เดี๋ยวนี้ผมมักจะได้ยินได้ฟังเรื่องคำถามทำนองนี้ค่อนข้างบ่อยครับ....
“เพิ่งจบปริญญาตรี
การตลาด ตอนนี้ได้เงินเดือนหมื่นห้า อีกกี่ปีถึงได้จะห้าหมื่น”
“จบวิศวะไฟฟ้า
จากม.ของรัฐไม่ดังนัก เกรดเฉลี่ย 2.3 จะได้เงินเดือนถึงแสนบาทอีกกี่ปี”
“เพิ่งจบ
เข้าทำงานที่บริษัท.....อีกกี่ปีถึงจะได้เป็นผู้จัดการ”
ซึ่งผมเชื่อว่าท่านที่จะต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครงานทั้ง
Line
Manager หรือ HR เองอาจจะเคยได้ยินคำถามทำนองนี้จากผู้สมัครงาน
หรือแม้แต่เมื่อรับเข้าทำงานแล้วน้อง ๆ เหล่านี้อาจจะตั้งคำถามทำนองนี้กับพี่ ๆ
ที่ทำงานมาก่อน
แล้วท่านคิดยังไงกับคำถามทำนองนี้ล่ะครับ
?
หลายคนที่เป็นสายฮาร์ดคอร์
พูดจาขวานผ่าซากซะหน่อยก็คงจะตอบสวนไปทันที
“โอ๊ย..ฝันไปเถอะน้องพี่จบมาก่อนตั้งนานตอนนี้ยังได้สองหมื่นกว่าเอง
ถ้าอยากได้มากกว่านี้ก็ต้องไปเป็นเดอะสตาร์ดีกว่ามั๊ง....”
หรือถ้าเป็นสายพิราบเสียหน่อยก็คงจะถามกลับมาว่า....
“แล้วน้องคิดว่าน้องมีความสามารถอะไรที่จะแสดงให้บริษัทเขาเห็นล่ะว่าน้องควรจะได้ห้าหมื่น..”
ก็ต้องยอมรับนะครับว่า
ยุคนี้เป็นยุคของคนเจนเนอเรชั่น วาย (Generation Y หรือ Gen
Y) เป็นยุคของคนที่ต้องการความรวดเร็วฉับไว มีความมั่นใจในตัวเองสูง
วัตถุนิยม กล้าคิด กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ แถมเป็นยุคของโซเชียลเน็ตเวอร์ค (Social
Network) ที่ข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว
มีสื่อออนไลน์ที่ติดต่อกันได้แบบข้ามโลกในเวลาเป็นวินาที เช่น Line,
Whatsapp, Instagram ฯลฯ ดังนั้นเมื่อเพื่อนคนไหนได้ Up เงินเดือนขึ้นหรือประสบความสำเร็จอะไร ก็จะส่งผ่าน Social Network กันทันที ก็จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันในเชิงวัตถุนิยมได้ง่ายและรวดเร็ว
เข้าทำนอง “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่”
ถ้าได้น้อยกว่าเพื่อนก็จะรู้สึกเสียเซลฟ์
เป็นเรื่องจริงที่ทุกคนที่ทำงานต่างก็ต้องการอยากได้เงินเดือนเยอะ
ๆ อยากที่จะก้าวหน้าได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่าคนอื่น
(ถ้าเป็นไปได้) ซึ่งก็จะหมายถึงการปรับเงินเดือนที่สูงขึ้นตามงานและความรับผิดชอบในตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะพิจารณาเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งหรือปรับเงินเดือนให้กับพนักงานระดับใดก็ตาม
ก็คือผู้บริหารขององค์กรนั้น ๆ
แล้วเขาอะไรมาเป็นข้อพิจารณาในการปรับเลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือนล่ะ
?
ก็หนีไม่พ้นเรื่องหลัก ๆ ก็คือ “ผลงาน” และ “ความสามารถ” จริงไหมครับ ?
ผมถึงอยากให้ข้อคิดสำหรับน้อง
ๆ Gen
Y รุ่นใหม่ไฟแรงไว้อย่างนี้
1. มีคำพูดหนึ่งจากผู้บริหารหลายคนที่คุยกับผมว่า
“ไม่เก่งงาน ไม่รู้งานไม่เป็นไร สอนได้ สำคัญว่าเด็กอดทนที่จะเรียนรู้งานหรือเปล่า”
ซึ่งผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้นะครับ เพราะคนใน Generation ก่อนหน้านี้มักจะมีความอดทนและขวนขวายที่จะเรียนรู้หรือแสวงหาความรู้ในงาน
สะสมความรู้ความสามารถให้รู้ลึกรู้จริงในงาน จนหลายครั้งก็ยอมที่จะได้รับค่าจ้างเงินเดือนที่ไม่มากนัก
แต่ขอเพียงเพื่อให้ได้เรียนรู้งานให้มากที่สุดเพื่อจะได้นำงานที่เรียนรู้นั้นกลับมาเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าของตัวเองในวันข้างหน้า
หรือเรียกว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ซึ่งคน Generation Y คงต้องถามตัวเองด้วยว่ามีคุณสมบัติในเรื่องความอดทนเพื่อเรียนรู้ลึกรู้จริงในงานอยู่มากน้อยแค่ไหน
หรือยังทำงานจับจดหนักไม่เอาเบาไม่สู้ ชอบงานสบายแต่ได้ตังค์เยอะ ๆ ไม่รู้จริงแต่คิดว่าตัวเองรู้หมดทุกเรื่อง
ถ้าท่านเป็นเจ้าของกิจการท่านอยากจะจ้างคนแบบนี้ไหมล่ะครับ
2. เมื่ออดเปรี้ยวไว้กินหวานเพื่อสะสมความรู้ความสามารถในงานแล้ว
แน่นอนว่าความสามารถก็จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป
ซึ่งความสามารถนี้ในปัจจุบันก็เรียกกันว่า “Competency” ประกอบด้วย
ความรู้ (Knowledge) ในงานที่รับผิดชอบ, ทักษะ (Skills)
คือความชำนาญในการลงมือปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี และคุณลักษณะภายใน
(Attributes) ที่ดีที่จะมีส่วนสำคัญให้งานประสบความสำเร็จ
เช่น ความขยัน, ความอดทน, ความรับผิดชอบ ฯลฯ โดย Competency นี่แหละครับที่จะมีผลต่อพฤติกรรมของคนทำให้คน
ๆ นั้นทำงานประสบความสำเร็จตามที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี
และมีผลงานออกมาที่น่าพอใจ
3. เมื่อมี Competency แล้วท่านก็จะสามารถรับผิดชอบงานที่อยู่ตรงหน้าตามที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี
แล้วลองกลับมาทบทวนดูสิครับว่าท่านมีผลงานอะไรที่เป็นผลงานที่คนรอบข้าง
(ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า) ยอมรับว่านี่คือผลงานของเรา
พอพูดถึงงานชิ้นนี้ทุกคนก็จะต้องยอมรับและบอกว่านี่แหละผลงานของเรา และตอนนี้ผลงานของท่านมีมาก-น้อยแค่ไหนแล้ว
หรือจะพูดง่าย ๆ ว่าเคยสะสม Portfolio ผลงานที่ประสบความสำเร็จของตัวเองเอาไว้บ้างหรือเปล่าว่ามีอะไรบ้าง
4. เมื่อมีความพร้อมทั้งความสามารถ
(Competency) ผลงาน (Performance) แล้ว
ท่านก็จะมีพื้นฐานที่แน่นในเรื่องงานและเติบโตแบบยั่งยืน
ก็ย่อมจะเป็นดาวเด่น (Talent
หรือ Star) ในองค์กรที่ไม่ว่าจะผู้บริหารภายในก็จะเห็นแววหรือศักยภาพในตัวท่าน
หรือแม้แต่องค์กรภายนอกที่อยากจะส่งเทียบเชิญไปร่วมงานด้วยในที่สุด
ดังนั้น
แทนที่จะถามคนอื่นว่า “อีกกี่ปีจะได้เงินเดือนแสน” ผมว่าลองกลับมาทบทวน “ผลงาน”
และ“ความสามารถ” ในตัวเองว่ามีมากเพียงพอแล้วหรือยังก่อนที่จะไปคิดให้ใครเขาปรับขึ้นเงินเดือนให้จะดีไหม
เพราะทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตัวของท่านไม่ใช่คนอื่น
จริงไหมครับ ?
………………………………..