ะครับ

แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า พนักงานรุ่นหลังที่จบปริญญาตรีจะมีเงินเดือนเริ่มต้นเท่าไหร่ ?

ผมหยิบตัวเลขอีกสักตัวจากของจริงมาให้ท่านดูนะครับ นั่นคือเมื่อปี 2549 ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนคนที่จบปริญญาตรี (จบใหม่) และบริษัทรับเข้าทำงานอยู่ที่เดือนละ 11,000 บาท

ท่านลองดูตารางข้างล่างนี้....



            เห็นไหมครับว่า 10 ปีผ่านไป พนักงานคนนี้จะมีเงินเดือนในปัจจุบันคือ 17,065 บาท แต่ท่านต้องไม่ลืมว่าเมื่อปี 2554 มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ทำให้เกิดการปรับตัวของโครงสร้างค่าจ้างในเมืองไทย ซึ่งผลกระทบจากเรื่องนี้ก็แรงพอสมควรทำให้ค่าจ้างของคุณวุฒิต่าง ๆ เช่น ปวช., ปวส, ปริญญาตรี, ปริญญาโท, ปริญญาเอก ต้องมีการปรับตัวหนีค่าจ้างขั้นต่ำไปด้วยจนกลายเป็นปวช.จะมีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นตามวุฒิประมาณ 10,000 บาท ปวส.เริ่มต้นประมาณ 11,000 บาท ปริญญาตรี (สายสังคมศาสตร์) เริ่มที่ 15,000 บาท และปริญญาโทเริ่มที่ประมาณ 18,000 บาทในปัจจุบัน ซึ่งทำให้พนักงานที่จบปริญญาตรีเมื่อปี 2549 มีเงินเดือนปัจจุบันที่ห่างจากคนที่จบปริญญาตรีรุ่นน้อง 10 ปีเพียงแค่ประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

            ทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นก็เพื่อให้ท่านได้เห็นภาพและอยากจะบอกกับท่านว่า....

          การได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีทุก ๆ ปีไม่ใช่ความก้าวหน้า และเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ นั้นคงจะไม่สามารถทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการเป็นมนุษย์เงินเดือนได้อีกต่อไปน่ะสิครับ !!

            เพราะอัตราเติบโตของเงินเดือนของท่านจะโตไม่ทันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจภายนอกบริษัทครับ

            แล้วควรทำยังไงดี ?

1.     ต้องบอก (หรือคิด) กับตัวเองว่าการขึ้นเงินเดือนประจำปีทุก ๆ ปีโดยมีเปอร์เซ็นต์ขึ้นเงินเดือนเท่าค่าเฉลี่ยไม่ใช่ความสำเร็จหรือเป็นก้าวหน้าของชีวิตการทำงานของเราอีกต่อไป

2.      ค้นหาขีดความสามารถ (Competency) ของตนเองที่เหมาะกับงานที่ต้องรับผิดชอบ และหาทางเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้เร็วที่สุด คือพูดภาษาชาวบ้านคือต้องเป็นคนมีของ และต้องหาทางปล่อยของ (คือความสามารถ) ออกมาให้ผู้บริหารเห็นฝีมือและยอมรับเพื่อให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นต่อไป เพราะการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจะมีความรับผิดชอบในงานที่มากขึ้นและแน่นอนว่าบริษัทจะต้องมีการปรับเงินเดือนเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งเพื่อให้เหมาะสมกับความรับผิดชอบที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งค่าเฉลี่ยของการปรับเงินเดือนเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ (บางบริษัทอาจปรับสูงกว่านี้) ลองมาดูกันสิครับว่าในระยะเวลา 10 ปีเท่า ๆ กันระหว่างพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งกับพนักงานที่ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจะเป็นยังไงตามตารางข้างล่างนี้

            จากตารางข้างต้นจะเห็นว่าหากได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเฉลี่ย 3 ปีครั้ง จะทำให้มีฐานเงินเดือนสูงกว่าพนักงานที่ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์

3.      หากท่านเป็นคนที่จบมาใหม่แล้วทำงานที่ไหนก็ตามตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแล้วยังไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น ก็คงจะต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองแล้วล่ะครับว่างานที่ทำอยู่มันตรงกับความสามารถ (Competency) ที่เรามีอยู่หรือไม่ หรือมีปัญหาอยู่ตรงไหนที่ทำให้เราไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้รับผิดชอบให้สูงขึ้น แต่ถ้าไม่คิดอะไรแล้วยังทำงานไปเรื่อย ๆ ท่านก็จะได้รับการขึ้นเงินเดือนไปเรื่อย ๆ เหมือนตารางบนสุด แล้วอย่ามานั่งคิดต่อว่าบริษัทหรือผู้บริหารในภายหลังนะครับว่าทำไมเงินเดือนคนเข้าใหม่ถึงไล่หลังเรามา หรือเผลอ ๆ เงินเดือนคนเข้าใหม่มากกว่าเราเสียอีก ก็เพราะว่าท่านไม่พัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้นมาเองก็ย่อมจะถูกคลื่นลูกหลังกลบไปในที่สุดครับ

4.      ถ้าบริษัทที่ท่านทำงานในปัจจุบันไม่ได้คิดหรือวางแผนในเรื่องสายความก้าวหน้า (Career Path) ให้กับพนักงานอย่างเหมาะสมก็ย่อมจะถูกกฎของธรรมชาติเล่นงานเอา นั่นก็คือจะไม่สามารถรักษาคนที่มีความรู้ความสามารถหรือเก็บคนเก่ง (Talent) เอาไว้กับบริษัทได้ (อันนี้เป็นหน้าที่ของ HR และฝ่ายบริหารของแต่ละบริษัทที่ควรจะต้องคิดและวาง Career Path ให้กับพนักงานในบริษัทเอาไว้ด้วยนะครับ) ซึ่งคนพวกนี้ก็จะหางานใหม่ และไปเติบโตก้าวหน้าในบริษัทอื่นต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าในการเปลี่ยนงานแต่ละครั้งควรจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ (อันนี้เป็นข้อมูลส่วนตัวของผมเองนะครับว่าการเปลี่ยนงานผู้สมัครงานในแต่ละครั้งผู้สมัครจะต้องเรียกเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพราะถ้าได้เท่าเดิมจะเปลี่ยนไปทำไมล่ะครับ) และหากผู้สมัครงานเป็นคนที่มีฝีมือมีความสามารถที่ตลาดต้องการก็อาจจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 50-100 เปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือนปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่เสมอ

5.       จากข้อ 4 ผมไม่ได้บอกใบ้ให้ท่านเปลี่ยนงานบ่อย ๆ เพื่อจะได้เพิ่มค่าตัวขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ได้งานใหม่นะครับ เรื่องแบบนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนทั้งยังขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสอีกด้วย เพราะผมเคยเห็นคนอีกหลายคนเป็นพวกที่เรียกว่า “Job Hopper” คือเปลี่ยนงานบ่อยจนเกินไปจนในที่สุดเสียประวัติเพราะบริษัทที่จะรับเขากลัวว่าจะมาทำงานได้ไม่นานเดี๋ยวก็ลาออกเลยไม่รับเข้าทำงาน

จากที่ผมบอกมาทั้งหมดจึงอยากจะสรุปว่า

การขึ้นเงินเดือนประจำปีไม่ใช่ความก้าวหน้า แต่การเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นนั่นแหละครับคือความก้าวหน้าที่แท้จริง

สิ่งสำคัญก็คือทุก ๆ อย่างอยู่ที่ตัวของท่านเองว่าจะวางแผนชีวิตของเราไว้ยังไง เราวางแผนการทำงานในเรื่องต่าง ๆ มากันไม่น้อยแต่สิ่งสำคัญอย่าลืมวางแผนชีวิตตัวเองเอาไว้ด้วย

            ต้นไม้ยังต้องการความเจริญเติบโตแล้วคนเราจะไม่พัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นไปบ้างเลยหรือ แต่ถ้าใครยังบอกกับตัวเองว่า “ฉันขอทำงานที่นี่ไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องเลื่อนตำแหน่งอะไรหรอกไม่อยากรับผิดชอบ” ก็ทำตามที่สบายใจไปก็แล้วกันนะครับ


………………………………….