วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เอ่อ..คุณเขมชาติครับ คุณกำลังทำผิดกฎหมายแรงงานนะครับ

            พอดีผมได้ดูละครยอดนิยม “อย่าลืมฉัน” ในตอนที่คุณสุริยงยื่นใบลาออกกับคุณเขมชาติ (คุณทมยันตีผู้ประพันธ์ท่านบอกว่าต้องออกเสียงว่า "เขม-มะ-ชาติ" ถึงจะถูกต้องนะครับ) แต่คุณเขมแกไม่อนุมัติให้ลาออก แถมยังใช้ให้คุณสุไปทำความสะอาดโรงงาน (เพียงคนเดียว) เพื่อเตรียมสถานที่ไว้ต้อนรับลูกค้า ซึ่งคุณสุแกก็เป็นหญิงเหล็กหญิงแกร่งประมาณวันเดอร์วูแมนบวกสไปเดอร์แมนกวาดถู ปีนป่ายทำความสะอาดโรงงานจนเกิดอุบัติเหตุร่วงลงมาเป็นที่น่าสงสาร ทำให้ผู้ชมเกิดอาการดราม่าพากันต่อว่าคุณเขมกันมากมาย

            เนื่องจากผมไม่เห็นว่าบริษัทของคุณเขมมีผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่คอยบอกหรือให้คำแนะนำการปฏิบัติกับลูกจ้างให้ถูกต้อง ก็เลยขออนุญาตเป็นที่ปรึกษาให้ข้อคิดกับคุณเขมบางเรื่องดังนี้ครับ

            เรื่องแรก เมื่อคุณสุยื่นใบลาออกโดยระบุวันที่มีผลนั้นเมื่อถึงวันที่บอกไว้ในใบลาออกคุณสุก็ไม่ต้องมาทำงานอีกแล้วครับ ไม่ต้องรอให้คุณเขมอนุมัติการลาออกเพราะ....

การที่คุณสุเขียนใบลาออกโดยระบุวันที่มีผลที่จะไม่มาทำงานอีกต่อไป และยื่นให้กับคุณเขมก็หมายความว่าคุณสุแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว เมื่อถึงวันที่แจ้งไว้ในใบลาออก คุณสุก็ไม่ต้องมาทำงานโดยไม่ต้องรอว่าคุณเขมหรือผู้บริหารจะอนุมัติหรือไม่ เพราะถือว่าลูกจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง (คือการยื่นใบลาออก) นั่นเอง

หรือถ้าคุณเขมชาติยังไม่เชื่อผมก็ลองดูคำพิพากษาศาลฎีกาตามนี้ก็ได้ครับ

ฎ.6020/2545 ลูกจ้างยื่นใบลาออกต่อนายจ้าง ย่อมถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างมีผลในวันที่ลูกจ้างแจ้งไว้ในใบลาออกนั้นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างได้แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่จำเป็นต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด

แต่เมื่อคุณสุยังอยู่ทำงานต่อไปและคุณเขมก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็ถือว่าใบลาออกไม่มีผลบังคับ และทำให้ยังมีสภาพการจ้างคือคุณสุยังเป็นเลขานุการของคุณเขมต่อไป

          ถ้าคุณสุทำอย่างนี้แสดงว่าไม่ได้อยากจะลาออกจริง ๆ หรือเรียกว่าปากกับใจไม่ตรงกันก็คงได้ครับ

คราวนี้มาว่ากันเรื่องที่สองที่อยากจะบอกทั้งคุณเขมและคุณสุรวมถึงท่านผู้อ่านได้เข้าใจตรงกันว่า การที่คุณเขมใช้คุณสุให้ไปทำความสะอาดโรงงานอย่างนั้นน่ะ ถ้าคุณสุไม่ทำก็ถือว่าคุณสุไม่ได้ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชานะครับ

พูดง่าย ๆ ว่าคุณสุมีสิทธิจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง (คือคุณเขม) ได้เพราะหน้าที่งานของคุณสุคือ “เลขานุการ” ซึ่งงานเลขาฯส่วนใหญ่ก็จะมีหน้าที่ในการเตรียมงานเอกสาร, นัดหมายการประชุม, บันทึกการประชุม, ดูแลรับรองแขกของคุณเขม เป็นต้น

แต่งานที่คุณเขมให้คุณสุไปทำคือทำความสะอาดโรงงานนั้น ไม่ใช่งานของเลขานุการที่พึงจะ
ทำนะครับ

ผมอยากให้คุณเขมลองดูคำพิพากษาของศาลแรงงานดังนี้
ฎ.1896/2543 “ลูกจ้างทำงานอยู่แผนกจัดส่ง มีหน้าที่รับส่งและบรรจุน้ำมันลงถัง การที่หัวหน้างานสั่งให้ลูกจ้างไปตักน้ำมันและไขมันจากท่อน้ำรวมในโรงงานซึ่งมีน้ำสกปรกไหลผ่าน เป็นการสั่งให้ทำงานนอกเหนือหน้าที่ของลูกจ้าง หัวหน้างานไม่เคยใช้ผู้อื่นทำมาก่อน และคำสั่งเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม

            เห็นไหมครับว่ากรณีนี้คล้ายคลึงกันกรณีของคุณเขมมากเลยทีเดียว และคุณก็มีเจตนาจะกลั่นแกล้งคุณสุชัดเจน (ผู้ชมเป็นพยานได้ทุกคนจริงไหมครับ J) ดังนั้นคำสั่งทำนองนี้ไม่เป็นธรรมและไม่ควรทำแบบนี้กับคุณสุอีกนะครับ

            อ้อแถมท้าย..นี่ยังไม่รวมการปฏิบัติของคุณเขมที่ผิดมาตรา 16 ของกฎหมายแรงงานอีกด้วยนะครับ ผมอยากให้คุณอ่านสักนิดดังนี้ครับ

ม.16 ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง

            ดังนั้น การที่คุณเขมจะหาโอกาสไปถูกเนื้อต้องตัวคุณสุ หรือทำรุ่มร่ามอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ อย่างนั้น คุณเขมมีความผิดในมาตรานี้ซึ่งคุณสุสามารถฟ้องศาลแรงงานในเรื่องนี้ได้อีกด้วย (ข้อนี้คุณเอื้อเขาฝากผมมาบอกว่าถ้าคุณยังทำอย่างนี้อีกเขาจะยุให้คุณสุไปฟ้องศาลแรงงานน่ะครับ)

            แต่ยังไงก็ตามสิ่งที่คุณเขมและคุณสุทำไปตามที่ผมเล่ามานี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่าน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายแรงงานในเรื่องราวข้างต้นที่ตรงกัน จะได้มีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในบริษัทของท่านต่อไป

            หวังว่าข้อคิดความเห็นของผมคงไม่ทำให้คุณเขมโกรธจนเลิกจ้างผมเป็นที่ปรึกษานะครับ เพราะเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้องแม้ว่าคุณอาจจะไม่ชอบใจนักก็ตาม

            เข้าใจตรงกันนะครับ 555


…………………………………..