เมื่อบริษัทรับพนักงานเข้ามาทำงานส่วนมากก็มักจะต้องให้มีการทดลองงานกันก่อน
ซึ่งระยะเวลาทดลองงานก็อาจจะแตกต่างกันไป
บางบริษัทก็มีระยะเวลาทดลองงาน 90 วัน บางแห่งก็ไม่เกิน 120 วัน
ถ้าระหว่างทดลองงานพนักงานมีผลงานดีบริษัทก็มักจะพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานประจำไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าพนักงานทดลองงานมีผลการทำงานไม่ดีบริษัทไม่อยากจะบรรจุให้เป็นพนักงานประจำ
บริษัทควรจะต้องแจ้งพนักงานทดลองงานล่วงหน้ากี่เดือน ?
คำถามนี้ไม่ยากหากไปดูที่มาตรา
17 ของกฎหมายแรงงานที่ว่าไว้อย่างงี้ครับ
“มาตรา 17
สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา
นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ
ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด
เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้
แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน....”
สังเกตคำว่า
“สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา” ที่ผมขีดเส้นใต้ไว้นะครับ
อธิบายเพิ่มเติมได้ว่าสัญญาจ้างพนักงานประจำของบริษัท (ไม่ว่าจะให้ทดลองงานหรือไม่ต้องทดลองงานก็ตาม)
ถือว่าเป็นสัญญาจ้างแบบไม่กำหนดระยะเวลา คือพูดง่าย ๆ ว่าจ้างกันไปจนกว่าจะเกษียณ
ตาย ลาออก หรือจนกว่าบริษัทจะเลิกจ้างไปนั่นแหละครับ
จะต่างจาก “สัญญาจ้างที่มีระยะเวลา”
ซึ่งหลายบริษัททำขึ้นเพื่อจ้างพนักงานชั่วคราวเข้ามาทำงานโดยระบุระยะเวลาที่ชัดเจนเอาไว้ในสัญญาจ้าง
เช่น รับเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีระยะเวลา 1 ปี เมื่อถึงวันที่ 1 มีนาคม 2558 พนักงานก็ไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไป และไม่ต้องยื่นใบลาออก
บริษัทก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้างแต่สภาพการจ้างจะจบไปด้วยระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญา
ดังนั้นสัญญาจ้างงานพนักงานประจำที่ให้มีการทดลองงานก็ถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีระยะเวลา
ถ้าหากพนักงานทดลองงานมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่น่าพอใจ
บริษัทก็สามารถแจ้งเลิกจ้างโดยทำเป็นหนังสือแจ้งให้พนักงานทดลองงานทราบล่วงหน้าในวันจ่ายเงินเดือนหรือก่อนวันจ่ายเงินเดือนเพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในรอบการจ่ายเงินเดือนถัดไปก็ได้
แต่ไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าเกิน 3 เดือน
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งจ่ายเงินเดือนทุกสิ้นเดือน
ๆ ละครั้ง รับนายมนูเข้ามาทำงานและมีระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน เมื่อใกล้ ๆ
จะครบทดลองงาน
หัวหน้าก็ประเมินผลงานนายมนูแล้วเห็นว่านายมนูมีผลการปฏิบัติงานไม่ดี อู้งาน มาสาย
พูดตักเตือนจนไม่รู้จะพูดยังไงแล้วก็เลยเห็นว่านายมนูไม่เหมาะกับการเป็นพนักงานของบริษัทเป็นแน่แท้
หากทำตามมาตรา 17 ข้างต้น บริษัท
(โดยหัวหน้างาน) ก็ควรจะต้องเชิญนายมนูมาแจ้งในวันที่จ่ายเงินเดือนสมมุติว่าเป็นวันที่
30 มิถุนายน (แม้ว่าจะเรียกนายมนูมาแจ้งวันที่ 29 หรือ 28 มิถุนายนก็มีค่าเสมือนกับการแจ้งวันที่ 30
มิถุนายนนะครับ) ว่าผลการปฏิบัติงานระหว่างทดลองงานของนายมนูไม่เป็นที่น่าพึงพอใจบริษัทจึงจะไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำและยื่นหนังสือแจ้งเลิกจ้างเนื่องจากนายมนูไม่ผ่านการทดลองงานนี่คือการบอกกล่าวล่วงหน้าจากบริษัทถึงนายมนูว่าฉันจะเลิกจ้างเธอเพราะไม่ผ่านทดลองงานแล้วนะ
โดยการแจ้งนายมนูตามตัวอย่างนี้ก็จะเป็นไปตามมาตรา
17 ข้างต้น
คือแจ้งเลิกจ้างพนักงานเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง (ในกรณีนี้คือแจ้งเมื่อถึงวันจ่ายเงินเดือนคือวันที่
30 มิถุนายน)
ซึ่งก็จะมีผลการเลิกจ้างเมื่อถึงรอบการจ่ายเงินเดือนรอบถัดไปคือ 31 กรกฎาคม เป็นต้น
ถ้านายมนูเป็นพนักงานที่ดีก็ยังคงต้องมาทำงานในเดือนกรกฎาคมต่อไป
และจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม และบริษัทก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้นายมนูเต็มเดือนกรกฎาคม
แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อบริษัทแจ้งเลิกจ้างนายมนูว่าไม่ผ่านทดลองงานในวันที่
30
มิถุนายนแล้ว โดยทั่วไปนายมนูก็ไม่อยากจะมาทำงานต่อไปแล้วล่ะครับ
ถึงถ้ามาทำงานก็คงไม่มีกระจิตกระใจที่จะทำงานแล้วเพราะรู้แล้วว่าอีก 1 เดือนข้างหน้าก็ต้องพ้นสภาพพนักงานอยู่ดี
ดังนั้น บางบริษัทก็อาจจะใช้วิธี “จ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า”
คือยื่นหนังสือเลิกจ้างและแจ้งให้นายมนูทราบว่าไม่ผ่านทดลองงานวันที่ 30 มิถุนายน
และให้การเลิกจ้างมีผลวันที่ 1 กรกฎาคม (นายมนูก็ไม่ต้องมาทำงานตั้งแต่วันที่
1 กรกฎาคมเป็นต้นไป) แต่บริษัทก็ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายมนู
1 เดือน (ซึ่งก็คือค่าจ้างในเดือนกรกฎาคมเต็มเดือนนั่นเอง)
ก็ได้ครับ
แต่ในกรณีนี้ถ้านายมนูเขียนใบลาออก
บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ
เพราะถือว่าลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านคงเข้าใจวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ตรงกันแล้วนะครับ
……………………………