วันนี้มีคำถามเข้ามาว่าทำงานโครงการ ๆ หนึ่งและบริษัทได้ทำสัญญาไว้ 1
ปี เมื่อทำงานครบเวลา 1 ปีแล้วบริษัทจะให้ต่อสัญญาไปอีก
1 ปี เพราะโครงการยังไม่เสร็จหากลูกจ้างตกลงต่อสัญญาออกไปแล้วทำงานครบสัญญาครั้งที่สองจะได้รับค่าชดเชยหรือไม่
เพราะไปสอบถามบริษัทแล้วได้รับแจ้งว่าไม่จ่ายค่าชดเชยเนื่องจากครบสัญญาจ้างตามโครงการ
ในกรณีนี้ผมขอแยกแยะให้ท่านเห็นภาพของสัญญาจ้างดังกล่าวดังนี้ครับ
1.
สัญญาจ้างครั้งแรกถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีระยะเวลา
คือสัญญาจ้างที่มีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานตามโครงการที่ชัดเจน
เช่น กำหนดระยะเวลาทำงานเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคมแล้วถือว่าสัญญาหมดลง
นายจ้างก็ไม่ต้องเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง
ส่วนลูกจ้างก็ไม่ต้องยื่นใบลาออก ดังนั้นวันที่ 1 มกราคมปีถัดมาลูกจ้างก็ไม่ต้องมาทำงานอีกเนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง
2.
แต่ในกรณีที่ท่านถามมาคือเมื่อครบกำหนดสัญญาตามข้อ
1 แล้ว นายจ้างก็ต่อสัญญาและให้ลูกจ้างมาทำงานต่อไปอีก 1 ปี คือให้มาเริ่มงานวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคมของปีถัดมานั้น ในกรณีนี้ถือว่าสัญญาจ้างในครั้งที่สองนี้เป็นสัญญาจ้างแบบไม่มีระยะเวลาไปแล้วล่ะครับ
เพราะเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างฉบับแรกแล้วก็ยังมีการต่อสัญญากันไปอีกก็แสดงว่าสัญญาจ้างฉบับที่สองเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีระยะเวลา
เพราะไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างฉบับแรก
3.
ความหมายของสัญญาจ้างไม่มีระยะเวลาก็คือสัญญาจ้างงานทั่ว
ๆ ไปที่เราเรียกแบบชาวบ้านว่าสัญญาจ้างพนักงานประจำนั่นเอง
ดังนั้นหากนายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานที่ลูกจ้างทำงานมาตามมาตรา
118
ดังนี้ครับ
มาตรา ๑๑๘
ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(๑)
ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน
หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(๒)
ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี
แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(๓)
ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(๔)
ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(๕)
ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป
ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน
หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า
การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้
ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด
และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน
หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นให้ท่านอ่านข้อความในวรรคสุดท้ายของมาตรา
118 ที่ผมขีดเส้นใต้อีกครั้งนะครับ
4.
ดังนั้นจากมาตรา 118 ข้างต้น หากครบกำหนดสัญญาครั้งที่สอง
แล้วนายจ้างไม่ประสงค์จะจ้างอีกต่อไป
ก็จะต้องเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างตามอายุงานโดยนับอายุงานตั้งแต่วันแรกที่มาทำงานตามสัญญาจ้างครั้งแรก
จึงได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
(ไม่รวมค่าบอกกล่าวล่วงหน้า) ครับ
สรุปว่างานนี้ถ้าบริษัทจะไม่ให้มาทำงานอีกในครั้งที่สองก็ถือว่าบริษัทเลิกจ้างดังนั้นลูกจ้างก็จะได้รับค่าชดเชยนะครับ
เพราะตั้งแต่เริ่มจ้างครั้งแรกทำสัญญาไว้ 1 ปี
แต่ไม่ทำตามสัญญาแล้วมาต่อสัญญาครั้งที่สองอีก 1 ปี
ก็แสดงว่าสัญญาจ้างนี้กลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีระยะเวลาไปแล้วน่ะสิครับ
……………………………………..