ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากจะรู้เรื่องลับ ๆ
ไม่ว่าจะเป็นความลับส่วนบุคคล, ความลับของหน่วยงาน, ขององค์กร ฯลฯ
ยิ่งลับยิ่งอยากรู้
ในขณะที่ก็จะมีคนอีกจำนวนหนึ่งเหมือนกันที่พอรู้ความลับก็เก็บเอาไว้ไม่อยู่
เมื่อรู้เรื่องที่ลับ ๆ มาก็อยากจะ “แฉ” ไม่ว่าจะแฉแต่เช้าหรือแฉยันเย็นยันดึกก็อดใจไว้ไม่ได้จะต้องหาทางไปนั่งเม้าท์มอยบอกเพื่อน
บอกญาติพี่น้อง ฯลฯ ระบายความลับเหล่านั้นออกไปบ้างไม่งั้นจะรู้สึกเหมือนอกจะแตกเสียให้ได้
ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะเป็นพวกที่เรียกว่า “อะไรที่เรารู้
(ความลับเรื่องอะไรก็ตาม)....โลกต้องรู้”
จากที่ผมเกริ่นนำมาข้างต้นก็เพื่อต้องการจะนำท่านเข้าสู่เรื่องของ
HR
กับความลับนี่แหละครับ !!
อยากจะฝากข้อคิดกับคนทำงานอาชีพ HR ด้วยกันว่า การทำงาน
HR นั้น
เราจะต้องเป็นคนกลางระหว่างผู้บริหารกับพนักงานซึ่งจะต้องได้รับรู้เรื่องราวของทั้งสองฝ่ายและจะได้ยินได้ฟังเรื่องลับ
ๆ ของทั้งสองฝ่ายนี้อยู่เป็นประจำ เช่น....
1. ในที่ประชุมเลื่อนตำแหน่งพนักงาน
ผู้จัดการฝ่ายคนหนึ่งเสนอให้ลูกน้องที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าที่ประชุมผู้บริหารให้พิจารณาเลื่อนตำแหน่ง
แต่เมื่อถูกผู้บริหารซักถามเกี่ยวกับลักษณะงานและคุณสมบัติของลูกน้องมาก ๆ เข้า
ผู้จัดการฝ่ายก็เลยขอถอนเรื่องการเสนอเลื่อนตำแหน่งลูกน้องคนนี้ออกมาก่อนดีกว่า หรือ....
2. พนักงานมานั่งปรับทุกข์ในเรื่องปัญหาทางบ้านที่ทะเลาะกับภรรยาอยู่บ่อย
ๆ เพราะภรรยาเป็นคนขี้หึงชอบระแวงว่าสามีจะไปมีกิ๊กทั้ง ๆ
ที่เขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้นสักหน่อยกับ HR เพราะคิดว่าเผื่อจะได้คำแนะนำอะไรดี
ๆ บ้าง
จากแค่เพียงสองตัวอย่างข้างต้นที่ถ้าหากคนทำงาน
HR จะต้องเข้าไปรับทราบข้อเท็จจริงอยู่ในห้องประชุมหรือได้ฟังทุกข์ของพนักงานแล้วเกิดเป็นคนที่เก็บความลับไว้ไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้นครับ
ก็คงจะต้องนำออกไปบอกต่อทำนองนี้....
1. พนักงานที่ได้รับการเสนอให้เลื่อนตำแหน่งไม่กล้าถามผลจากหัวหน้า
ก็เลยดอดมาถาม HR ว่าผลการประชุมเลื่อนตำแหน่งเป็นยังไงบ้าง
จะมีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งครั้งนี้กับเขาบ้างไหม HR ก็แฉทันทีว่า
“คุณอย่าไปหวังอะไรจากหัวหน้าของคุณเลย ผมเห็นเขานั่งจ๋อย ชี้แจงเรื่องความเหมาะสมของคุณไม่ได้ซักอย่าง
แถมพอจะจนมุมก็เลยตัดบทขอถอนเรื่องที่เสนอให้คุณเลื่อนตำแหน่งกลับมาก่อนเฉยเลย
แต่คุณก็อย่าไปบอกแกนะว่าผมบอก....” หรือ....
2. พอเจอผู้จัดการฝ่ายของพนักงานที่มีปัญหาเรื่องปัญหาทางบ้านก็เข้าไปรายงานทันที
“คุณรู้เรื่องลูกน้องคุณบ้างไม๊”
แน่นอนว่าพอขึ้นต้นแค่นี้ผู้จัดการฝ่ายก็ต้องมีคำถามต่อว่า “เรื่องอะไรล่ะ”
เท่านั้นแหละครับ เรื่องราวที่พนักงานเล่าให้ฟังก็พรั่งพรูไปสู่ผู้จัดการฝ่าย ทั้ง
ๆ ที่ตัวพนักงานเองไม่อยากจะให้หัวหน้ารู้ถึงได้มาปรึกษากับ HR ซึ่งเมื่อหัวหน้าของเขารู้ก็อาจจะมีผลกระทบกับงานของเขาได้
ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างง่าย
ๆ สักสองเรื่องข้างต้นนี้ก็เพื่ออยากจะให้ข้อคิดเตือนใจคนทำงาน HR
ว่านี่คือจรรยาบรรณของคนทำงาน HR ที่จะต้องเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้เป็นความลับ
เพราะยิ่งพูดออกไปยิ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายในเชิงแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร
แต่คนบางคนอาจจะไม่คิดอย่างนั้น เพราะเขาจะคิดว่ายิ่งได้แพลมความลับออกไปเป็นระยะ
ๆ ก็จะเป็นการสร้างความสำคัญให้กับตัวเองประมาณว่าฉันก็เป็น Insider คนหนึ่งที่รู้เรื่องราวเหล่านี้ดีนะ ฉันอยู่ใกล้แหล่งข่าว ฉันรู้จริง ฯลฯ หรือพูดง่าย
ๆ ว่าอยากจะอวดว่าฉันแสนรู้ก็ได้กระมังครับ
ผมเคยทำงาน
HR ในบริษัทแห่งหนึ่งที่ MD อยากจะให้ผมเอาเรื่องของพนักงานมาเล่าให้ฟังว่าพนักงานคนไหนนินทาอะไร
MD บ้าง (ซึ่งแกคงจะเอาไว้ให้คุณให้โทษกันตอนปลายปีสำหรับคนที่เป็นลูกรักหรือลูกชัง)
ผมก็ต้องบอกว่า “ไม่ทราบ”
เสียส่วนใหญ่เวลาแกถามถึงพนักงานคนนั้นคนนี้ว่าพูดถึงแกว่ายังไงบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าผมบอกไปตามที่พนักงานเหล่านั้นพูดกับผมก็จะมีผลร้ายกับพนักงานเหล่านั้นแหง
ๆ จนแกมักจะบอกกับผมว่า “ทำไมคุณไม่รู้เรื่องของพนักงานบ้างเลย” ก็ได้แต่คิดในใจว่าก็เรื่องที่พี่อยากรู้มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับทั้งตัวพี่และบริษัทเลยนี่ครับ
ผมจะถือหลักว่าถ้าสิ่งที่ผมรู้จะทำให้เกิดความเสียหายกับองค์กรหรือตัวบุคคล
เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นแล้ว
ผมก็จะหาวิธีบอกเรื่องเหล่านี้อย่างระมัดระวังเพื่อให้เกิดผลดีกับส่วนรวมทั้งหมด
บางเรื่องอาจจะจำเป็นต้องบอกทั้งหมดให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ
แต่บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องบอกทั้งหมดโดยบอกเพียงประเด็นสำคัญก็พอเพื่อไม่ให้เรื่องบานปลายแต่ถ้าเป็นเรื่องเอามาเม้าท์แบบเล่าสู่กันฟังเฉย
ๆ หรือพูดแล้วทำให้คนที่เขาไว้ใจมาบอกเราเกิดความเสียหายแล้วผมก็ไม่ทำอย่างแน่นอน
จากที่ผมแชร์ประสบการณ์มาทั้งหมดก็เพื่ออยากจะให้เพื่อน
ๆ ที่ทำงาน HR
ได้มีวิจารณญาณที่ดีในเรื่องเหล่านี้ และควรจะตั้งสติยั้งคิดให้ดีถือหลักที่ว่า
คิดก่อนพูดและไม่ต้องพูดทุกอย่างที่เราคิดก็ได้นะครับ
สำหรับผมแล้ว เนื่องจากการทำงาน HR เป็นงานที่ต้องอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายพนักงาน
ผมจึงเห็นว่าเรื่องของการเก็บรักษาความลับอย่างเหมาะสมทั้งของทางด้านผู้บริหารและด้านพนักงาน
โดย HR จะต้องรู้ว่าเรื่องใดควรพูดหรือเรื่องใดไม่ควรพูด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายกับองค์กรในภาพรวมเป็นจรรยาบรรณสำคัญเรื่องหนึ่งในงาน
HR ครับ
............................................