ผมเพิ่งได้รับคำถามจากคนที่กำลังจะลาออกจากงานเก่าว่า..ได้ยื่นใบลาออกจากที่เก่าแล้ว
(ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบ) และเซ็นสัญญาจ้างงานกับที่ใหม่แล้ว
แต่พอใกล้ ๆ วันถึงกำหนดลาออกหัวหน้าที่เก่ามาบอกว่ายังหาคนแทนไม่ได้ และผู้บริหารก็พิจารณาปรับเงินเดือนเพิ่มให้เท่า
ๆ กับบริษัทใหม่
พนักงานคนนี้ก็เลยลังเลว่าจะลาออกดีหรือจะยกเลิกการไปทำงานกับบริษัทใหม่ดี
??
คำถามทำนองนี้มีอยู่บ่อย
ๆ นะครับ และเมื่อปัญหานี้เกิดกับใครก็มักจะทำให้คน ๆ นั้นเกิดอาการลังเลได้เสมอ ๆ
ผมมีข้อคิดอย่างนี้ครับ
1. ก่อนที่เราจะตัดสินใจยื่นใบลาออกเราได้คิดรอบคอบแล้วหรือว่าถ้ายังทำงานอยู่ที่เก่ามีข้อดี-ข้อเสียอะไร และถ้าเราจะไปทำงานที่ใหม่จะมีข้อดี-ข้อเสียอะไร
ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนงานแต่ละครั้งมันควรจะต้องมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เช่น ผลตอบแทนโดยภาพรวม,
ตำแหน่งงานที่การงาน, โอกาสในความก้าวหน้า, โอกาสที่จะได้เรียนรู้งานใหม่ ๆ
หรือโอกาสในการสร้างผลงานที่เป็นชื่อเสียงของเรา ฯลฯ เหล่านี้ควรจะต้องดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
2. เมื่อเราได้คิดเปรียบเทียบผลดีผลเสียอย่างรอบคอบและได้ตัดสินใจที่จะเดินหน้ายื่นใบลาออกตามระเบียบเรียบร้อยแล้ว
ทำสัญญาจ้างงานที่จะไปเริ่มงานกับที่ใหม่เรียบร้อยแล้ว
เราจะยกเลิกทุกอย่างเพียงเพราะบริษัทเก่าเขายื่นข้อเสนอว่าเขาจะปรับเงินเดือนขึ้นให้เราเท่า
ๆ กับที่ใหม่เท่านั้นน่ะหรือ ? ถามว่าถ้าเรายังไม่ได้งานที่ใหม่และยื่นใบลาออกพูดง่าย
ๆ ว่ายังทำงานไปเรื่อย ๆ บริษัทเก่าเขาจะมาเห็นคุณค่าของเราแล้วมาปรับเงินเดือนให้เป็นกรณีพิเศษอย่างนี้หรือเปล่า
?
3.ถ้าบริษัทไหนมีวิธีปฏิบัติอย่างนี้อยู่บ่อย
ๆ คือเมื่อพนักงานยื่นใบลาออกก็เพิ่งจะมาคิดว่าควรจะปรับเงินเดือนขึ้นให้เป็นพิเศษเพื่อรั้งไว้ไม่ให้ลาออก
ผมจะตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทนั้น ๆ
ไม่มีการบริหารค่าตอบแทนอย่างมืออาชีพนะครับ !
หรือจะเรียกการบริหารค่าตอบแทนแบบนี้จะเรียกว่าบริหารแบบ
“ตามใจฉัน” ก็เรียกได้
เพราะถ้าผมเป็นผู้สมัครงาน ผมก็คงจะต้องคิดและตั้งคำถามกับตัวเองว่า
“ทำไมเพิ่งจะมาปรับเงินเดือนให้ผมตอนนี้ ?”
แสดงว่าบริษัทจ่ายเงินเดือนให้ผมต่ำกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกันมาโดยตลอดอย่างงั้นหรือ
แล้วบริษัทเพิ่งจะมาเห็นว่าผมมีคุณค่าหรือมีความสำคัญก็ตอนที่ผมมายื่นใบลาออกหรือ ? แสดงว่าที่ผ่านมาบริษัทจ่ายเงินเดือนให้ผมแบบต่ำกว่าตลาด
(Under Pay) มาโดยตลอดหรือไม่ ?
แล้วนี่ถ้าผมไม่ยื่นใบลาออกผู้บริหารจะคิดปรับเงินเดือนให้ไหมล่ะเนี่ยะ
?
และถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับบริษัทกำลังส่งสัญญาณบอกให้พนักงานคนอื่น
ๆ เก็บงานหรือเก็บความสำคัญไว้กับตัวเองเพื่อเป็นเครื่องต่อรองกับฝ่ายบริหาร เพราะเมื่อยื่นใบลาออกเมื่อไหร่ฝ่ายบริหารก็จะต้องมางอนง้อด้วยการปรับ
เงินเดือนให้เพราะหาคนทำแทนไม่ได้
คำถามคือเราอยากจะทำงานในบริษัทที่ไม่มี
“หลักเกณฑ์” อะไรเลย มีแต่ “หลักกู” ไปเรื่อย ๆ ใครมีอำนาจต่อรองคนนั้นก็มีโอกาสได้ปรับเงินเดือนอย่างนี้หรือครับ
?
4.สำหรับคนที่เจอปัญหาทำนองนี้แล้วเกิดอาการลังเลก็อาจจะเป็นเพราะสาเหตุหลักที่ตัดสินใจลาออกคือมองเพียงเรื่องค่าตอบแทนเป็นเรื่องหลัก
พอที่เก่าปรับเงินขึ้นมาให้เท่ากับที่ใหม่ที่ไปคุยไว้ก็เลยไม่อยากจะออกจาก Comfort Zone ไปสร้างสังคมใหม่
ไปเรียนรู้งานใหม่ ไปเสี่ยงกับสิ่งที่ยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นอย่างไร ฯลฯ
ก็เลยคิดกลับมาสู่ Comfort Zone เดิมของตัวเองแล้วก็ทำที่เดิมต่อไป
แต่ท่านจะแน่ใจได้ยังไงว่าบริษัทที่มีการบริหารค่าตอบแทนแบบไม่เป็นระบบอย่างงี้จะไม่จ่ายเงินเดือนแบบเอาเปรียบเราอีกในวันข้างหน้า
และในอนาคตถ้าอยากจะได้ปรับเงินเดือนพิเศษผมก็ต้องทำอย่างเดียวกับวันนี้คือไปหางานใหม่ที่เขาจ่ายเงินเดือนเยอะกว่าที่เก่าแล้วเอามาต่อรองกันอีกหรือครับ
มันเหมือนเดจาวู (Dejavu) ยังไงไม่รู้
5.ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจยื่นใบลาออกก็ควรจะต้องคิดให้รอบด้านทั้งผลดีผลเสียให้ดีเสียก่อน และถ้าได้คำตอบสุดท้ายว่าจะตัดสินใจลาออก
ก็แปลว่าเราพร้อมจะเดินหน้าต่อไปโดยไม่ควรจะลังเลกับเรื่องข้อต่อรองเหล่านี้อีก
และต้องพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องที่อาจจะดีก็ได้หรืออาจจะไม่ดีก็ได้ โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อเสมอว่าถ้าทำปัจจุบันให้ดี
ผลในอนาคตมันต้องดีขึ้นแน่นอน เมื่อตัดสินใจเดินหน้าแล้วก็ต้องเดินไปข้างหน้าต่อไป
และทำงานที่เราต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุด ถือคติว่า “ความเปลี่ยนแปลงไม่ดีหรือเลวด้วยตัวของมันเอง
แต่ความรู้สึกของเราที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงต่างหากที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นดีหรือเลว”
หวังว่าข้อคิดเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจสำหรับท่านที่กำลังตกอยู่ในเหตุการณ์ทำนองนี้และขอให้ท่านตัดสินใจได้ถูกต้องครับ
………………………………..