วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

จะเซ็นสัญญาว่าหลังลาออกแล้วห้ามไปทำงานในบริษัทคู่แข่งดีหรือไม่

วันนี้ผมมีเรื่องมาคุยกับท่านอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสัญญาจ้างที่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอยู่ในหลาย ๆ บริษัทที่เป็นปัญหาอยู่ว่าตกลงแล้วสัญญาจ้างอย่างที่ว่านี้จะมีผลใช้บังคับได้หรือไม่
          ก็เรื่องของข้อตกลงจำกัดสิทธิในสัญญาจ้างยังไงล่ะครับ
            ถ้าพูดคำนี้อาจจะฟังแล้วงง แต่ผมขอยกตัวอย่างดีกว่า
            หลายบริษัทจะมีสัญญาให้พนักงานเซ็นในลักษณะที่เป็นข้อห้ามหลังจากที่พนักงานพ้นสภาพการจ้าง (ไม่ว่าจะลาออกหรือถูกเลิกจ้างไปแล้วก็ตาม) ไปทำงานในบริษัทอื่นที่มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับนายจ้างยังไงล่ะครับ
            นี่แหละครับเป็นประเด็นที่เราจะพูดกันในเรื่องนี้
            ปัญหามีอยู่ว่า
1. เราควรจะเซ็นสัญญานี้หรือไม่
2. ถ้าเซ็นไปแล้วสัญญานี้จะมีผลผูกพันแค่ไหนอย่างไร ถ้าเซ็นไปแล้วเกิดลาออกไป แล้วต้องทำตามสัญญาว่าจะไม่ไปทำงานในบริษัทที่มีลักษณะงานอย่างที่เราทำที่เราก็มีความรู้ความสามารถอยู่ แล้วเราจะไปทำงานอะไรกันล่ะมิอดตายเลยหรือ
เราลองมาดูคำพิพากษาฎีกาที่ 4368/2549 กันสักนิดดังนี้ครับ
            นายจ้างทำธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ลูกจ้างทำงานเป็นพนักงานชำนาญการด้านผลิตภัณฑ์ มีหน้าที่ติดต่อลูกค้าและประสานงานกับผู้ผลิตในต่างประเทศ รวมถึงมีหน้าที่อบรมวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้แก่ช่าง พนักงาน และลูกค้าของนายจ้าง
            นายจ้างส่งลูกจ้างไปอบรมในต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2539 ถึง 19 สิงหาคม 2543 หลายครั้งหลายรอบ โดยมีข้อตกลงว่าลูกจ้างต้องกลับมาทำงานให้แก่นายจ้าง 3 ปี เมื่อพ้นจากการเป็นพนักงานแล้วจะไม่ไปทำงานกับบริษัทหรือนายจ้างอื่นที่ประกอบธุรกิจการค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับนายจ้างโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาห้ามหลังจากออกจากงานว่าจะมีผลนานเท่าใด
          จึงเกิดปัญหาว่าสัญญานี้เป็นธรรมและจะมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ ?
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อห้ามดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดประเภทธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามลูกจ้างประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้อย่างเด็ดขาด ลูกจ้างสามารถประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงที่ห้ามได้
            ลักษณะของข้อตกลงที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยสมัครใจของคู่กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของลูกจ้างทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามการประกอบอาชีพบางอย่างที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้างเท่านั้น
          จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปได้โดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจย่อมมีผลบังคับได้ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
          ในส่วนข้อห้ามมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลแรงงานกลางว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างให้ต้องรับภาระมากเกินไปตามพรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 2540 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และกำหนดให้มีผลใช้บังคับได้เพียง 2 ปี นับแต่วันที่พ้นจากการเป็นลูกจ้าง....                 
            จากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาคงจะตอบคำถามในข้อ 2 ข้างต้นได้แล้วนะครับว่าถ้าท่านเซ็นสัญญาในลักษณะดังกล่าวไปแล้วจะมีผลเป็นอย่างไร
            ก็เหลือแต่คำถามในข้อ 1 ที่ท่านจะต้องไปคิดต่อเอาเองว่าท่านจำเป็นจะต้องเซ็นสัญญานี้หรือไม่ล่ะครับ ?

………………………………….