วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความขัดแย้งในองค์กร...มีวิธีจัดการอย่างไร? (ตอนที่ 3)

เมื่อเราได้ทราบถึงรูปแบบ สาเหตุ และประเภทของความขัดแย้งไปแล้ว คราวนี้เราก็มาถึงวิธีการจัดการกับความขัดแย้งกันแล้วนะครับ ลองมาดูกันสิครับว่าท่านมีวิธีการขจัดความขัดแย้งใกล้เคียง หรือแตกต่างจากที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้หรือไม่อย่างไร
วิธีการจัดการกับความขัดแย้ง
            โทมัส กับคิลแมน (Kenneth W. Thomas and Ralph H. Kilmann) ได้ศึกษาว่าในกรณีที่คนเราเมื่อพบกับความขัดแย้งแล้วจะมีวิธีการจัดการ (หรือขจัด) ความขัดแย้งนั้นอย่างไร ซึ่งผลจากการศึกษาได้จำแนกวิธีการจัดการกับความขัดแย้งออกเป็น 5 แนวทางดังนี้คือ
1.      การเอาชนะ (Competition) กล่าวคือ เมื่อคนเราพบกับความขัดแย้งแล้วจะมีคนที่แก้ไขความขัดแย้งนั้นด้วยวิธีการเอาชนะโดยจะเน้นการเอาใจตนเองมุ่งชัยชนะของตนเองเป็นสำคัญ จะใช้อิทธิพล หรือวิธีการ ช่องทางต่าง ๆ เพื่อที่จะให้คู่กรณียอมแพ้ตนเองให้ได้
2.      การยอมให้ (Accommodation) จะเป็นพฤติกรรมที่เน้นการเอาใจผู้อื่น โดยมุ่งสร้างความพอใจให้กับคู่กรณี โดยตนเองจะยอมเสียสละ เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความบาดหมาง หรือผิดพ้องหมองใจระหว่างกัน
3.      การหลีกเลี่ยง (Avoiding) เป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งในลักษณะไม่สู้ปัญหา และไม่ร่วมมือในการแก้ปัญหา ไม่สนใจความต้องการของตนเองและผู้อื่น ไม่สนใจความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พยายามทำตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง พูดง่าย ๆ ว่าจะไม่ยอมรับรู้ หรือทำอะไรทั้งสิ้น เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง จะอยู่เฉย ๆ ทำตัวเป็นก้อนอิฐก้อนหินนั่นแหละครับ
4.      การร่วมมือ (Collaboration) เป็นพฤติกรรมของคนที่จะมุ่งจัดการกับความขัดแย้ง
โดยต้องการจะให้เกิดความพอใจแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งในแบบนี้จะถือได้ว่าเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่เรียกได้ว่า Win-Win ทั้งสองฝ่ายครับ และเป็นวิธีที่เรียกได้ว่าเป็นวิธีในอุดมคติหากทำได้ก็จะเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่ายเลยครับ
5.      การประนีประนอม (Compromising) เป็นความพยายามที่จะให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับความพอใจบ้าง และต้องยอมเสียสละบ้าง ประเภทได้อย่างเสียอย่างไงครับ

จากวิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่ผมได้เล่าให้ท่านทราบมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแต่ละคนก็จะใช้วิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่แตกต่างกันไป ตามแต่บุคลิก ลักษณะ หรือสไตล์ของแต่ละคน เช่น คนที่มีบุคลิกที่ตรงไปตรงมากล้าเผิชญหน้า ยอมหักไม่ยอมงอ ก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีที่หนึ่งคือวิธีเอาชนะมากกว่าวิธีอื่น เป็นต้น

ดูภาพนี้ประกอบ ท่านจะเห็นว่าวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยั่งยืนถาวรคือวิธีการประสานความร่วมมือ (WIN-WIN) นั่นคือคู่ขัดแย้งจำเป็นจะต้องมาสื่อสารเจรจา โดยแต่ละฝ่ายจะต้องบอกความต้องการ, ข้อจำกัด ตลอดจนรายละเอียดของตนเองให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ทั้งสองฝ่ายสามารถจะยอมรับได้ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีฝ่ายไหนจะได้ทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ และไม่ได้เสียไปทั้งหมด อยู่ที่ว่าคู่ขัดแย้งจะยอมรับเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายได้มาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งได้ในที่สุด 



ซึ่งการเจรจาเพื่อยุติข้อขัดแย้งไม่ได้หมายความว่าคู่ขัดแย้งเจรจากันครั้งสองครั้งจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้นะครับ 

อันนั้นก็นิยายมากเกินไป !!

แต่อาจจะต้องเจรจากันเป็นสิบ ๆ ครั้ง หรือมากกว่านั้นก็ได้    แต่สิ่งสำคัญคือแม้การเจรจาในครั้งนั้น ๆ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ แต่ต้องไม่สิ้นหวังหรือทิ้งการเจรจาซึ่งต้องอาจจะต้องทอดระยะเวลาออกไปแล้วค่อยนัดเจรจากันใหม่เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม

แล้วท่านล่ะครับ เมื่อพบกับความขัดแย้ง ท่านใช้วิธีใดในการแก้ไขหรือจัดการกับความขัดแย้ง ?
สรุป
            ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระหว่างบุคคลกับบุคคล บุคคลกับกลุ่ม หรือกลุ่มกับกลุ่มนั้น ไม่ได้มีแต่ผลเสียเพียงอย่างเดียวนะครับ ผลดีจากความขัดแย้งก็มีดังนี้
1.      ทำให้องค์กรไม่หยุดนิ่ง
2.      ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรที่ฉลาดจะนำการเปลี่ยนแปลงนี้มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งพนักงานและองค์กร
3.      ทำให้เกิดความคิดริเริ่มแปลก ๆ ใหม่ ๆ
4.      กระตุ้นให้มีการหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ซึ่งก็จะทำให้เราได้ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงใหม่ ๆ อันจะทำให้ได้แนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน
5.      การขัดแย้งระหว่างกลุ่มจะทำให้สมาชิกในกลุ่มมีความสามัคคีรวมพลัง เกิดความกลมเกลียวกัน
6.      ทำให้เกิดการตรวจสอบการทำงานซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้บุคคลปฏิบัติงานด้วยความไม่ประมาท

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะทำให้ท่านเข้าใจในเรื่องของความขัดแย้ง และมีมุมมองตลอดจนแนวความคิดในเรื่องของความขัดแย้งที่เปลี่ยนไปจากเดิม และหาแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารความขัดแย้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรของท่านในที่สุดแล้วนะครับ.


 ..........................................