วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บริษัทต้องออกหนังสือรับรองการทำงานทุกกรณีหรือไม่ ?


            ปกติเมื่อพนักงานลาออกจากงานบริษัทก็มักจะออกหนังสือรับรองการทำงาน (ซึ่งภาษาคนทำงานจะเรียกว่า “ใบผ่านงาน”) ไว้เป็นหลักฐานสำหรับพนักงานคนนั้น ๆ ว่าเคยทำงานกับบริษัทตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ และทำงานในตำแหน่งหน่วยงานไหน เพื่อที่พนักงานจะได้นำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงในการไปสมัครงานในบริษัทแห่งใหม่ต่อไป ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ก็จะกำหนดเรื่องการออกหนังสือรับรองการทำงานไว้อย่างเป็นมาตรฐานและเป็นระบบ คือเมื่อมีพนักงานลาออกฝ่ายบุคคลก็จะออกหนังสือรับรองการทำงานให้โดยที่พนักงานไม่ต้องมาแจ้งหรือร้องขอให้บริษัทออกให้

            แต่บางบริษัทก็ยังไม่ทำเป็นระบบอย่างที่ผมบอกมาข้างต้น คือต้องรอให้พนักงานมาร้องขอทางฝ่ายบุคคลเอง พูดง่าย ๆ ว่าถ้าพนักงานไม่มาขอใบผ่านงาน บริษัทก็จะไม่ออกหนังสือรับรองการทำงานให้ ไม่รู้ว่าหวงอะไรกันนักหนาเนี่ยะ

            ผมอยากจะเสนอแนะว่าให้บริษัท (คือฝ่ายบุคคลนั่นแหละครับ) ออกหนังสือรับรองการทำงานให้กับพนักงานทุกครั้งเมื่อพนักงานพ้นสภาพโดยไม่ต้องให้พนักงานมาร้องขอดีกว่า เพราะจะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพของฝ่ายบุคคลและบริษัทก็จะมีมาตรฐานในการทำงานที่ชัดเจนเป็นระบบครับ

            มาถึงอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะเป็นปัญหาที่ถามกันอยู่เสมอ ๆ เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำงานก็คือ....

          ถ้าพนักงานพ้นสภาพไปแบบที่สร้างความเสียหายให้กับบริษัท หรือออกไปแบบ “จบไม่สวย” เช่น พนักงานทุจริตลักขโมยทรัพย์สินของบริษัทไปขายแล้วถูกจับได้มีหลักฐานชัดเจนจนบริษัทต้องเลิกจ้าง หรือพนักงานชกต่อยทำร้ายร่างกายหัวหน้างานแล้วก็ถูกเลิกจ้างไป หรือขาดงานไปเกิน 3 วันบริษัทติดต่อไปยังไงก็ไม่พบตัวจนบริษัทต้องเลิกจ้างไป หรือลาออกแบบไม่เป็นไปตามระเบียบของบริษัทเช่นบริษัทมีระเบียบให้ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันแต่พนักงานยื่นใบลาออกวันนี้มีผลวันรุ่งขึ้นทันทีโดยไม่สนใจกฎระเบียบใด ๆ ทั้งนั้น (เรียกว่าลาออกเอาสะใจไม่แคร์ใครไม่แคร์สื่อก็ได้ครับ) ฯลฯ

            การพ้นสภาพจากพนักงาน (ที่ไม่ปกติ) ตามตัวอย่างข้างต้นเหล่านี้มักจะมีคำถามว่าบริษัทควรจะต้องออกหนังสือรับรองการทำงานหรือไม่ ถ้าบริษัทไม่ออกหนังสือรับรองการทำงานให้พนักงานเหล่านี้จะผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่

            เมื่อมีคำถามเหล่านี้ขึ้นมาเป็นกระทู้ในโลกออนไลน์ก็มักจะมีคนเข้ามาตอบตามความรู้สึกของตัวเองแบบหลากหลาย เช่น ไม่ต้องออกหนังสือรับรองให้หรอกเพราะพนักงานทำผิดกฎระเบียบของบริษัท หรือ

            บ้างก็ว่าไม่ต้องออกหนังสือรับรองให้หรอกเพราะพนักงานประพฤติตัวไม่ดีถูกเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องออกหนังสือรับรองให้ ถ้าพนักงานอยากได้หนังสือรับรองการทำงานก็ให้ไปฟ้อง (ศาลแรงงาน) เอาเอง เรียกว่าตอบคำถามแบบแรงมาก็แรงไป หรือ

            ถ้าเป็นสายพิราบหน่อยก็อาจจะบอกว่าต้องออกหนังสือรับรองให้ทุกกรณีแหละเพราะยังไงเขาก็เคยเป็นพนักงานของบริษัท

            แล้วสรุปว่าตกลงบริษัทจะต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้กับพนักงานหรือไม่ และหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นยังไงกันแน่ ??

            ผมขอนำประมวลกฎหมายแพ่ง (ปพพ.) มาตรา 585 มาให้ท่านดูเพื่อจะได้เข้าใจหลักการที่ถูกต้องดังนี้นะครับ

ปพพ.มาตรา 585

เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร

            นี่จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้องว่า บริษัทจะต้องออกหนังสือรับรองการทำงานให้กับพนักงานที่พ้นสภาพทุกกรณี ไม่ว่าพนักงานจะลาออกเอง (โดยถูกต้องตามกฎระเบียบของบริษัทหรือไม่ก็ตาม) หรือถูกบริษัทเลิกจ้าง (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ๆ) หรือออกจากบริษัทไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม

            ซึ่งในหนังสือรับรองการทำงานก็ให้บริษัทระบุเพียงเรื่องหลัก ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เช่น พนักงานเข้าทำงานกับบริษัทเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ ทำงานในตำแหน่งงานอะไร หน่วยงานไหน เป็นต้น

ส่วนในกรณีที่พนักงานพ้นสภาพไปแบบไม่ดีบริษัทก็ไม่มีสิทธิจะไประบุรายละเอียดไว้ในหนังสือรับรองการทำงานว่า “ได้ลาออกไปอย่างไม่ถูกต้องตามระเบียบของบริษัท”  หรือ “บริษัทเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากพนักงานทุจริต....” ฯลฯ อะไรทำนองนี้นะครับ เพราะจะไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้

            คราวนี้ผมหวังว่าเราคงเข้าใจเรื่องนี้ตรงกันแล้วนะครับ

 

……………………………….