วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

ผลของการบริหารแบบไม่กล้าจัดการของหัวหน้างานคือ....?

            วันนี้ผมมีปัญหามาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นอุทธาหรณ์สำหรับท่านอีกแล้วครับ เรื่องนี้มักจะเกิดขึ้นได้อยู่เสมอสำหรับหัวหน้างานที่ใจดีกับลูกน้องมากจนเกินไป ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกน้อง หรือไม่กล้าตัดสินใจเมื่อลูกน้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็เกิดเรื่องบานปลายในเวลาต่อมา

            ในบริษัทแห่งหนึ่งผู้บริหารฝากเด็กฝากเข้ามาทำงานอยู่ในหน่วยงานแห่งหนึ่ง (ผมเคยเขียนเรื่อง “เด็กฝากเข้าทำงานจะจัดการยังไงดี” ไปก่อนหน้านี้แล้วลองไปหาอ่านย้อนหลังใน Blog ของผมหมวดการบริหารงานบุคคลดูนะครับ)

            ในระหว่างทดลองงาน (บริษัทแห่งนี้มีระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน) เด็กฝากคนนี้ลาป่วย 9 วันแต่ไม่ได้ลาป่วยติดกัน 9 วันนะครับ แถมป่วยแบบไม่จริงอีกต่างหาก (เพื่อน ๆ ร่วมงานบอกตรงกันว่าเด็กฝากคนนี้ติดเที่ยวกลางคืนเลยตื่นสาย) แต่หัวหน้าก็อนุญาตให้ลาป่วยทุกครั้ง พนักงานคนนี้ขาดความตั้งใจในการทำงานเมื่อหัวหน้ามอบหมายงานอะไรให้ก็มักจะชักสีหน้าไม่ค่อยจะเต็มใจรับงาน (เพราะชอบเล่นสมาร์ทโฟนในเวลางาน เล่นเฟซบุ๊คบ้าง ไลน์บ้าง ฟังหูฟังตลอดเวลา) และเมื่อนำงานมาส่งก็ผิดพลาดบ่อย

          แต่หัวหน้าของพนักงานคนนี้ไม่กล้าที่จะเรียกพนักงานคนนี้มาตักเตือนเพราะเกรงใจผู้บริหารที่ฝากมา !

            จนกระทั่งมาตรวจสอบพบภายหลังอีกว่าเด็กฝากคนนี้ทำเอกสารขอเบิกค่าล่วงเวลาโดยลงเวลาเกินจากที่ทำจริงโดยหัวหน้าก็เซ็นอนุมัติการเบิกแต่พนักงานในหน่วยงานยืนยันว่าเด็กฝากคนนี้กลับบ้านก่อนเวลาแถมในใบขอเบิกโดยให้เพื่อนรูดบัตรออกแทน ซึ่งเข้าข่ายทุจริตโดยทำแบบนี้หลายครั้งแล้วและทาง HR ก็ตั้งคณะกรรมการวินัยสอบสวนเรื่องนี้และสรุปผลการสอบสวนว่าพนักงานทุจริตจริงมีมติไปถึงฝ่ายบริหารให้เลิกจ้าง แต่ตัวเด็กฝากก็ยืนยันว่าตัวเองไม่ผิดเพราะหัวหน้าอนุมัติเรื่องทั้งหมดมาโดยตลอดให้ดูในเอกสารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นใบขอทำล่วงเวลา, ใบลาป่วย ฯลฯ ถ้าจะเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้เธอตามกฎหมายแรงงาน

            เป็นยังไงครับกับทั้งพฤติกรรมของเด็กฝากและหัวหน้างานรายนี้ ?

            ทางฝั่งของหัวหน้างานก็กลัวว่าถ้าไปตำหนิแตะต้องเด็กฝากคนนี้เดี๋ยวผู้บริหารที่ฝากเข้ามาจะไม่พอใจ ในทำนองเดียวกันเด็กฝากคนนี้เห็นว่าหัวหน้าไม่ว่าอะไรก็เลยทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนในหน่วยงานไปเลย

            ผมมีข้อคิดในเรื่องนี้จากประสบการณ์ของคนที่ทำงาน HR อย่างนี้นะครับ

1.      ถ้าหัวหน้างานไม่ไป Feedback พฤติกรรมของเด็กฝากรายนี้ให้ผู้บริหารที่ฝากเด็กคนนี้เข้ามาให้ทราบเรื่องทั้งหมดนี้ ถามว่าผู้บริหารจะทราบไหมว่าเด็กที่ตัวเองฝากเข้ามามีพฤติกรรมที่ไม่ดีไม่เหมาะสมยังไงบ้าง จากประสบการณ์ที่ผมเคยเจอเรื่องทำนองนี้มาก็คือเมื่อหัวหน้ารายงานให้ผู้บริหารที่ฝากเด็กคนนี้เข้ามาทราบเรื่อง เขาก็เรียกให้เด็กคนนี้มาบอกให้เขียนใบลาออกไปเลยนะครับ แต่ถึงแม้ว่าหัวหน้างานรายงานให้ผู้บริหารทราบแล้วผู้บริหารไม่ทำอะไรเลยก็ยังดีกว่าไม่มีการ Feedback ให้คนที่ฝากทราบจริงไหมครับ พูดง่าย ๆ คือถ้าไม่บอกเขาจะรู้ไหมครับว่าเด็กที่เขาฝากมามีพฤติกรรมเป็นยังไง ดังนั้นบอกเขาดีกว่าไม่บอก

2.      ผมเคยเขียนบทความแชร์ประสบการณ์ไปในเรื่องการลาป่วยไปแล้วว่าเมื่อพนักงานลาป่วย หัวหน้าไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้ลาป่วยเสมอไปถ้าพนักงานไม่ได้ป่วยจริง ซึ่งส่วนใหญ่พนักงานที่ลาป่วยปลอม ๆ ในลักษณะนี้มักจะอยู่ห้องพักหรืออยู่ที่บ้านไม่ไปโรงพยาบาลหรือคลินิกหรอกเพราะไม่ป่วยจริง ดังนั้นหัวหน้าก็ควรไปเยี่ยม (หาพยานไปด้วย) โดยไม่ให้พนักงานรู้ตัวล่วงหน้าสิครับ หากไปเห็นว่าไม่ได้ป่วยจริงหรือไม่ได้อยู่ที่ห้องพักก็ไม่อนุญาตและถือเป็นการขาดงานหัวหน้าสามารถออกหนังสือตักเตือนและไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่พนักงานขาดงาน (No work no pay) ได้อีกด้วย

3.      หัวหน้างานคนนี้ก็มีข้อบกพร่องในการเป็นผู้บังคับบัญชาขาดภาวะผู้นำ ไม่กล้าแก้ปัญหาไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าแม้แต่จะว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องเมื่อลูกน้องมีพฤติกรรมที่มีปัญหา หัวหน้าประเภทนี้ลูกน้องบางคนจะรักจะชอบเพราะเป็น “หัวหน้าที่อยู่ในโอวาทลูกน้อง” ลูกน้องชี้นกเป็นไม้ ลูกน้องบางคนขึ้นเสียงมาทีหัวหน้าจะหงอลงไปทันใดดูแล้วจะงง ๆ ไม่รู้ว่าใครเป็นหัวหน้าใครเป็นลูกน้องกันแน่ พอลูกน้องคนอื่นเห็นหัวหน้าไม่กล้าทำอะไรกับคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีก็จะพลอยเอาอย่างตามไปด้วย สุดท้ายหน่วยงานนั้นก็จะมีคนที่มาสายเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ ทำงานบ้างโดดบ้าง ฯลฯ แหละครับ

4.      ผลจากพฤติกรรมในการบริหารจัดการของหัวหน้างานที่ไม่ดูแลการทำงานของลูกน้องรายนี้เลยทำให้เกิดการทุจริตขึ้น ซึ่งในกรณีนี้หัวหน้าก็ควรจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยในเรื่องความบกพร่องต่อหน้าที่ด้วยเช่นเดียวกัน

5.      พนักงานทดลองงานที่มีพฤติกรรมมาสาย, ขาดงานโดยอ้างว่าป่วยบ่อย ๆ ในช่วงทดลองงาน, ไม่ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายทำงานเพียงสักแต่ให้เสร็จ ๆ พ้น ๆ ไป, ขาดความกระตือรือร้น ฯลฯ ผมมักจะเจอหัวหน้างานหลายคนจะใช้วิธี “ต่อทดลองงาน” โดยบอกว่าให้โอกาสเด็กปรับปรุงตัวเพราะไม่อยากจะไปสัมภาษณ์หาคนใหม่และต้องมาเสียเวลาสอนงานกันใหม่อีก แต่จากประสบการณ์ของผมแล้วพบว่าการต่อทดลองงานออกไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นหรอกครับ และในที่สุดปัญหาเดิม ๆ ก็จะวนเวียนกลับมาอีกสู้ตัดใจแจ้งผลให้ตัวพนักงานทดลองงานได้ทราบปัญหาข้อบกพร่องของตัวเขาแล้วอวยชัยให้พรให้น้องเขาไปประสบความสำเร็จในที่ทำงานแห่งใหม่และจากกันด้วยดีจะดีกว่าการดันทุรังต่อทดลองงานให้มีปัญหาต้องไปแก้กันต่อไปในอนาคต

           จากเรื่องที่ผมแชร์มาทั้งหมดนี้เพื่ออยากจะให้เรื่องนี้เป็นกระจกเงาสะท้อนการบริหารจัดการของหัวหน้าทุกท่านว่าทุกวันนี้ท่านมีพฤติกรรมในการบริหารจัดการลูกน้องแบบไหน และถ้าท่านเจอปัญหาอย่างที่ผมเล่ามาให้ฟังนี้ท่านจะตัดสินใจแก้ปัญหายังไง จะปล่อยปละละเลยเหมือนหัวหน้างานคนนี้หรือจะทำอะไรให้ดีกว่านี้ได้บ้าง เพราะนี่คือทักษะการบริหารทรัพยากรบุคคลในภาคปฏิบัติจริงของหัวหน้างานทุกคนที่จะต้องพบเจอและต้องตัดสินใจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาแต่ละกรณีที่แตกต่างกันไป ซึ่งปัญหาเหล่านี้หาไม่ได้จากในตำราแต่เกิดจากทักษะและประสบการณ์ทำงานจริงเป็นหลัก

ขอให้ท่านที่เป็นผู้บริหารตัดสินใจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ถูกต้องนะครับ



…………………………………..