วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2567

ปัญหาสามีภรรยาทำงานที่เดียวกันทำไงดี?

             เจอคำถามนี้เข้าก็เลยทำให้ผมนึกได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเบสิกและคลาสสิกที่เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือเล็ก ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันไปตามบริบทที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้น ๆ ก็เลยขอนำเอาประสบการณ์และข้อคิดของผมที่ผ่านมาเล่าให้ฟังอย่างนี้ครับ

ในองค์กรใหญ่ที่มีกฎเกณฑ์ว่าสามีภรรยาจะทำงานในหน่วยงานเดียวกันไม่ได้ เช่น กรณีที่ต่างคนต่างเข้ามาทำงานแบบเพื่อนร่วมงาน แต่ต่อมาก็เปลี่ยนความสัมพันธ์จากสิ้นสุดทางเพื่อน มาเริ่มต้นร่วมทางเป็นแฟนแล้วก็แต่งงานกัน

ถ้าทำงานในหน่วยงานเดียวกันก็ต้องจับแยกเพราะเหตุผลคือ

1.      ถ้าหากวันไหนสามีภรรยามีปัญหาครอบครัวกันมาจากบ้านจะมีผลกระทบกับงานที่ทั้งสองคนต้องรับผิดชอบ และมีผลกระทบกับทีมงานตามไปด้วย

2.      หากทั้งสองคนเป็นระดับพนักงานเท่ากัน ถ้าหัวหน้ามีปัญหาในการทำงาน (หรืออื่นใด) กับสามีหรือภรรยา อีกคนก็จะมีปฏิกิริยาหรือมีโอกาสที่จะมีผลกระทบตามไปด้วย

3.      ถ้าหากสามีหรือภรรยาเป็นผู้บังคับบัญชาและอีกฝ่ายเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะเกิดปัญหาในการบริหารจัดการ เพราะลูกน้องคนอื่นก็จะมองว่าสองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัติได้

4.      ถ้าหากหน่วยงานนั้นเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับบัญชีการเงินหรือทรัพย์สินสำคัญของบริษัท ก็อาจจะเกิดปัญหาการทุจริตแบบร่วมมือกันได้ กรณีนี้ไม่ได้ให้มองคนในแง่ร้ายนะครับ แต่ความเป็นจริงคือถ้าครอบครัวนี้เกิดมีปัญหาด้านการเงินในบ้านขึ้นมาก็ย่อมมีโอกาสจะทำทุจริตได้ครับ

ในองค์กรใหญ่เขาก็จะมีหน่วยงานอยู่มากและบางแห่งก็มีสำนักงานหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เขาก็จะมีกฎเกณฑ์จับแยกได้เพราะมีอัตรากำลังและหน่วยงานให้ไปลงได้

แต่ในองค์กรขนาดกลางถึงเล็กนี่แหละครับที่มักจะเกิดปัญหาว่าจะให้ไปลงยังไง เพราะไม่มีฝ่ายมีแผนกมากเหมือนองค์กรใหญ่ ๆ

บางแห่งก็แก้ปัญหาด้วยการเชิญมาคุยโดยยื่นเงื่อนไขให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องลาออกไป ตรงนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่าฝ่ายสามีหรือภรรยาจะต้องลาออกไป

บางแห่งก็มีปัญหาชวนให้คิดต่อไปอีกว่า แล้วถ้าสามี (หรือภรรยา) เป็น Key person ที่สำคัญขององค์กร และอีกฝ่ายก็ไม่ได้เป็น Key person แต่ไม่ได้อยากจะลาออกเพราะยังจำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวล่ะจะทำยังไง

นี่ยังไม่รวมไปถึงบริษัทที่เรียกสามีหรือภรรยาให้มาเขียนใบลาออกไปโดยไม่จ่ายอะไรเลย เพราะถือว่าการลาออกเป็นความสมัครใจของพนักงานเอง บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้นอีกนะครับ

ในขณะที่บริษัทที่ดีกว่านี้หน่อยก็จ่ายเงินให้ตามที่ตกลงกันไว้ซึ่งบางแห่งก็จ่ายเท่าค่าชดเชยตามกฎหมาย บางแห่งก็ให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพราะถือว่าให้ก็ดีแล้ว บริษัทไม่ให้เลยก็ยังได้เพราะถือว่าพนักงานลาออกเอง

นอกจากนี้ผมยังมีข้อคิดในเรื่องเหล่านี้อีกบางประการนะครับ เช่น....

1.      ถ้าทั้งสามีหรือภรรยาอยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสโดยทั้งสองก็ไม่ได้บอกใคร แต่เพื่อน ๆ หรือหัวหน้าก็อาจจะรู้แค่ในเชิงพฤตินัยล่ะ บริษัทจะทำยังไง

2.      ในยุคปัจจุบันมีการสมรสเท่าเทียมไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเพศหญิงกับชายเหมือนยุคเก่า แต่อยู่ด้วยกันแบบคู่รัก ทั้งจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ตาม บริษัทจะเอายังไง

ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ก็เพื่ออยากจะเปิดประเด็นให้ท่านได้มีมุมมองหลาย ๆ มุมก่อนที่จะตัดสินใจแก้ปัญหานี้

ตามความเห็นของผมโดยหลักการใหญ่ที่เกี่ยวกับเหตุผลของการจับแยกหน่วยงานเพื่อป้องกันปัญหา 4 เรื่องหลัก ๆ ที่ผมเล่ามาข้างต้นก็ควรจะยังคงมีไว้

ส่วนการแก้ปัญหาปลีกย่อยของแต่ละกรณีก็ควรจะต้องมาดูบริบทข้อเท็จจริงของแต่ละกรณีเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดต่อไปครับ