ก่อนตอบคำถามนี้ เนื่องจากวันนี้เป็นวันครู ทุก ๆ คนกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องมีครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนชี้แนะในเรื่องต่าง ๆ จนพัฒนาตัวเองมาได้จนปัจจุบัน
ขอกราบระลึกถึงครูบาอาจารย์ทุกท่านทั้งที่อบรมสั่งสอนมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ จนถึงครูบาอาจารย์ในที่ทำงานทุกท่านที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการหล่อหลอมลูกศิษย์ให้เจริญก้าวหน้ามาได้จนถึงวันนี้ครับ
เอาล่ะครับกลับมาสู่การตอบคำถามที่ท่านสงสัยดังนี้.....
1. จากประสบการณ์ทำงานของผมแล้วก็ต้องบอกว่าเรื่องโครงสร้างเงินเดือนเป็นความลับเพราะเหตุผลดังนี้
1.1 หากจ้างโครงสร้างเงินเดือนไปให้ Line Manager ได้ทราบ แล้วเกิดนำไปวิพากษ์วิจารณ์กันในฝ่ายต่าง ๆ ก็จะเกิดความปั่นป่วนขึ้นในองค์กรในแบบที่ว่า คนทำ (โครงสร้างเงินเดือน) ไม่ได้พูด ส่วนคนไม่ได้ทำก็วิจารณ์ไปโดยไม่รุ้เหตุผลหรือที่มาที่ไปว่าโครงสร้างเงินเดือนนี้มาได้อย่างไร เมื่อพูดกันต่อ ๆ ไปโดยคนพูดก็ไม่รู้จริงแต่ใช้ความรู้สึกเข้ามาผสมแบบนี้แล้วพูดต่อ ๆ กันไป แต่ละคนก็จะคิดแต่เรื่องของตัวเอง เช่น คนที่เงินเดือนตันก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมฉันทำงานมาตั้งนาน ทำไมถึงต้องเงินเดือนตัน, คนที่เงินเดือนยังน้อยก็จะรู้สึกว่าทำไมบริษัทไม่ปรับเงินเดือนให้ฉันก็โครงสร้างเงินเดือนฉันควรจะต้องได้มากกว่านี้ ฯลฯ หากเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่ดีกับองค์กรจริงไหมครับ
1.2 หากแจ้งโครงสร้างเงินเดือนให้ Line Manager ทราบ แล้วเกิดความผิดพลาดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แล้วโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทหลุดออกไปภายนอกบริษัท ยิ่งไปอยู่ในมือของบริษัทคู่แข่ง พนักงานของเราก็มีหวังถูกซื้อตัวไปได้ง่าย ๆ จริงไหมครับ เพราะโครงสร้างเงินเดือนก็เปรียบเสมือนกล่องดวงใจ หรือแผนกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนของบริษัทนั่นแหละครับ ไปเผยไต๋ให้คนอื่นเขาทราบว่าเรามีกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนอย่างไรเราก็เสียเปรียบเขาน่ะสิครับ
จากเหตุผลใหญ่ ๆ สองเรื่องนี่แหละครับที่บริษัทต้องเก็บเรื่องโครงสร้างเงินเดือนเป็นความลับ และมักจะรู้กันเฉพาะฝ่ายบุคคลกับกรรมการผู้จัดการ (MD) และแม้แต่ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ก็จะไม่ทราบว่าโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทเป็นอย่างไร ไม่ทราบว่าเงินเดือนของตำแหน่ง/ระดับชั้นต่าง ๆ เริ่มต้นเท่าไหร่ และตันเท่าไหร่
ท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วจะอธิบายให้พนักงานรู้ได้อย่างไร ?
ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ....
1. ต้องตั้งหลักกันตรงที่ว่า ก่อนบริษัทจะมีโครงสร้างเงินเดือนนั้น บริษัทได้มีการประเมินค่างาน (Job Evaluation – JE) อย่างถูกต้องได้มาตรฐาน และมีที่มาที่ไปที่เสมอภาคและเป็นธรรม โดยการนำเอาทุกตำแหน่งงานในบริษัทมาตีค่างาน และจัดกลุ่มงาน (Job Group) กันอย่างถูกต้องแล้ว
2. เมื่อบริษัทมีการจัดระดับชั้น และตำแหน่งที่จัดลำดับความสำคัญตามค่างานแล้ว บริษัทก็ทำโครงสร้างเงินเดือน โดยการนำระดับชั้นและตำแหน่งต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกับตลาดแข่งขัน เพื่อออกแบบโครงสร้างเงินเดือน ดังนั้น บริษัทจะมีโครงสร้างเงินเดือนที่มีมาตรฐานและสามารถแข่งขันกับตลาดหรือคู่แข่งในเรื่องค่าตอบแทนได้ ซึ่งหมายความว่าทุกตำแหน่งในบริษัทของเราก็จะมีกรอบการจ่ายที่สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ได้อย่างมีมาตรฐาน
3. จากข้อ 1 และข้อ 2 หากท่านยังสงสัยเรื่องที่มาที่ไปก็สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)” ที่ผมเขียนไว้แล้วครับ
4. เมื่อมีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว บริษัทก็จะต้องบริหารโครงสร้างเงินเดือนนั้นอย่างถูกต้อง เช่น กรณีที่เมื่อทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้วพบว่าพนักงานเงินเดือนตัน ทางฝ่ายบุคคลก็จะต้องไปคุยกับ Line Manager ที่เป็นหัวหน้าของพนักงานที่เงินเดือนตันเพื่ออธิบายให้ทราบว่าลูกน้องของเขาเงินเดือนตันแล้ว (แต่จะไม่บอกรายละเอียดว่าตามโครงสร้างเงินเดือนในระดับชั้นนั้นจะตันที่กี่บาท) และจะมีวิธีปฏิบัติคือในการขึ้นเงินเดือนประจำปีครั้งต่อไปพนักงานคนนี้จะไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนโดยการปรับเข้าฐานเงินเดือนแล้วเพราะเงินเดือนของเขาเกินโครงสร้างแล้ว ซึ่งหากพนักงานที่เงินเดือนตันอยากจะเงินเดือนไม่ตันก็ต้องทำผลงานหรือปฏิบัติงานให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้นซึ่งค่างานและความรับผิดชอบก็จะสูงขึ้นตามค่างาน ทำให้เข้าไปสู่โครงสร้างเงินเดือนในกระบอกถัดไปซึ่งก็จะทำให้เพดานเงินเดือนใหม่เพิ่มขึ้น และสามารถได้รับการขึ้นเงินเดือนเพิ่มขึ้นต่อไปได้ เนื่องจากเมื่อเงินเดือนปัจจุบันของเขาเกินจากค่ากลาง (MidPoint) ของกระบอกเงินเดือนปัจจุบันก็แสดงถึงการที่บริษัทจ่ายเงินเดือนให้เขามากเกินกว่าผลงานที่เขาทำให้กับบริษัทจึงเป็นการจ่ายแบบ Over Pay คือจ่ายมากเกินไป (ผมแนะนำให้ท่านไปอ่าน “กลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทน ตอนที่ 1 และตอนที่ 2” ใน Blog นี้ ซึ่งอยู่ในหมวด การบริหารค่าตอบแทน เพื่อจะได้นำไปเป็นข้อมูลในการชี้แจงพนักงานให้เข้าใจในหลักการและเหตุผลของการบริหารโครงสร้างเงินเดือนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ)
ดังนั้น จึงอธิบายคำถามข้อนี้ได้ว่า ท่านจะต้องสื่อสารกับพนักงานในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับค่าตอบแทนในเชิงหลักการ หรือวิธีการ เช่น เหตุใดเงินเดือนถึงตัน, เมื่อเงินเดือนตันแล้วบริษัทจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร, เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งเขาจะมีโอกาสได้รับการปรับเงินเดือนอย่างไร, เขาจะได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีอย่างไร, เมื่อไหร่เขาควรจะต้องพัฒนาตัวเองให้ Promote ไปได้แล้วเพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะทำให้เขาเงินเดือนตันเนื่องจาก Over Pay ฯลฯ
โดยที่ไม่ต้องบอกรายละเอียดในเรื่องโครงสร้างเงินเดือนว่า ตำแหน่งนั้นอยู่ในระดับชั้นนี้ มีอัตราเริ่มต้นเท่านั้น และเงินเดือนตันเท่านี้ ซึ่งเป็นความลับและไม่ควรนำมาแจ้งให้ทราบกันในองค์กร
อธิบายมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าคุณสามารถอธิบายพนักงานได้ตามแนวทางนี้แล้วนะครับ
ส่วนคำถามข้อ 2 ที่ถามว่าควรจะบอกอัตราเงินเดือนในประกาศรับสมัครงานหรือไม่นั้น ถ้าเป็นความเห็นของผม ๆ ไม่ลงประกาศครับ เนื่องจาก
1. เรื่องเงินเดือนไม่ควรประกาศให้ทุกคนทราบเป็น Public เพราะเป็นกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนขององค์กร และเราก็เพียงลงประกาศรับสมัครงานซึ่งผู้สมัครงานก็ยังไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทเลย แต่รู้แล้วว่าจะจ้างเท่าไหร่ แถมคู่แข่งก็รู้ด้วยว่าเราจ้างเท่าไหร่
2. ถ้าเงินเดือนที่ประกาศไม่โดนใจผู้สมัคร (คือต่ำกว่าที่ผู้สมัครคาดหวัง) ซึ่งเป็นธรรมดานะครับที่ใคร ๆ ก็อยากจะได้เงินเดือนสูง ๆ ไว้ก่อน พอแจ้งในประกาศรับสมัครไม่โดนใจก็เลยไม่มาสมัครงาน ทำให้บริษัทพลาดโอกาสจะได้ใบสมัครไปแล้ว ซึ่งถ้าไม่แจ้งอัตราเงินเดือนแล้วให้เขาสมัครเข้ามา เมื่อผ่านกระบวนการสรรหาคัดเลือกของบริษัทแล้ว บริษัทอาจจะเห็นว่าผู้สมัครรายนี้มีความสามารถมากกว่าที่คิดไว้ (หรือมากกว่ารายอื่น ๆ) ก็พิจารณาเงินเดือนให้สูงกว่าที่ตั้งใจไว้ในครั้งแรกก็เป็นได้ แต่พอไปประกาศในประกาศรับสมัครงานก็เลยไม่ได้ผู้สมัครที่มีความสามารถรายนี้
3. หากอัตราเงินเดือนที่ลงในประกาศรับสมัครงานสูงกว่าที่พนักงานปัจจุบันได้รับ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็จะทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่กับเรานี่แหละครับเกิดปัญหาหัวใจขึ้นมาแล้วว่า ทำไมฉันได้เงินเดือนน้อยกว่าคนที่จะเข้ามาใหม่ แล้วฝ่ายบุคคลรวมทั้งฝ่ายบริหารก็จะต้องมาคอยชี้แจงอธิบายกับพนักงานที่เงินเดือนน้อยกว่าอัตราที่ประกาศกันอีก
จากเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเห็นว่าไม่ควรลงประกาศรับสมัครงานโดยมีอัตราเงินเดือนเอาไว้ด้วยครับ
.........................................................