วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข้อคิดในการบริหารพนักงาน Outsource (ตอนที่ 1)



บทนำ
            ปัจจุบันนี้องค์กรต่าง ๆ มีการว่าจ้างพนักงานจากบริษัทภายนอกเข้ามาทำงานทั่ว ๆ ไปมากขึ้น เช่น งานรับโทรศัพท์, งานรับ-ส่งเอกสาร, พนักงานขับรถยนต์, แม่บ้าน, งานในสายการผลิต ฯลฯ และบางแห่งก็ขยายไปถึงงานเฉพาะด้าน เช่น  งานด้านคอมพิวเตอร์, เลขานุการ, จ่ายเงินเดือนพนักงาน, งานด้านการตลาด ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการจ้างพนักงาน Outsource เหล่านี้ก็เพื่อเป็นการลดอัตรากำลังพนักงานประจำลงและจะมีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (Staff Cost) ลงไปด้วย ไม่ต้องมามีภาระผูกพันว่าพอถึงสิ้นปีจะต้องคอยมาจ่ายโบนัสหรือต้องปรับเงินเดือนขึ้นให้ หรือแม้แต่การลดภาระในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสมทบประกันสังคม, ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ เพราะเรื่องเหล่านี้บริษัทคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบไป
หรือถ้าปริมาณงานลดลง หรือออเดอร์ลดลงก็ยังสามารถจะลดจำนวนคนลงตามปริมาณงานโดยไม่ต้องพะวงถึงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเหมือนกับการจ้างเข้ามาเป็นพนักงานประจำ หรือแม้แต่หากพนักงาน Outsource ทำงานไม่ดี หรือความประพฤติไม่เหมาะสมก็แค่บอกไปทางบริษัทคู่สัญญาให้เขาเปลี่ยนตัวให้คนใหม่เข้ามาทำงานทดแทนได้
            จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่าการจ้างแบบ Outsourcing นี้จะมีแต่ข้อดีสำหรับองค์กรใช่ไหมครับ ?
          เป็นธรรมดาของเหรียญที่ต้องมีทั้งสองด้านอยู่เสมอ !
ดังนั้นผมจึงจะขอเล่าถึงอีกด้านหนึ่งของวิธีการจ้างพนักงาน Outsource ที่อาจจะเกิดปัญหาให้กับองค์กรของท่าน เพื่อเป็นข้อคิดให้ท่านเตรียมการบริหารจัดการระบบ Outsourcing ในองค์กรของท่านให้ราบรื่นขึ้น

ปัญหาของการจ้างพนักงาน Outsource
            แม้ว่าการจ้างพนักงาน Outsource ดูเหมือนจะมีข้อดีในด้านต่าง ๆ กับองค์กรดังที่ผมได้เล่าให้ท่านฟังในข้างต้นไปแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งเรามักพบปัญหาในการจ้างพนักงาน Outsource ที่พบเห็นได้บ่อย ๆ มีดังนี้

1.      คุณภาพของพนักงาน Outsource ไม่เป็นไปตามที่องค์กรต้องการ : หาก
เป็นการจ้างในตำแหน่งงานงานทั่ว ๆ ที่ไม่กระทบต่อองค์กรโดยตรง เช่น งานรับ-ส่งเอกสาร, งานแม่บ้านทำความสะอาด ปัญหาในเรื่องนี้อาจจะยังไม่มีผลกระทบต่อองค์กรมากนัก
แต่หากเป็นพนักงานที่อยู่ในสายการผลิตที่จะต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดภายในเวลาที่กำหนดเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าทันตามเวลาแล้วพบว่าพนักงาน Outsource ที่จ้างเข้ามาไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่องค์กรกำหนดไว้  ก็จะมีความเสียหายกับเนื้องานที่จะต้องมาแก้ไขกันอีก
รวมถึงการจ้าง Outsource มาให้บริการกับลูกค้าที่หน้างานโดยตรงถ้าพนักงาน Outsource แสดงพฤติกรรมการบริการลูกค้าที่ไม่เหมาะสมออกไปหัวหน้างานที่รับผิดชอบในจุดที่เป็นปัญหาเหล่านั้นจะต้องมาคอยตามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยความเหนื่อยอกเหนื่อยใจไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ
2.      อัตราการลาออกของพนักงาน Outsource สูง : นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มักจะพบ
อยู่เสมอ ๆ เพราะในวันนี้เขามาทำงานกับองค์กรเราเป็นพนักงาน Outsource แต่วันใดที่เขาหางานประจำได้  เขาก็ย่อมต้องการความมั่นคงจากการเป็นพนักงานประจำในองค์กรที่มีชื่อเสียง หรือมั่นคงกว่าการเป็นพนักงาน Outsource เป็นธรรมดาครับ โดยเฉพาะคนที่มีคุณภาพหรือมีศักยภาพ หรือเป็นคนเก่ง ๆ ก็ย่อมจะมีโอกาสได้งานประจำง่ายขึ้นไปอีก
              เราจึงมักจะพบอยู่เสมอ ๆ ว่าพนักงาน Outsource ที่ทำงานดี  มีความรับผิดชอบสูงเมื่อเข้ามาทำงานในองค์กรของเราไม่นานก็จะหายหน้าหายตาไปอีกแล้ว เพราะได้งานประจำ  แม้บริษัทต้นสังกัดจะส่งคนมาทดแทนแต่ก็ต้องมาเริ่มต้นสอนงานกันใหม่อีกทุกครั้ง  ผลก็คือทำให้งานเกิดการสะดุดไม่ต่อเนื่อง  หลายครั้งที่ผมไปบรรยายในองค์กรต่าง ๆ มักจะมีคำบอกเล่าปนความเหน็ดเหนื่อยทำนองนี้จากหัวหน้างานหรือคนที่จะต้องเป็นครูสอนงานพนักงาน Outsource อยู่บ่อย ๆ ครับ
3.      การวางแผนอัตรากำลังที่ไม่เหมาะสมระหว่างพนักงานประจำกับพนักงาน Outsource : ในบางองค์กรมีการจ้างพนักงาน Outsource เข้ามามากโดยอาจเป็นอัตราส่วนระหว่างพนักงาน Outsource ต่อ พนักงานประจำ 30 : 70 หรือ บางที่อาจจะเป็น 40 : 60  หรืออาจจะมากกว่านี้ ซึ่งเท่ากับว่าองค์กรนั้นกำลังฝากอนาคตไว้กับพนักงาน Outsource ซึ่งไม่ใช่พนักงานประจำ และมีความเสี่ยงต่อการควบคุมคุณภาพในการผลิตหรือการบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
4.      พนักงานประจำรู้สึกว่าตนเองมีรายได้ต่ำกว่าพนักงาน Outsource :   ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าสมมุติว่าเดิมองค์กรของเราเคยจ้างพนักงานปฏิบัติการเป็นพนักงานประจำเดือนละ 10,000 บาท แต่พอเราเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการจ้างพนักงานปฏิบัติการแบบ Outsource เราจะต้องจ้างที่เดือนละ 12,000 ถึง 13,000 บาท เพราะบริษัทที่เป็น Outsourcing เขาจะต้องมีค่าใช้จ่ายดำเนินการต่าง ๆ เช่นต้องดูแลเรื่องเงินเดือน, สวัสดิการ   และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของพนักงาน Outsource ที่ส่งมาให้องค์กรของเรา เมื่อพนักงานของเรามาทำงานร่วมกับพนักงาน Outsource ก็คงอดที่จะสอบถามเรื่องผลประโยชน์กันไม่ได้และก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดการเปรียบเทียบ
เพราะเรื่องสำคัญก็คือ “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่” จริงไหมครับ ?
ก็เลยทำให้เกิดปัญหาการเกี่ยงงานกัน, จับผิดซึ่งกันและกัน หรือทำให้พนักงานประจำเกิดทัศนคติไม่ดีต่อองค์กรหรือผู้บังคับบัญชาคิดว่าองค์กรไม่ยุติธรรมต่อตนเองทำไมให้เงินเดือนต่ำกว่าพนักงาน Outsource ฯลฯ
            ผมได้ให้ข้อสังเกตกับท่านในเรื่องปัญหาบางประการของการจ้างพนักงาน Outsource ไปแล้ว ในตอนหน้าเราจะมาพูดกันในเรื่องที่ว่าแล้วเราจะจัดการเรื่อง Outsource กันยังไงต่อนะครับ


..................................................