คำถามที่ต่อเนื่องมาจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในเรื่องอายุงานยังไม่ถึงปีแต่ถ้ามีเหตุจำเป็นจะต้องลาควรจะทำยังไงดี ท่านที่ยังไม่ได้อ่านก็ลองย้อนกลับไปอ่านอีกครั้งหนึ่งได้นะครับ
แต่มาสัปดาห์นี้มีคำถามเข้ามาใหม่ว่า เข้าทำงานเมื่อ 1 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว (2554) เมื่อทำงานครบ 1 ปีในปีนี้ (1 พย.55) ไปยื่นใบลาพักร้อนกับหัวหน้า แต่ไม่ได้รับการอนุมัติด้วยคำตอบว่าช่วงปลายปีมีงานเยอะให้ลาไม่ได้
จะทำยังไงดี !!??
ผมขอยกมาตรา 30 ของพรบ.คุ้มครองแรงงานปี 2541 มาให้ดูอีกครั้งก่อนดังนี้ครับ
มาตรา ๓๐
ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้
นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อๆ
ไปได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี
นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้
โปรดสังเกตที่ผมขีดเส้นใต้ตัวดำ ๆ ที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจน ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ....
หากทำงานมาครบ 1 ปีก็ต้องได้สิทธิลาหยุดพักร้อน 6 วันทำงานเป็นอย่างน้อยล่ะครับ
ดังนั้น ถ้าจะถามว่าแล้วถ้าหัวหน้า (ซึ่งก็คือบริษัทหรือนายจ้างนั่นแหละครับ) ไม่ให้ลาจะทำยังไง ?
ถ้าจะให้ยุติธรรมกับพนักงานก็คือ
1. บริษัทควรจะจ่ายค่าลาพักร้อนคืนกลับมาเป็นจำนวนเท่าสิทธิวันลาพักร้อนคือ 6 วันทำงาน หรือ
2. สะสมวันลาที่บริษัทไม่อนุญาตให้ลาไว้ไปใช้สิทธิในปีหน้า
เพราะพนักงานเขาจะต้องได้รับสิทธิตามกฎหมายมาตรา 30 แล้ว ซึ่งบริษัทก็ควรจะต้องให้เขาตามสิทธิ แต่ถ้ามีงานด่วนปลายปีจนไม่สามารถจะให้ลาพักร้อนตามสิทธิได้ ผมว่าบริษัทก็ควรจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสองข้อข้างต้น โดยมีการพูดจากันให้เข้าใจน่าจะเป็นทางออกที่ดีนะครับ
ดีกว่าจะทำเป็นเฉย ๆ หรือโมเมบอกว่างานยุ่งให้หยุดไม่ได้แล้วตัดสิทธิกันไปเฉย ๆ
ใจเขา..ใจเรานะครับ ถ้าเราถูกปฏิบัติอย่างนี้บ้างจะรู้สึกยังไง ?
ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะดีกว่าไหมครับ
.................................................