วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567

กฎหมายแรงงานให้ทดลองงานได้ไม่เกิน 120 วันจริงหรือ?

           ตอบได้ว่า “ไม่จริงครับ”

           ยังมีคนเข้าใจผิดในเรื่องนี้กันอยู่ไม่น้อยก็เลยขอนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งนะครับ

เพราะกฎหมายแรงงานไม่ได้มีมาตราไหนที่กำหนดว่าจะต้องมีการทดลองงาน แต่เป็นเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันเอง

อาจจะมีคำถามว่า “แล้วทำไมบริษัทต่าง ๆ ถึงต้องกำหนดให้ทดลองงานไม่ให้เกิน 120 วันล่ะ?”

ก็ตอบได้ว่าเพราะถ้าลูกจ้างไม่ผ่านทดลองงานแล้วไม่ยอมเขียนใบลาออก นายจ้างก็ต้องแจ้งเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่าลูกจ้างไม่สามารถทำงานให้กับบริษัทได้ตามเป้าหมายตามที่บริษัทต้องการจึงไม่ผ่านทดลองงาน หรืออ้างว่าพฤติกรรมในการทำงานมีปัญหา ฯลฯ

สรุปว่ายังไงก็ไม่ผ่านทดลองงานนั่นแหละครับ

ซึ่งกรณีอย่างนี้ถ้าลูกจ้างมีอายุงานครบ 120 วันขึ้นไป แล้วบริษัทจะแจ้งเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118) ให้กับลูกจ้าง

หรือพูดแบบตรงไปตรงมาก็คือที่ไม่ให้เกิน 120 วันเพราะถ้าลูกจ้างไม่ยอมเขียนใบลาออก นายจ้างจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างก็เท่านั้นแหละ

แต่นายจ้างยังต้องระวังลูกจ้างจะไปฟ้องเรื่องถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเอาไว้ด้วยนะครับ

บริษัทจึงควรจะต้องมี Document Support เกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างให้ดีว่าตั้งแต่รับเข้ามาทำงานมีพฤติกรรมไม่ดีหรือมีปัญหายังไงบ้าง ผลการปฏิบัติงานเป็นยังไง ถ้าทำงานไม่ดีเคยว่ากล่าวตักเตือนบ้างไหม ฯลฯ

หลักจึงอยู่ที่ว่านายจ้างจะไปเขียนกฎระเบียบเรื่องการทดลองงานเอาไว้ยังไงก็ได้ เช่น จะให้มีการทดลองงาน 60 วัน 90 วัน 120 วัน 180 วัน หรือทดลองงาน 1 ปี ก็ยังได้

แต่ต้องรู้ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกจ้างมีอายุงานครบ 120 วันขึ้นไปแล้วนายจ้างต้องการจะเลิกจ้างก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118

เว้นแต่ถ้าลูกจ้างเขียนใบลาออกนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะการลาออกไม่ใช่การเลิกจ้าง ถือว่าลูกจ้างสมัครใจลาออกเอง

ก็เท่านั้นแหละครับ

...........................