ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 2 พศ.2551 ได้พูดถึงเรื่องของเงินค้ำประกันการทำงานเอาไว้อย่างนี้ครับ
“มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา
51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือ การค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพการทำงานนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง
ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง
ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน
และวิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”
อธิบายแบบง่าย ๆ
ก็คือโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายแรงงานฉบับนี้ไม่อยากจะให้นายจ้างเรียกรับเงิน (รวมถึงหลักประกัน)
เพื่อค้ำประกันความเสียหาย หรือหาคนมาค้ำประกันความเสียหายจากลูกจ้าง
แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าลักษณะหรือสภาพการทำงานนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
เช่น ลูกจ้างมีหน้าที่เป็นพนักงานแคชเชียร์, พนักงานขายเพชรขายทอง,
พนักงานเก็บเงินสดจากลูกค้า, พนักงานเร่งรัดติดตามหนี้สิน เป็นต้น
ซึ่งหากเป็นงานลักษณะดังกล่าวนายจ้างก็อาจจะให้พนักงานหาเงินมาค้ำประกันความเสียหายได้
แต่ก็มีข้อกำหนดไว้อีกว่าวงเงินค้ำประกันความเสียหายนั้นต้องไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน เช่น
ถ้าลูกจ้างมีค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน 400 บาท
นายจ้างก็เรียกเงินค้ำประกันได้ไม่เกิน 400x60=24,000 บาท
โดยนายจ้างจะต้องนำเงินค้ำประกันดังกล่าวไปเปิดบัญชีฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน
โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน
และแจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี เลขบัญชีให้ลูกจ้างทราบภายใน
7
วัน นับแต่วันที่รับเงินค้ำประกันและนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว
หากลูกจ้างไม่ได้ทำอะไรให้ทรัพย์สินของนายจ้างเสียหาย
เมื่อลูกจ้างลาออกหรือพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง
นายจ้างจะต้องคืนเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยให้กับลูกจ้างด้วย
ปัญหาของเรื่องที่เราจะคุยกันในวันนี้ก็คือ
มีบางบริษัทที่เรียกรับเงินค้ำประกันความเสียหายในการทำงานสำหรับตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของบริษัท
และมีกฎระเบียบของบริษัททำนองนี้
1. บริษัทมีข้อบังคับว่าพนักงานที่ประสงค์จะลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้าอย่างน้อย
15 วัน และอยู่ทำงานจนครบ
หากพนักงานไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ถือว่าพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท
บริษัทมีสิทธิไม่คืนเงินค้ำประกันทั้งหมดและพนักงานสละสิทธิในการเรียกร้องเงินรับประกันดังกล่าวเพราะปฏิบัติตนไม่ถูกต้องตามระเบียบของบริษัท
2. บริษัทมีข้อตกลงในสัญญาจ้างไว้ว่า
ในกรณีที่พนักงานลาออกจากบริษัทก่อน 24 เดือน
พนักงานขอสละสิทธิไม่รับเงินค้ำประกันการทำงานคืน
ถามว่าถ้าหากพนักงานทำผิดกฎระเบียบของบริษัทใน
2
กรณีข้างต้น บริษัทจะมีสิทธิยึดเงินค้ำประกันความเสียหายในการทำงานได้หรือไม่
?
คำถามทำนองนี้มีมาบ่อยเลยนะครับ
ซึ่งคนที่ไม่ทราบเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะคาดเดากันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าบริษัท
“น่าจะ” ยึดเงินค้ำประกันได้เพราะพนักงานไม่ทำตามกฎระเบียบ บ้างก็ว่าบริษัท
“น่าจะ” ทำอย่างนี้ไม่ได้ ฯลฯ ก็ว่ากันไปตามความเข้าใจ (ถูกบ้างผิดบ้าง) ของแต่ละคน
ผมก็เลยขอนำหลักการของกฎหมายแรงงานมาทำความเข้าใจกับท่านดังนี้ครับว่า....
กฎ ระเบียบใด ๆ
ของบริษัทที่ประกาศใช้ในบริษัทนั้น หากไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานแล้วกฎระเบียบนั้น ๆ
ก็ยังใช้ได้ แต่ถ้ากฎ ระเบียบ คำสั่ง ใด ๆ
ของบริษัทที่ประกาศออกมาแล้วขัดต่อกฎหมายแรงงานแล้วล่ะก็
เมื่อเป็นคดีไปถึงศาลแรงงานก็มีโอกาสที่กฎ ระเบียบ คำสั่งเหล่านั้นจะเป็นโมฆะ
เพราะมันผิดกฎหมายแรงงานน่ะสิครับ !
เมื่อผมบอกมาอย่างนี้แล้ว
ท่านลองกลับไปอ่านปัญหา 2 ข้อข้างต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้วลองตอบตัวเองดูสิครับว่า
หากบริษัททำตามที่ประกาศไว้แล้วจะผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?
ถูกต้องแล้วคร๊าบบบ....ทั้ง
2 ข้อฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน บริษัทไม่สามารถจะยึดเงินค้ำประกันพนักงานได้น่ะสิครับ
เพราะพนักงานไม่ได้ทำอะไรให้ทรัพย์สินของบริษัทเสียหายสักหน่อย
ลองมาดูคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันดังนี้อีกสักครั้งดังนี้นะครับ
ฎ.8029/2544 “....ลูกจ้างเข้ามาทำงานในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย
นายจ้างมีระเบียบข้อบังคับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างที่ประสงค์จะขอลาออกจะต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า
15 วัน
และอยู่ทำงานจนครบ....หากลูกจ้างลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบลูกจ้างไม่ขอรับเงินประกันคืนทั้งหมด...ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า....นายจ้างต้องคืนเงินประกันการทำงานภายใน
7 วันนับแต่ลูกจ้างลาออก ข้อตกลงไม่คืนเงินประกันกรณีลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา
10 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อลูกจ้างไม่ได้ก่อความเสียหายในระหว่างการทำงาน
นายจ้างต้องคืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้าง”
ฎ.8211/2547 “....นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยมีข้อตกลงว่า
หากลูกจ้างลาออกจากงานก่อน 24 เดือน
ลูกจ้างขอสละสิทธิไม่รับเงินประกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 10
วรรคสอง บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน
หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ
เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ
ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออก
หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี ข้อตกลงไม่คืนหลักประกันแตกต่างไปจากบทบัญญัติพรบ.คุ้มครองแรงงาน
ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะ”
เมื่ออ่านแนวคำพิพากษาทั้ง 2 กรณีข้างต้นแล้ว
ผมเชื่อว่าทั้งบริษัทและพนักงานจะมีความเข้าใจในหลักของกฎหมายแรงงานที่ตรงกันซะทีนะครับ
………………………………….