ผมเชื่ออยู่เสมอว่า “เราทำอะไรไม่ได้เพราะยังไม่ได้เริ่มทำ” แต่ถ้าเราเริ่มทำอะไรเมื่อไหร่แล้วล่ะก็ เราจะทำได้อย่างแน่นอนครับ
เคยมีผู้บริหารระดับสูงในองค์กรแห่งหนึ่งได้อ่านหนังสือ “การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)” แล้วก็ไปลองทำเองในองค์กรนั้น ในที่สุดก็ทำได้ทั้ง ๆ ที่ผู้บริหารท่านนั้นไม่เคยทำเรื่องเหล่านี้มาก่อน
ส่วนความแตกต่างของการทำเองและจ้างคนอื่นทำก็มีข้อดี-ข้อเสียพอจะสรุปได้คือ
ข้อดีของการทำเอง
1. หากทำเองท่านก็จะรู้ที่มาที่ไปทั้งหมดของการประเมินค่างาน ซึ่งในอนาคต เมื่อมีการ Re-Organization หรือปรับเปลี่ยนผังองค์กร, มีการเพิ่ม-ลดตำแหน่งงานใหม่ ๆ ขึ้นมาก็ต้องมีการประเมินค่างานกันใหม่ตามตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ท่านก็จะสามารถทำได้ด้วยความเข้าใจอย่างต่อเนื่องไม่ต้องเสียเงินจ้างคนนอกเข้ามาทำให้อีกซึ่งค่าจ้างก็ไม่น้อยกว่าที่เคยจ่ายไปแล้ว
2. ในเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนก็เช่นเดียวกัน เมื่อทำแล้วไม่ได้แปลว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ที่อยู่ตลอดไปโดยไม่มีการปรับปรุง (Update) ดังนั้นหากท่านทำเอง เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปและถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนใหม่ท่านก็จะสามารถทำได้ด้วยความรู้ความเข้าใจได้ทันทีไม่ต้องเสียเงินจ้างคนมาทำการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนอีกเช่นเดียวกัน
3. เป็นองค์ความรู้ที่สามารถถ่ายทอดส่งต่อกันไปเพื่อสร้างคนรุ่นต่อไปในองค์กรของท่านให้มีความรู้ในด้านนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งความรู้เหล่านี้ถือเป็น “วิชาชีพ” แขนงหนึ่งของงาน HRM (Human Resource Management) เชียวนะครับ ซึ่งทุกวันนี้จะหาคนที่สนใจหรือทำงานด้านนี้ก็ยาก
4. ไม่ต้องเสียตังค์จ้างทำ ซึ่งจะประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายของบริษัทได้หลักแสน หรือหลักล้านบาท (แล้วแต่ว่าตำแหน่งงานมีมากหรือน้อยแค่ไหน ถ้ามีตำแหน่งงานมากค่าจ้างทำก็จะแพงตาม)
ข้อคิดของการทำเอง
1. ท่านจะต้องเรียนรู้ How to หรือวิธีการประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เช่น การหาหนังสือหนังหาตำรับตำราต่าง ๆ มาอ่านทำความเข้าใจ และควรเข้าอบรมในหลักสูตรด้านการประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือนที่มีเปิดสอน เข้าร่วมการสัมมนาในเรื่องการบริหารจัดการค่าตอบแทน ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ก็มักจะมีเปิดเป็น Public Training อยู่เป็นระยะ และท่านก็ถือโอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ในการ “ตีสนิท” ขอความรู้จากวิทยากรเหล่านั้น แล้วก็นำความรู้ที่ได้รับไปเริ่มปฏิบัติจริงในองค์กรของท่านต่อไป
2. การทำเองนั้น ผู้บริหารต้องเห็นชอบและเข้าใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ฝ่าย HR เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในเบื้องแรกก็อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง ผมยกตัวอย่างก็เหมือนการหัดขี่จักรยาน หรือหัดว่ายน้ำนั่นแหละครับ ใหม่ ๆ ก็จะต้องมีล้มได้แผลถลอกปอกเปิก หรือมีการสำลักน้ำกันบ้าง เมื่อฝึกต่อ ๆ ไปแล้วก็จะค่อย ๆ เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ต้องยอมรับว่าจะมีข้อผิดพลาดได้บ้าง แต่ผิดพลาดแล้วก็เรียนรู้เพื่อแก้ไขครับ
3. จากเหตุผลในข้อ 1 ก็อาจจะทำให้การดำเนินการล่าช้ากว่าการจ้างคนนอกเข้ามาทำ ก็แน่นอนแหละครับ เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่านี่ครับ แต่ถ้าท่านขับรถเองไม่เป็น (เพราะไม่พยายามหัดขับ) ในที่สุดก็ต้องเสียเงินจ้างคนมาขับรถให้และต้องพึ่งคนอื่นอยู่วันยังค่ำ (ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราตั้งใจจะหัดผมก็เชื่อว่าเราจะทำได้เสมอ)
อ้อ ! อีกประการหนึ่งคือการฝึกหัดขับรถจำเป็นจะต้องขับออกถนนนะครับ เพราะนี่คือ “ทักษะ” ไม่ใช่เรียนรู้วิธีการขับรถอยู่แต่ในห้องเรียนหรือในหนังสือ ดังนั้นเมื่อท่านเรียนขับรถภาคทฤษฎีแล้วก็ต้องกล้าขับรถออกถนนคือไปสู่ภาคปฏิบัติ แม้ว่าในช่วงแรก ๆ อาจจะยังไม่คล่องนัก แต่เมื่อได้ขับออกถนนบ่อย ๆ ท่านก็จะมีทักษะเพิ่มขึ้นเรื่อง ๆ จริงไหมครับ
คงจะพอเห็นภาพเปรียบเทียบแล้วนะครับ....ซึ่งผมก็ยังแนะนำให้บริษัทของท่านทำเองอยู่ดีแหละครับ.
.................................................................