วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

พนักงานขาดงานทำยังไงดี ?


                ผมได้รับคำถามที่คิดว่าเป็นเรื่องที่เรา ๆ ท่าน ๆ พบเจอได้เสมอในการทำงานนั่นคือการ “ขาดงาน” ของพนักงาน คำถามมีอยู่ว่ามีพนักงานคนหนึ่งขาดงาน 2 ครั้ง ๆ แรก 1 วัน และครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไม่นานก็ขาดงานอีก 1 วัน โดยอ้างว่าไปธุระ ซึ่งทั้งสองครั้งบริษัท (โดยหัวหน้างาน) ก็ทำหนังสือตักเตือนพร้อมทั้งหักเงินเดือนทั้ง 2 วันที่ขาดงานไปแล้ว ซึ่งท่านก็ถามมาว่าถ้าพนักงานคนนี้ขาดงานอีกเป็นครั้งที่ 3 จะเลิกจ้างเลยได้หรือไม่ โดยในข้อบังคับการทำงานของบริษัทกำหนดโทษทางวินัยคือ

1.       ตักเตือนด้วยวาจา

2.       ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร

3.       ให้ออกจากงาน

4.       ปลดออกจากงาน

ผมขออธิบายโดยอ้างถึงมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานข้อ 4 และข้อ 5 คือ

(๔)  ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

 (๕)  ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

คำว่า “ละทิ้งหน้าที่” เรามักเรียกกันจนติดปากว่า “ขาดงาน” ผมก็เลยขอเรียกว่าขาดงานนะครับ ซึ่งในกรณีนี้พนักงานได้ขาดงานไปแล้ว 2 ครั้งและบริษัทก็ได้ทำหนังสือตักเตือนไปแล้ว แต่ผมไม่ทราบว่าหนังสือตักเตือนมีข้อความอย่างไรเพราะท่านไม่ได้บอกมา

ผมขอยกตัวอย่างหนังสือตักเตือนกรณีขาดงานมาดังนี้นะครับ

เรื่อง        ตักเตือน                                                                 10 มีนาคม 2555

เรียน       คุณตามใจ ไทยแท้

                เนื่องจากท่านได้ประพฤติตนฝ่าฝืนระเบียบ และข้อบังคับของบริษัท กล่าวคือ ท่านละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2555

                บริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของท่านดังกล่าว เป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อระเบียบและข้อบังคับของบริษัทบทที่ 9 วินัย การลงโทษ ข้อ 2.2.1 คือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท , ข้อ 2.2.20 คือ ละทิ้งหน้าที่ ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการทำงาน หรือขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

                ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทจึงขอตักเตือนท่านเป็นลายลักษณ์อักษร มิให้ประพฤติปฏิบัติตนเช่นนี้อีก และให้ท่านปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทโดยเคร่งครัด และหากท่านยังประพฤติฝ่าฝืนอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท

                                                                ลงชื่อ……………..ผู้แจ้งการตักเตือน

                                                                วันที่……………..

ลงชื่อ...................................ผู้รับทราบการตักเตือน        ลงชื่อ.................................พยาน 

          (นายตามใจ ไทยแท้)                                             ลงชื่อ...........................พยาน

วันที่...................                                                        (                        )

                                                                            วันที่...............................

                ถ้าบริษัทจะทำตามข้อบังคับการทำงานในเรื่องการลงโทษก็อาจจะต้องตักเตือนด้วยวาจาสำหรับการขาดงานครั้งที่ 1 และเมื่อพนักงานงานขาดงานในครั้งที่ 2 บริษัทก็ทำหนังสือตักเตือนแล้วตามข้อความข้างต้น โดยระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าคุณตามใจ (ชื่อสมมุติในกรณีนี้) ยังฝ่าฝืนหนังสือตักเตือนนี้อีก บริษัทก็จะเลิกจ้าง (ซึ่งตามระเบียบจะเขียนว่า “ให้ออกจากงาน” หรือ “ปลดออกจากงาน” ก็มีความหมายเดียวกับการ “เลิกจ้าง” ตามกฎหมายแรงงานนั่นแหละครับ ผมว่าใช้คำตามกฎหมายแรงงานข้อเดียวไปเลยว่า “เลิกจ้าง” จะดีกว่า) โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

ดังนั้นถ้าหากคุณตามใจยังขาดงานอีกเป็นครั้งที่ 3 ภายในระยะเวลา 1 นับแต่วันที่ทำความผิด (คือนับตั้งแต่ 3 มีนาคม 2555 ไปอีก 1 ปี) บริษัทก็สามารถเลิกจ้างคุณตามใจได้เนื่องจากผิดซ้ำคำเตือนในหนังสือตักเตือนดังกล่าว

แต่ถ้านายตามใจขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกัน (ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม) โดยไม่มีเหตุผลกันสมควร บริษัทก็เลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องทำหนังสือตักเตือนเพราะผิดตามข้อ 5 มาตรา 119 ข้างต้น

คราวนี้คงปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วนะครับ

………………………………………….