วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ถูกเลิกจ้างเพราะขโมยทรัพย์สินของบริษัท HR จะออกหนังสือรับรองการทำงานให้หรือไม่

            คำถามนี้ผมเจอบ่อย ๆ ก็เลยอยากจะนำมาตอบให้เข้าใจตรงกันและจะได้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องทั้งทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้างนะครับ

            ปกติเมื่อพนักงานลาออกจากงานก็มักจะขอหนังสือรับรองการทำงาน (ซึ่งภาษาคนทำงานบางคนจะเรียกว่า “ใบผ่านงาน”) จากบริษัทเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการไปสมัครงานในที่ทำงานแห่งใหม่ว่าเคยทำงานที่บริษัทเดิมนี้มาก่อน ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทก็จะออกหนังสือรับรองการทำงานให้ไม่มีปัญหาอะไร

          แต่กรณีที่พนักงานทำความผิดร้ายแรงในบริษัทจนถูกเลิกจ้าง หรือพนักงานที่ทำงานไม่ดีมีปัญหาจนบริษัทต้องเลิกจ้างล่ะ บริษัทจำเป็นต้องออกหนังสือรับรองการทำงานด้วยหรือไม่ ?

             ยกตัวอย่างเช่น นายก่อเกียรติขโมยเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทแต่ถูกจับได้เมื่อมีการสอบสวนแล้วก็จำนนต่อหลักฐานจนบริษัทต้องเลิกจ้างไปเพราะทุจริตลักทรัพย์สินของบริษัท หรือนางสาวเกษรขโมยกระเป๋าสตางค์เพื่อนและถูกจับได้คาหนังคาเขาบริษัทก็เลยเลิกจ้าง หรือนางจรรยาขาดงานหายไป 10 วันแล้วก็ติดต่อไม่ได้ตอนหลังมาทราบว่าโกงเงินวงแชร์ที่บริษัทก็เลยหนีไปบริษัทก็เลยเลิกจ้าง ฯลฯ

            กรณีทำนองนี้บริษัทจะต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้หรือไม่

            เมื่อมีคำถามนี้ผมมักจะพบคำตอบที่ใช้ความรู้สึกของแต่ละฝ่าย เช่น บริษัทบางแห่งก็จะบอกว่าไม่ต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้เพราะพนักงานทำความผิดร้ายแรง แต่บางบริษัทก็บอกว่าต้องออกให้สิเพราะเขาเคยเป็นพนักงานของเราจริง

            ในขณะที่ทางฝั่งของพนักงานก็อยากจะได้หนังสือรับรองการทำงานเพื่อจะได้เอาไปเป็นหลักฐานในการไปสมัครงานที่ใหม่ แต่เมื่อแจ้งไปทางฝ่ายบุคคล ฝ่ายบุคคลก็ไม่ยอมออกหนังสือรับรองให้โดยบอกว่าบริษัทจะไม่ออกหนังสือรับรองการทำงานให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ??!!

            เพื่อยุติคำถามเหล่านี้ ผมอยากให้ท่านอ่านตามนี้ครับ....

ปพพ.585 “เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร (ปพพ=ประมวลกฎหมายแพ่ง)

            เข้าใจตรงกันแล้วนะครับ

ดังนั้นไม่ว่าลูกจ้าง (หรือพนักงาน) พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ เช่น ลาออก หรือถูกเลิกจ้าง บริษัท (หรือนายจ้าง)  จะต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้กับพนักงานทุกกรณี !

             จะมาอ้างโน่นอ้างนี่ หรือใช้ความรู้สึกอย่างโน้นอย่างนี้แล้วโมเมไม่ออกหนังสือรับรองการทำงานไม่ได้

            นอกจากนี้ผมยังเคยเห็นคำถามเพิ่มเติมอีกว่า “ถ้าทำงานแล้วไม่พ้นทดลองงานล่ะ จะให้บริษัทออกหนังสือรับรองการทำงานได้หรือไม่ เพราะไปขอหนังสือรับรองการทำงานแล้วฝ่ายบุคคลบอกว่ายังไม่ผ่านทดลองงานบริษัทจะไม่ออกหนังสือรับรองการทำงานให้”

            ตรงนี้ผมอยากจะให้คนที่ทำงาน HR มีความเป็นมืออาชีพและสนใจหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานเอาไว้บ้างนะครับ เพราะถ้าเพียงแค่หาความรู้เหล่านี้เพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 585 ข้างต้นก็จะรู้ว่าหลักที่ถูกต้องก็คือ....

          จะต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้แม้ว่าพนักงานจะไม่ผ่านทดลองงานก็ตาม เพราะเมื่อบริษัทจ้างเข้ามาเป็นพนักงานก็จะมีวันเริ่มต้นเข้าทำงาน ส่วนการทดลองงานเป็นเพียงเงื่อนไขของบริษัทที่กำหนดขึ้นเท่านั้น ดังนั้นสภาพการจ้างเกิดขึ้นแล้ว มีความเป็นนายจ้างและลูกจ้างเกิดขึ้นแล้ว เมื่อลูกจ้างพ้นสภาพ (หรือสภาพการจ้างสิ้นสุดลง) บริษัทก็ต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้เช่นเดียวกัน

            คราวนี้คงเข้าใจตรงกับและเกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนี้กันแล้วนะครับ


…………………………………………