จากเด็กจนโตจนพร้อมที่จะทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ยุคนี้ก็คงจะต้องใช้เวลาประมาณ
19 ปี คือเรียนอนุบาล 3 ปี ประถม 6
ปี มัธยม 6 ปี และอุดมศึกษาประมาณ 4 ปี ซึ่งระยะเวลาที่ผมบอกมานี้นักเรียนทุกคนก็ล้วนแต่อยู่ในระบบการทดสอบ
โดยมี “ข้อสอบ” เป็นตัวชี้วัดหลัก (Key Performance
Indicators-KPIs) ว่าจะมีความสามารถ “เลื่อนชั้น”
ขึ้นไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่
ซึ่งเรา-ท่านล้วนแต่เคยผ่านระบบอย่างนี้มาทั้งสิ้น
แถมยังเชื่อว่าถ้าใครสอบผ่านได้คะแนนสูง
เมื่อเรียนจบก็จะไปทำงานแล้วจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำงานเก่ง ฯลฯ
จนเกิดค่านิยมในหลายองค์กรที่เวลาจะพิจารณารับคนเข้าทำงานก็จะดูจากสถาบันการศึกษาที่จบมาบ้าง
ดูจากเกรดเฉลี่ยบ้าง คือถ้าผู้สมัครคนไหนจบจากสถาบันการศึกษาชื่อดัง
หรือจบมาด้วยเกรดที่สูงก็จะพิจารณารับเข้าทำงานอย่างง่ายดาย และตั้งเงินเดือนให้สูงกว่าผู้สมัครคนอื่น
ๆ ที่ไม่ได้จบสถาบันที่บริษัทกำหนด หรือมีเกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกียรตินิยมโดยใช้ตรรกะเชื่อโยงแบบ
Halo
Effect (Search คำว่า “Halo Effect กับการบริหารงานบุคคล” ในกูเกิ้ลนะครับ
ผมเคยเขียนไว้แล้ว)
ผลก็คือหลายครั้งที่ความเชื่อแบบนี้เกิดการคัดเลือกคนที่ผิดพลาดเข้ามาทำงานในองค์กร !!
เพราะคนเรียนเก่งสามารถสอบผ่านวิชาใด ๆ ก็ตามได้คะแนนสูง
หรือจบจากสถาบันชื่อดัง ก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จแบบที่จะเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะทำงานเก่งและประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานระยะยาวไปด้วยเสมอไปน่ะสิครับ
แล้วอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้คนประสบความสำเร็จในการทำงาน
?
Competency
คือคำตอบครับ..
อธิบายแบบง่าย
ๆ ก็คือ ถ้าคน ๆ ไหนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ (Knowledge-K) ที่มีอยู่ในตัวเอง,
ใช้ทักษะ (Skills-S) ที่มีอยู่ในตัวเองและตำแหน่งงานนั้น ๆ
ต้องการคนที่มีทักษะหรือความชำนาญในงานแบบนั้น และใช้คุณลักษณะภายใน (Attributes-A)
ที่คน ๆ นั้นมีอยู่ในตัวเอง เช่น
งานในตำแหน่งนี้ต้องการคนที่มีความละเอียดรอบคอบ, ต้องการคนที่มีความรับผิดชอบสูง,
ต้องการคนอดทน ฯลฯ
เห็นไหมครับว่า
K
S A เหล่านี้มันจะต้องมาเรียนรู้และเพิ่มพูนเอาจากการทำงานจริงแทบทั้งหมด
!
โธ่! ก็การทำงานไม่ใช่การท่องตำราไปเพื่อสอบให้ผ่านนี่ครับ..แต่ต้องการคนที่สามารถประยุกต์เรื่องต่าง
ๆ ในงานมาสู่ภาคปฏิบัติได้จริงต่างหาก
พูดง่าย ๆ
ว่าคนที่จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จคือคนที่มี K S A ในตัวเองและสามารถประยุกต์ใช้ K S A ที่มีอยู่ในตัวเองให้เหมาะกับงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่
คน ๆ นั้นก็จะสามารถเติบโตก้าวหน้า ประสบความสำเร็จในงานที่ทำนั้นได้เป็นอย่างดี และเป็นคนที่องค์กรต้องการ ซึ่งเราก็จะเรียกว่าคน
ๆ นั้นมี “Competency” นั่นเองครับ
ส่วนผลการสอบ,
เกรดเฉลี่ย, สถาบันที่จบ
นั้นจะใช้เพียงแค่เป็นข้อมูลในการสมัครงานตอนที่เพิ่งจบใหม่เท่านั้น เมื่อประสบการณ์ทำงานเริ่มมากขึ้นผมว่าคงไม่มีใครนำเอาเกรดเฉลี่ย,
สถาบันที่จบ
มาพิจารณาร่วมกับผลการปฏิบัติงานเพื่อนำไปขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสอย่างแน่นอน
การสอบวิชาต่าง
ๆ นั้นจะใช้วัดผลได้ก็ตอนเรียนหนังสือเท่านั้น
เพราะไม่มีอะไรจะมาวัดสัมฤทธิผลในเรื่องการเรียนได้นอกจากการสอบ
แต่เหตุใดเมื่อเข้ามาสู่โลกการทำงานองค์กรหลายแห่งจึงยังไปยึดติดกับ
“การสอบ” สมัยเรียนมาคาดคะเน แถมคิดมโนไปว่า ถ้าเด็กคนไหนมีผลการทดสอบ
(ไม่ว่าจะเป็นวิชาใด ๆ ขณะเรียนหนังสือ)
ที่ได้คะแนนสูงแล้วจะประสบความสำเร็จในการทำงานไปด้วยล่ะครับ ?
แถมยังไปให้เงินเดือน (ของคนที่สอบได้คะแนนสูงหรือจบจากสถาบันที่บริษัทกำหนดไว้)
สูงกว่าพนักงานคนอื่น ๆ ที่จบคุณวุฒิเดียวกันเสียอีก (บางแห่งเขาเรียน
“ค่าเกียรตินิยม”) ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มทำงานพิสูจน์ฝีมือในการทำงานเลยด้วยซ้ำ
องค์กรที่มีนโยบายแบบนี้จะแน่ใจได้หรือไม่ครับว่าคนที่จบเกียรตินิยม
“ทุกคน” จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า มี Competency เหมาะกับงานที่เขารับผิดชอบ ส่วนคนที่จบ 2.00 หรือคนที่ไม่ได้จบจากสถาบันชื่อดังจะทำงานแล้วไม่ได้เรื่อง
ขาด Competency และไม่มีวันที่จะก้าวหน้า หรือประสบความสำเร็จ
??
ที่ผมพูดมานี้ไม่ได้แปลว่าผมแอนตี้คนที่จบเกียรตินิยมหรือจบจากสถาบันดัง ๆ
นะครับ แต่เพียงแค่อยากจะแชร์ประสบการณ์และให้ข้อคิดในอีกมุมหนึ่ง
เพื่อให้องค์กรได้หันกลับมาคิดทบทวนอย่างมีเหตุมีผล เพื่อไม่ให้ค่านิยมที่เป็น Halo
Effect มาทำให้เกิดปัญหาการจ้างและรับคนเข้าทำงานด้วยตรรกะที่ไม่ถูกต้อง
และยังจะทำให้เกิดปัญหาเชิงแรงงานสัมพันธ์ตามมาในอนาคต
เพราะถ้าจบมาคะแนนสูงแล้วทำงานได้ดีจริงจะได้เงินเดือนมากกว่าคนอื่นคงไม่มีใครข้องใจ
แต่จบมาคะแนนสูงแล้วทำงานก็สู้คนอื่นไม่ได้ แต่ดันได้เงินเดือนมากกว่าคนอื่นตั้งแต่ต้น
ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ฝีมือน่ะมันมีแต่เสียกับเสียนะครับ
เสียแรกคือบริษัทต้องจ่ายค่าจ้างแบบ
Overpaid
คือจ่ายเงินมากในขณะที่พนักงานทำงานไม่คุ้มค่าเงินที่บริษัทจ่ายไป
เสียที่สองคือเสียความรู้สึกสำหรับพนักงานที่ทำงานดีแต่ไม่ได้จบมาได้เกรดสูงหรือไม่ได้จบมาจากสถาบันดัง
ๆ แล้วเสียที่สามคือถ้าคนที่ทำงานดี (แต่ไม่ได้เกียรตินิยมหรือจบสถาบันดัง) รับไม่ได้ก็จะลาออกไปทำให้บริษัทเสียพนักงานที่ทำงานดีไปในที่สุด
ฝากไว้เป็นข้อคิดกันดูสำหรับองค์กรที่ยังมีนโยบายทำนองนี้นะครับ.
……………………………………………