ผมเคยเขียนเรื่อง
“การจ้างนักศึกษาฝึกงานให้ทำงานเหมือนพนักงานประจำแล้วจ่ายต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ
?”
ไปแล้ว
ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปก็คือจากผลกระทบของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้ขยับขึ้นไปจากเดิม
40 เปอร์เซ็นต์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป
ก็เลยทำให้มีผู้ประกอบการบางแห่งพยายามลดต้นทุนค่าจ้างลงโดยการรับนักศึกษาฝึกงาน
(หรือบางแห่งก็รับเข้ามาในรูปแบบที่เรียกกันว่า “สหกิจศึกษา”
หากท่านอยากทราบเรื่องนี้ให้หาคำว่า “สหกิจศึกษาต่างจากนักศึกษาฝึกงานอย่างไรในกูเกิ้ลดูนะครับ)
โดยรับนักศึกษาเข้ามาในรูปของการมาฝึกงาน แต่มีลักษณะการให้ทำงานเหมือนพนักงานประจำทุกประการ,
มีการให้ทำงานล่วงเวลา, บางแห่งจัดกะให้ทำงานกะดึกทดแทนพนักงานประจำที่ทำงานกะดึก
ฯลฯ
เมื่อดูเจตนาแล้วก็คือมีสภาพการจ้างเหมือนกับเป็นลูกจ้างนั่นแหละครับ
ซึ่งบางแห่งก็จ่าย “ค่าเบี้ยเลี้ยง” ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ
บางแห่งก็อ้างว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานแล้วก็เลยไม่จ่ายอะไรให้เลยเพราะถือว่าเป็นการฝึกงาน
จากที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้นนี้ผมขอสรุปประเด็นจะพูดถึงดังนี้คือ
1.
แต่เดิมนั้นนักศึกษาฝึกงานมักจะเป็นนักศึกษาในชั้นปีสุดท้ายที่ต้องการจะเรียนรู้ว่าสภาพการทำงานในชีวิตจริงเป็นอย่างไรเพื่อจะได้ปรับตัวปรับใจเตรียมเข้าสู่โลกของการทำงานจริง
หรืออาจจะเกิดจากสถาบันการศึกษามีข้อกำหนดให้นักศึกษาจะต้องฝึกงานโดยให้มีชั่วโมงการฝึกงานตามที่สถาบันกำหนด
ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันกับที่บอกมานั่นแหละครับ
2.
เมื่อเป็นดังนี้ก็เลยมีการขอฝึกงานกับทางบริษัท/องค์กรต่าง
ๆ โดยทางสถาบันก็จะมีหนังสือไปยังองค์กรที่ติดต่อไว้เพื่อส่งตัวนักศึกษาไปฝึกงานโดยมีระยะเวลาประมาณ
1-3 เดือน
3.
เมื่อองค์กรนั้น ๆ
รับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานก็แล้วแต่ว่าองค์กรไหนจะมีแผนการฝึกงานให้นักศึกษาฝึกงานได้เรียนรู้งานอะไรแค่ไหนซึ่งหากนักศึกษาฝึกงานคนใดไปเจอองค์กรที่เป็นแบบนี้ก็ถือว่าโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนรู้งานอย่างที่ตั้งใจไว้
หรือบางองค์กรก็อาจจะไม่เคยมีแผนการฝึกงานอะไรเลยแต่ใช้นักศึกษาฝึกงานเป็น Xerox Manager หรือเป็น Fax Manager หรืออาจจะใช้นักศึกษาฝึกงานชงกาแฟให้หัวหน้างานบ้างก็มี
(นี่จากประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมาเลยนะครับ)
4.
ระยะเวลาฝึกงานก็จะประมาณ 1 ถึง 3 เดือน
ซึ่งก็มักจะเป็นช่วงปิดเทอมนั่นแหละครับ ส่วนชั่วโมงการทำงานก็ประมาณ 8
ชั่วโมงเหมือนพนักงานประจำ และวันทำงานก็ 5 ถึง 6 วันตามแต่ที่บริษัทกำหนด
5.
บางองค์กรก็จ่ายค่าฝึกงานให้โดยมักจะเรียกว่าเป็น
“เบี้ยเลี้ยง” ซึ่งอาจจะจ่ายให้วันละ 50-200 บาท
หรือบางแห่งก็อาจจะจ่ายให้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำเลยก็มี ในขณะที่มีหลายองค์กรไม่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวให้เพราะถือว่าเป็นการฝึกงาน
เป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเองเพราะได้มีโอกาสมาเรียนรู้งานที่องค์กรนั้น ๆ
ซึ่งองค์กรเองก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ว่าอยากจะรับเข้ามาเป็นลูกจ้าง
หรือไม่ได้บอกว่าให้มาทำงานเสมือนเป็นลูกจ้าง แต่ถือว่าเป็นการให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานจากชีวิตจริงนอกห้องเรียน
เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงฝึกงาน
6.
ทุกวันนี้มีระบบที่เรียกกันว่า
“สหกิจศึกษา” เพิ่มขึ้นมาจากการ “ฝึกงาน” เดิมที่เคยมีมาเสียอีก
และระยะเวลาการฝึกงานก็แล้วแต่จะกำหนดระหว่างองค์กรที่ต้องการจะรับนักศึกษากับสถาบันการศึกษาจะตกลงกันซึ่งไม่น้อยกว่า
1 ภาคการศึกษา และค่าตอบแทนก็ให้เป็นไปตามที่องค์กรที่รับนักศึกษาเห็นสมควร (ที่มา
: http://www.des.rmuti.ac.th/index.php/menucoopdiff)
จากที่ผมได้ยกประเด็นดังกล่าวข้างต้นได้มีการซักถาม
และถกเถียงกันทั้งในวงสัมมนา หรือในสื่ออินเตอร์เน็ตในเรื่องเหล่านี้
กล่าวคือ
นักศึกษาฝึกงานถือเป็นลูกจ้างหรือไม่
ซึ่งก็จะมีผู้รู้แต่ละท่านตีความและให้ความเห็นที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างเพราะถือว่าเป็นการฝึกงาน
นักศึกษาเป็นคนได้ประโยชน์ บริษัทไม่มีเจตนารับเข้ามาเป็นลูกจ้างสักหน่อย
เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง (หรือเบี้ยเลี้ยง) ให้หรอก,
สวัสดิการก็ไม่ต้องให้ เช่น อาหารต้องหากินกันเอาเอง (พนักงานได้รับค่าอาหาร), หากนักศึกษาประสบอุบัติเหตุจากการฝึกงานก็ต้องออกค่ารักษาพยาบาลกันเอง
เป็นต้น
แต่บางท่านก็บอกว่าถ้าคิดอย่างนั้นก็จริงอยู่หรอก
แต่ดูสิบางบริษัทมีเจตนาใช้นักศึกษาเหล่านี้ทำงานเหมือนกับลูกจ้างประจำทั่วไปเลย
มีการจัดให้เข้าทำงานกะดึกเช่นเข้างานสี่ทุ่มถึงหกโมงเช้า,
มีการให้นักศึกษาทำงานล่วงเวลาเหมือนพนักงานทั่วไป,
มีการบังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนได้เหมือนพนักงานทั่วไป
เมื่อดูเจตนาอย่างนี้แล้วก็น่าจะเข้าข่ายการใช้แรงงานที่มีลักษณะเป็นนายจ้างลูกจ้างกันแล้วก็ต้องมีการจ่ายค่าจ้างให้ตามค่าจ้างขั้นต่ำสิ
ที่ผมยกปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาเพราะอยากจะให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงก็คือกระทรวงแรงงานฯ
ได้พิจารณาเรื่องนี้และหาข้อสรุปในเรื่องของนักศึกษาฝึกงาน,
นักศึกษาที่เป็นสหกิจศึกษา ให้มีความชัดเจน เช่น
-
การปฏิบัติลักษณะใดของนายจ้างถือเป็นการฝึกงาน
และการปฏิบัติลักษณะใดถือว่าเป็นการใช้แรงงาน
-
กรณีใดบ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าฝึกงาน
(หรือเบี้ยเลี้ยง) ให้กับนักศึกษาฝึกงาน กรณีใดบ้างไม่ต้องจ่ายค่าฝึกงาน
-
ถ้านายจ้างต้องจ่ายค่าฝึกงาน
(หรือค่าเบี้ยเลี้ยง) จะต้องจ่ายวันละเท่าไหร่
-
กรณีเข้าข่ายเป็นลูกจ้างนายจ้างจะต้องจ่ายสวัสดิการต่าง
ๆ ให้นักศึกษาด้วยหรือไม่ เช่น ค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุในการทำงาน, ค่าอาหาร
เป็นต้น
-
ฯลฯ
ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอก็เพราะผมเชื่อว่าทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่างก็มีลูกมีหลาน
หรือญาติ ๆ ที่วันหนึ่งอาจจะต้องเป็นนักศึกษาฝึกงานในองค์กรใดก็ตาม
ซึ่งคิดถึงว่าถ้าเราเป็นพ่อเป็นแม่ของเด็ก ๆ
เหล่านี้เราก็คงอยากให้ลูกเราได้มีโอกาสฝึกงานกับองค์กรที่ดี
ได้เรียนรู้งานกับองค์กรที่ดีเพื่อเป็นประวัติในการเริ่มต้นที่ดีใน Resume เพื่อสมัครงานต่อไปภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว
แต่ในขณะเดียวกันเราก็คงไม่อยากให้ลูกหลานเราถูกเอารัดเอาเปรียบจากองค์กรที่ใช้แรงงานลูกหลานของเรา
โดยมีเจตนาในการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงงานแบบแอบแฝงแล้วหันมาใช้แรงงานเด็กที่ยังเรียนหนังสือโดยที่เขาไม่รู้เท่าทันด้วยเช่นเดียวกันจริงไหมครับ
งานนี้ถ้าทางกระทรวงแรงงานฯ
ทำให้เกิดความชัดเจนแล้ว ผมเชื่อว่าจะเป็นอานิสงส์ที่ดีกับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไปครับ
..............................................