เมื่อเร็ว ๆ
นี้ผมได้รับ e-mail จากบริษัทที่ผมเคยไปเป็นที่ปรึกษาสอบถามมาเรื่องเกี่ยวกับการปรับค่าครองชีพคือ ถ้าบริษัทต้องการปรับค่าครองชีพให้พนักงาน
ควรปรับรวมเข้าในฐานเงินเดือน
หรือแยกออกเป็นให้ค่าครองชีพต่างหากโดยไม่รวมในฐานเงินเดือน
(บริษัทนี้ยังไม่เคยมีการจ่ายค่าครองชีพมาก่อน)
สำหรับคำถามที่ว่าบริษัทควรจะปรับค่าครองชีพเข้าไปในฐานเงินเดือนหรือไม่นั้น
จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมาพบว่าการปรับค่าครองชีพของภาคเอกชนนั้นมักจะไม่นำไปรวมกับฐานเงินเดือนครับ
เพราะเป็นเรื่องของการปรับเพื่อช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ในการครองชีพของพนักงานในภาวะข้าวยาก-น้ำมันแพงจริง
ๆ
หากปรับรวมเข้าไปในฐานเงินเดือนก็จะไปรวมเป็นฐานในการคำนวณการขึ้นเงินเดือนประจำปีในปีต่อไป,
นำไปเป็นฐานในการคำนวณโบนัส, นำไปเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลา หรือรายได้อื่น ๆ
ซึ่งจะทำให้องค์กรมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นและจะเกิดปัญหาในระยะยาวในเรื่องต้นทุนตามมา
แต่เรื่องของ "ค่าครองชีพ" หรือ COLA (Cost of Living Allowance) นี้ขอให้ท่านเข้าใจว่ามันจะมีวงจรของมันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ในวันนี้องค์กรมักจะให้ค่าครองชีพแยกจากฐานเงินเดือน เช่น เงินเดือน 10,000 บาท ค่าครองชีพ 1,000 บาท แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าสักระยะหนึ่งพนักงานก็จะเรียกร้องให้บริษัทนำเจ้าค่าครองชีพ 1,000 บาท (ตามตัวอย่างนี้) เข้าไปรวมเป็นฐานเงินเดือน 11,000 บาท และพอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งเมื่อข้าวยากหมากแพงขึ้นมาอีกบริษัทก็จะจ่ายค่าครองชีพให้กับพนักงานอีก (โดยแยกจากฐานเงินเดือน) แล้วพอเวลาผ่านไปก็จะถูกเรียกร้องให้นำค่าครองชีพเข้าไปรวมกับฐานเงินเดือน วนเวียนเป็นวัฎจักรอยู่ทำนองนี้แหละครับ
………………………………..