ในคราวที่แล้วผมได้เขียนถึงการใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี
(ภาษาตามกฎหมายแรงงาน) ซึ่งคนทำงานทั่วไปจะเรียกกันว่า “ลาพักร้อน” โดยได้พูดถึง 2
เรื่องคือ ถ้าพนักงานไม่ใช้สิทธิลาพักร้อนในปีที่ผ่านมาเลย
เมื่อถึงสิ้นปีบริษัทจะต้องจ่ายคืนกลับมาเป็นเงินตามจำนวนวันที่พนักงานไม่ได้ใช้สิทธิลาพักร้อนหรือไม่
กับอีกเรื่องคือวันลาพักร้อนสะสมได้หรือไม่ และถ้าได้จะสะสมได้กี่วัน
ซึ่งท่านก็ต้องไปติดตามดูนะครับว่าคำตอบคืออะไร จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาตอบซ้ำ
คราวนี้มีปัญหาเพิ่มเติมอีกในเรื่องการลาพักร้อนก็คือ
1.
กรณีที่พนักงานยื่นใบลาออกบริษัทจะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนที่เหลือกลับมาเป็นเงินให้พนักงานหรือไม่
2.
กรณีพนักงานถูกบริษัทเลิกจ้าง
พนักงานจะได้รับค่าวันหยุดพักร้อนที่เหลือเป็นเงินหรือไม่
ทั้งสองกรณีข้างต้นต่างจากกรณีที่ผมพูดถึงในครั้งที่แล้วนะครับ
เพราะครั้งที่แล้วพนักงานยังไม่ได้ลาออกหรือถูกเลิกจ้างเหมือนกับคำถามในครั้งนี้
ปัญหานี้ตอบได้อย่างนี้ครับ
1.
โดยทั่วไปจากประสบการณ์ที่ผมทำมาเมื่อพนักงานยื่นใบลาออกก็มักจะขอใช้สิทธิลาหยุดพักร้อนในส่วนที่เหลือทั้งหมดกับทางบริษัท
(ผ่านหัวหน้างาน) ซึ่งถ้าบริษัทเห็นว่าพนักงานที่ลาออกสามารถส่งมอบงานให้กับคนที่จะมารับหน้าที่แทนได้ทันก็อนุมัติให้ลาพักร้อนไปจนครบวันที่มีสิทธิอยู่
ก็ถือว่าจากกันด้วยดีและไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนเพราะพนักงานใช้สิทธิไปตามปกติ
แต่ถ้าบริษัทบอกว่าไม่ได้พนักงานจำเป็นจะต้องสอนงาน
ส่งมอบงานให้กับคนที่มาทำงานแทนจนถึงวันที่มีผลลาออกไม่สามารถให้ลาหยุดพักร้อนได้
บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนไปตามจำนวนวันที่พนักงานมีสิทธิอยู่เพราะบริษัทไม่อนุญาตให้เขาใช้สิทธิ
ข้อนี้คงชัดเจนแล้วนะครับ
2.
ในข้อนี้เป็นเรื่องที่พนักงานถูกเลิกจ้างซึ่งในกฎหมายแรงงานมาตรา
67 ผมขออธิบายเป็นภาษาชาวบ้านให้ท่านเข้าใจง่าย ๆ ว่า ถ้าหากบริษัทเลิกจ้างพนักงานโดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงงานตามมาตรา
119
ของกฎหมายแรงงาน
(ท่านต้องไปเปิดพรบ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541ดูหรือจาก www.mol.go.th ก็ได้ครับ
เช่นทุจริตหรือทำความผิดอาญาโดยเจตนากับนายจ้าง,
จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย, ประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างเสียหายร้ายแรง,
ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่ 3 วันทำงานติดต่อกันขึ้นไปโดยไม่มีเหตุผลกันสมควร,
ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ฯ)
บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าพักร้อนให้พนักงานตามส่วนของวันหยุดพักร้อน
เช่น ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ถูกเลิกจ้างพนักงานมีสิทธิลาพักร้อนตามส่วนอยู่ 3 วัน
บริษัทก็ต้องจ่ายเป็นเงิน 3 วันนี้ให้กับพนักงาน
3.
ในกรณีที่พนักงานลาออกเอง
หรือถูกบริษัทเลิกจ้างไม่ว่าพนักงานนั้นจะทำความผิดตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าวันลาพักร้อนสะสมให้กับพนักงานทุกกรณี เช่น
พนักงานถูกเลิกจ้าง (หรือพนักงานลาออกเองก็ตาม) แล้วมีวันลาพักร้อนสะสมอยู่ 10 วัน
บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าพักร้อนสะสมที่พนักงานมีอยู่คืนกลับไปให้พนักงานทุกกรณีครับ (ท่านที่ต้องการรายละเอียดก็ต้องไปเปิดดูกฎหมายแรงงานมาตรา
67 ในเว็บไซด์ของกระทรวงแรงงานที่ผมบอกไปข้างต้นได้ครับ)
มาถึงตรงนี้ท่านคงเข้าใจในเรื่องของวันลาพักร้อน
หรือในชื่อทางกฎหมายแรงงานว่า “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” มากขึ้นแล้วนะครับ
………………………………….