ในตอนที่แล้วผมได้บอกให้ท่านทราบไปแล้วว่าเงินเดือนที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างนั้น
เขาจ่ายให้โดยพิจารณาจากหลักคือ
เงินเดือน
=
P+C
P หมายถึง
Performance
หรือผลการทำงาน หรือผลการปฏิบัติงานการที่บริษัทจะจ้างคนเข้ามาทำงานเริ่มตั้งแต่การสัมภาษณ์คัดเลือกผู้สมัครงานนั้น
บริษัทก็จะพิจารณาว่าผู้สมัครงานคนนั้น ๆ
มีผลงานอะไรมาบ้างที่บริษัทมั่นใจว่าจากผลงานที่ผู้สมัครเคยทำมานั้นจะสามารถนำมาเป็นประโยชน์กับบริษัทได้ในอนาคต
ซี่งผมได้บอกไปในคราวที่แล้วว่าการประเมินผลงานคือการประเมินอดีตของคนว่าทำงานออกมาได้ดีมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งในวันนี้ก็เป็นยุคของการสะสมผลงานหรือที่เรียกกันว่า
“Portfolio”
คือสะสมผลงานกันตั้งแต่อนุบาล-ประถม-มัธยม-อุดมศึกษา
จนกระทั่งทำงานที่ไหนมาบ้าง และมีผลงานอะไรไปอวดให้กรรมการสัมภาษณ์เห็นเพื่อจะได้รับเข้าทำงาน
ท่านจะเห็นได้ว่าผลงานที่ผมพูดถึงนี้หมายความรวมถึงผู้สมัครที่เพิ่งจบใหม่ก็สามารถจะมีผลงานไปโชว์ให้กรรมการสัมภาษณ์พิจารณาได้ด้วยเช่นเดียวกันนะครับ
C หมายถึง
Competency
หรือ สมรรถนะหรือความสามารถของลูกจ้างคนนั้น ๆ
ที่จะต้องมีความรู้ในงาน (Knowledge) มีทักษะในการปฏิบัติงาน
(Skills) และมีคุณลักษณะภายในตัว (Attributes) เหมาะตรงกับงานที่ต้องการ เช่น
บริษัทต้องการพนักงานบัญชีที่มีความรู้เรื่องกฎหมายภาษีเป็นอย่างดี, มีทักษะในการปิดงบการเงินได้อย่างถูกต้อง
และต้องมีความละเอียดรอบคอบในการทำบัญชี
ดังนั้นถ้าใครคนไหนมีสมรรถนะหรือความสามารถอย่างที่ผมบอกมานี้
ตรงตามที่บริษัทต้องการก็เรียกว่ามีสมรรถนะหรือความสามารถในตำแหน่งงานพนักงานบัญชีนั่นเอง
(เรียกแบบทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่าพนักงานคนนั้นมี Competency)
ถ้าใครมี
Competency
เหมาะสมตรงกับงานที่จะต้องรับผิดชอบ บริษัทก็พร้อมจะรับเข้ามาทำงานและจ่ายเงินเดือนให้ตามความสามารถยังไงล่ะครับ
จากที่ผมบอกมาข้างต้นนี้แหละครับเป็นที่มาของการจ่ายเงินเดือนเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงาน
ดังนั้น
เมื่อมองจากทางฝั่งนายจ้างหรือผู้บริหารระดับสูงแล้วจึงจะจ่ายเงินเดือนให้กับคนที่มีผลงาน (P) และมีขีดความสามารถ (C ) อย่างที่นายจ้างต้องการ
จะเห็นได้จากตั้งแต่ตอนสัมภาษณ์จะรับพนักงานเข้าทำงานก็จะต้องมีการสัมภาษณ์เพื่อดูว่าผู้สมัครงานคนไหนที่จะมีผลงาน
และความสามารถเหมาะสมตรงกับตำแหน่งงานนั้น ๆ มากที่สุดก็จะรับคน ๆ นั้นเข้ามาทำงาน
จากที่ผมบอกมาข้างต้นนี้จึงสรุปได้ว่า P+C คือ “คุณค่า”
ในตัวของลูกจ้างว่าจะมีมากหรือน้อยแค่ไหนในสายตาของนายจ้างนั่นเอง
ซึ่งคุณค่านี้ก็จะกลายมาเป็นมูลค่าคือเงินเดือนที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างที่นายจ้างคิดว่ามีคุณค่าเพียงพอและเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น
ๆ
ใครที่มีคุณค่าหรือมูลค่าเหมาะกับตำแหน่งงาน
หรือหน่วยงานมาก องค์กรก็พร้อมจะจ่ายให้ (หรือปรับเงินเดือนให้) มาก
ใครมีมูลค่าน้อยลงก็จ่ายให้น้อยลง ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการจ่ายตาม “ค่างาน” หรือ “Job Value” ก็ได้ครับ
ผมอยากจะอธิบายเพิ่มเติมตรงนี้อีกสักนิดหนึ่งคือ....
ผลงาน
(Performance) คือ
เรื่องของอดีตที่ผ่านไปแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการประเมินผลการปฏิบัติงานนั่นคือการประเมินอดีตของลูกจ้างว่าทำงานได้ดีหรือไม่แค่ไหนอย่างไร
ทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ มีผลลัพธ์ออกมายังไง
ส่วน
ความสามารถ (Competency) คือ
การประเมินขีดความสามารถของพนักงานในปัจจุบัน ซึ่งองค์กรคาดหวังที่จะต้องเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้
ท่านลองคิดดูสิครับว่านับจากวันที่ท่านจบใหม่เอี่ยมเข้าทำงานมาจนถึงวันนี้
ท่านมีความรู้ในงานมีทักษะในงาน และมีคุณลักษณะที่ดีเช่นมีความขยันความอดทน ฯลฯ
เพิ่มมากขึ้นกว่าตอนจบใหม่หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าควรจะต้องเพิ่มขึ้นนะครับ
เพราะถ้าทำงานมา 5 ปี
แล้วยังมีความสามารถเท่าเด็กจบใหม่บริษัทคงไม่ปรับเงินเดือนขึ้นให้หรอกครับ
จากที่ผมอธิบายความเชื่อมโยงของเงินเดือน=P+C คงจะทำให้ท่านที่ได้เงินเดือนน้อยไม่ได้อย่างใจที่ต้องการ หรือได้รับการปรับเงินเดือนไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังได้หันกลับมาทบทวนตัวของท่านเองดูนะครับว่า..
1.
วันนี้ท่านมีผลงาน (Performance) ที่โดดเด่นที่ท่านภาคภูมิใจ เป็นผลงานของเราที่เป็น Portfolio ไว้โชว์ใคร ๆ
ได้ ที่หัวหน้าหรือองค์กรยอมรับน่ะ มีอะไรบ้างครับ
2.
ท่านมีความสามารถ (Competency) ในตัวของท่านเอง เหมาะตรงกับงานที่ท่านกำลังทำอยู่มากน้อยแค่ไหน ท่านค้นหา
Competency ในตัวเองเจอหรือยังว่าตัวเองชอบหรือถนัดเหมาะกับงานอะไร และเรากำลังทำงานที่ไม่ตรงกับความสามารถที่มีอยู่ในตัวเราหรือเปล่า
? ซึ่งเมื่อรู้แล้วว่าเรามีความสามารถด้านไหนก็ควรจะต้องพัฒนาความสามารถให้เพิ่มขึ้นโดยเร็วและใช้ขีดความสามารถให้ตรงกับงานนั้น
ๆ อย่างเต็มที่
ทั้ง 2 ส่วน
(P+C) นี้แหละครับจะกลับมาเป็นคุณค่าและมูลค่าในตัวของท่านที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ทั้งในวันนี้และในอนาคต คนที่มีคุณค่านั้นไม่ว่าองค์กรไหนก็อยากได้ไปทำงานด้วยทั้งนั้นแหละครับ
ถึงได้มีการซื้อตัวกันไปมาในตลาดแรงงานให้เห็นอยู่เสมอ
แต่ถ้าใครยังทำงานแบบเดิม
ๆ ไปวัน ๆ ผลงานก็ไม่มีอะไรที่โดดเด่น แถมยังไม่รู้เลยว่าตัวของเรามีขีดความสามารถอะไรบ้าง
และไม่เคยคิดจะพัฒนาความสามารถในตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อจะได้สร้างผลงานที่ดี ๆ หรือทำงานให้เหมาะกับความสามารถที่ตัวเองมี
หรือทำงานแบบให้ผ่านไปวัน ๆ แล้วหวังที่จะให้ผู้บริหารปรับเงินเดือนให้เยอะ ๆ
ตอนสิ้นปีน่ะ ก็อาจจะต้องผิดหวังกันแบบนี้ทุกปีแหละครับ
เพราะ
“คุณค่า” หรือ “มูลค่า” ในตัวของท่านที่องค์กรจะจ่ายให้นั้น อยู่กับ P+C ในตัวของท่านนั่นเองครับ
……………………………….