วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เหตุใดจึงต้องทดลองงาน 120 วัน ใครควรพิจารณาว่าผ่านทดลองงานหรือไม่ ?



            เวลาบริษัทรับคนเข้าทำงาน ท่านเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมบริษัทจะต้องมีการให้ทดลองงานและทำไมต้องทดลองงาน 120 วันเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำไมถึงทดลองงาน 60 วัน, 90 วัน, 180 วัน หรือทดลองงานสัก 1 ปีไม่ได้หรือ นี่คำถามข้อแรกนะครับ
            ส่วนคำถามข้อที่ 2 ก็คือ เมื่อพนักงานทดลองงานครบกำหนด (เช่น 120 วัน) แล้ว ใครควรเป็นคนพิจารณาว่าจะผ่านทดลองงานหรือไม่ หัวหน้าหน่วยงานนั้น ๆ หรือฝ่ายบุคคล ?
            เรามาตอบข้อสงสัยในคำถามแรกกันก่อนนะครับ
          ผมเคยถามผู้เข้าอบรมในหัวข้อกฎหมายแรงงานอยู่เสมอ ๆ ว่า “เหตุใดถึงต้องมีการทดลองงาน 120 วัน ?” แล้วก็จะได้รับคำตอบจากผู้เข้าอบรมบ่อยครั้งว่า
เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดไว้อย่างนั้น !?
            เพื่อพิสูจน์ว่าคำตอบนี้ถูกต้องหรือไม่ก็ต้องไปเปิดดูพรบ.คุ้มครองแรงงานดูทั้ง 166 มาตรา เอ้า ! ผมให้เวลาท่านไปเปิดดูสิครับว่ามีมาตราใดเขียนว่าให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทดลองงาน 120 วันนั้นมีหรือไม่ เปิดดูเลยครับ....
            ติ๊กต็อก...ติ๊กต็อก.....หมดเวลา....
            หาเจอไหมครับ....ไม่เจอหรอก....เพราะไม่มีมาตราไหนเขียนเอาไว้อย่างนี้แน่นอน
          อ้าว....ถ้างั้นเจ้าตัวเลขมหัศจรรย์ (Magic Number) 120 วันมันมาจากไหนกันล่ะ ?
            ตอบได้อย่างนี้ครับ....
            ท่านลองเปิดไปดูมาตรา 118 ที่เขาพูดถึงเรื่องของการจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ได้กระทำความผิดทางวินัยร้ายแรงงาน เช่น ลูกจ้างที่ทำงานไม่ดีไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่นายจ้างกำหนด, ลูกจ้างขี้เกียจ, นายจ้างไม่ชอบโหวงเฮ้งของลูกจ้างเพราะหมอดูบอกว่าจะเป็นกาลกิณีกับบริษัท, ลูกจ้างสุขภาพไม่ดีสามวันดีสี่วันป่วย ฯลฯ เมื่อจะเลิกจ้างนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานโดยกำหนดตั้งแต่ 120 วันไม่เกิน 1 ปี ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน (หรือพูดภาษาชาวบ้านว่าจ่ายค่าชดเชย 1 เดือน) ครับ
          ดังนั้น ถ้าหากทดลองงานกันตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป แม้พนักงานจะทำงานไม่ดีจนไม่ผ่านทดลองงาน บริษัทจะเลิกจ้างก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานในอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
            แต่ในทางปฏิบัติพนักงานที่ไม่ผ่านทดลองงานเมื่อครบ 120 วัน ก็มักจะไม่รอให้บริษัทเลิกจ้างเพราะจะเสียประวัติ หากจะไปสมัครงานที่อื่นเวลาเขาสอบถามว่าพ้นสภาพจากที่เดิมด้วยสาเหตุอะไร ก็ต้องตอบไปว่า “ถูกเลิกจ้างเพราะไม่ผ่านทดลองงาน” ซึ่งอาจจะเป็นเหตุทำให้กรรมการสัมภาษณ์เขาไม่รับเข้าทำงาน ก็เลยเขียนใบลาออกจะดีกว่า
ซึ่งถ้าเขียนใบลาออกก็จะไม่ได้รับค่าชดเชย 1 เดือนเนื่องจากเป็นการสมัครใจลาออกเอง
          จากสาเหตุใดกล่าวถึงได้เป็นที่มาของการทดลองงานไม่ให้เกิน 119 วันเผื่อไว้ว่าถ้าพนักงานทดลองงานกล้าได้กล้าเสีย ยอมให้บริษัทเลิกจ้างบริษัทจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 30 วันเนื่องจากอายุงานยังไม่ถึง 120 วันยังไงล่ะครับ
            คราวนี้มาคำถามที่สองคือ แล้วใครควรเป็นคนพิจารณาว่าพนักงานทดลองงานควรจะผ่านทดลองงานหรือไม่ ?
          โดยหลักสามัญสำนึก โดยหลักเหตุและผล ก็ควรเป็นหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาของพนักงานคนนั้น ๆ ใช่ไหมครับ ?
            ผมก็เชื่อว่าส่วนใหญ่ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงพยักหน้าเห็นด้วยกับหลักการนี้ แต่....
            จากที่ผมพบเห็นมากลับไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิครับ....
            หลายแห่งยังโบ้ยมาให้ฝ่ายบุคคลเป็นคนตัดสินใจว่าพนักงานของฝ่ายนั้น ๆ จะผ่านทดลองงานหรือไม่ โดยหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาโดยตรงบอกว่า “เป็นเรื่องของคน ฝ่ายบุคคลต้องพิจารณา”
            มันแปลกดีนะ....ลูกน้องตัวเองทำงานดีหรือไม่ดีบอกไม่ได้ (ไม่กล้าบอก) แต่โยนไปให้คนอื่นที่ไม่ได้ทำงานอยู่ด้วย (เช่นฝ่ายบุคคล) เป็นคนตัดสินใจว่าลูกน้องของตัวเองควรจะผ่านทดลองงานหรือไม่
            ผมมักจะพูดทีเล่นทีจริงอยู่เสมอว่า “ไม่ใช่แฟน..ทำแทนไม่ได้” นะครับ “วัวของใครก็เข้าคอกคนนั้น” ไม่ใช่จะมาอ้างว่าเป็นเรื่องของคน แล้วมาเหมาว่าฝ่ายบุคคลต้องพิจารณาตัดสินใจ แล้วถามว่า “งั้นบริษัทจะตั้งคุณมาเป็นหัวหน้างานไว้ทำอะไรล่ะครับ”
            หัวหน้ากับลูกน้อง ก็เหมือนกับพ่อแม่กับลูกนั่นแหละ ถ้าพ่อแม่ไม่ดูแลลูกของตัวเองจะไปโบ้ยให้ครูหรือโรงเรียนดูแล เขาก็ดูได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วพ่อแม่ก็ยังต้องดูแลลูกของตัวเอง
          แต่ถ้าหัวหน้างานบอกว่าจะไม่ดูแลลูกน้องของตัวเอง ไม่อยากจะรับผิดชอบลูกน้องของตัวเองแต่จะคอยปัดความรับผิดชอบไปให้คนอื่น บริษัทก็ไม่ควรจะแต่งตั้งคนที่มีความคิดทำนองนี้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าเป็นผู้บังคับบัญชานะครับ
            เพราะนอกจากจะขาดภาวะผู้นำ (Leadership) ไม่กล้าแม้แต่จะแจ้งผลกับลูกน้องทดลองงานแล้ว บริษัทยังจะได้คนที่ขาดความรับผิดชอบขึ้นมาเป็นผู้บริหารอีกด้วย ซึ่งหลายบริษัทที่มีปัญหาในเรื่องคนทุกวันนี้ก็เพราะผู้บริหารที่ไม่กล้าและขาดความรับผิดชอบในเรื่องคนทำนองนี้แหละครับ
            ตกลงมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านคงจะได้คำตอบแล้วนะครับว่าใครควรเป็นคนพิจารณาให้พนักงานในหน่วยงานของตัวเองผ่านทดลองงานหรือไม่

……………………………………..