วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาทในแต่ละมุมมอง

           ตามกติกาของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องถูกกำหนดขึ้นด้วยไตรภาคีคือมีตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐมาร่วมกันคิดสูตรและวิธีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมขึ้นมาจากหลาย ๆ ปัจจัยในช่วงนั้น ๆ เช่น ภาวะการครองชีพ, สภาพเศรษฐกิจ, เงินเฟ้อ, ราคาสินค้าที่จำเป็น ฯลฯ

แต่จากอดีตที่ผ่านมาจะพบว่ามีหลายครั้งที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่เป็นไปตามกติกานี้ โดยเฉพาะที่ปีไหนมีการเลือกตั้งก็จะมีการหาเสียงกันแทบจะทุกพรรคการเมืองในลักษณะที่สัญญาว่าถ้าเลือกพรรคฉันเข้ามาเป็นรัฐบาล ฉันจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้

ซึ่งวิธีแบบนี้นอกจากไม่เป็นไปตามกลไกตามกติกาแล้ว ยังเป็นการสัญญาด้วยการควักเอาเงินในกระเป๋าของนายจ้างไปจ่ายให้ลูกจ้างอีกต่างหาก

ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะถามว่าพรรคการเมืองนั้น ๆ จะทำตามกติกาได้หรือไม่

คำตอบคือ “ได้” โดยเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ส่งตัวแทนเข้าไปในไตรภาคีแล้ววางแผนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบเป็น Roadmap คือแผนระยะยาวก็ได้

เช่น ในปี 2567 จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ครั้ง ๆ ละ 7 เปอร์เซ็นต์ และจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนไหน ปี 2568, 2569, 2570 ก็วางแผนการปรับในลักษณะเดียวกัน

แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นการวางแผนในลักษณะ Roadmap แบบนี้

แต่กลับไปใช้วิธี “หักดิบ” คือจะไปสัญญากันตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าถ้าเลือกพรรคฉันเข้ามา ฉันจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ในเปอร์เซ็นต์สูง ๆ

ซึ่งวิธีนี้ถ้ามองในมุมของการตลาดคือจัดโปรโมชั่นแบบจัดหนักโดนใจคนที่เป็นลูกจ้างฐานเสียงกันเลยดีกว่าจะไปใช้วิธีทำ Roadmap ปรับกันเป็นขยักอย่างที่ผมบอกไปข้างต้น เพราะโปรฯ ปรับเป็นขยักแบบนั้นมันไม่เร้าใจ

จะเห็นได้ว่าในปี 2554 ก็มีการหาเสียงว่าถ้าเลือกพรรคฉัน ๆ จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 215 บาท เป็น 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 40 เปอร์เซ็นต์

ปี 2562 ก็มีการหาเสียงว่าถ้าเลือกพรรคฉัน ๆ จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 310 บาท เป็น 425 บาท (ปรับขึ้นประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์) แต่พอพรรคที่สัญญาเอาไว้ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้ทำตามสัญญาเพราะถ้าทำก็คาดว่าจะเกิดผลกระทบตามมาก็เลยเงียบ ๆ ไป

ปี 2566 ก็มีการหาเสียงจากพรรคหนึ่งว่าถ้าเลือกฉันเข้ามาเป็นรัฐบาล ฉันจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้จากวันละ 353 บาท เป็นวันละ 450 บาท (ปรับขึ้น 27.5 เปอร์เซ็นต์) แต่พรรคที่สัญญานี้ก็วืดไปไม่ได้เป็นรัฐบาล

ในขณะที่อีกพรรคหนึ่งที่ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลก็สัญญาเอาไว้ตอนหาเสียงว่าถ้าเลือกพรรคฉัน ๆ จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 600 บาทภายในปี 2570 ซึ่งผมทำตารางเอาไว้ให้เห็นข้างล่างนี้ว่าถ้าทำตามที่หาเสียงไว้จะต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากปี 2567 ถึง 2570 ปีละประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ตามนี้ครับ


            จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองพรรคไหน จะบอกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ก็ล้วนแต่ยังเล่นเกมส์ค่าจ้างขั้นต่ำกันอยู่ในวังวนเดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่

            ถ้าจะถามว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำไมรัฐถึงประกาศก่อนประชุมไตรภาคี และทำแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ ?

            ก็คงต้องถามกลับไปว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในมุมมองของใครล่ะครับ ?

            ถ้ามองในมุมของรัฐหรือนักการเมืองก็ต้องบอกว่าเหมาะสม เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดโดยไม่ต้องใช้งบประมาณใด ๆ เพิ่มขึ้น เพียงแค่ประกาศค่าจ้างขั้นต่ำออกมา นายจ้างรายไหนที่ยังจ่ายต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำต้องปฏิบัติตามเพราะเป็นกฎหมายนี่ครับ ขืนไม่ทำตามก็มีหวังเจอโทษคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

            ถ้ามองในมุมของลูกจ้าง คงไม่มีลูกจ้างคนไหนไม่ชอบหรอกจริงไหมครับ แถมยังบอกอีกว่าทำไมปรับให้น้อยจัง เพราะเรื่องค่าจ้างเงินเดือนค่าตอบแทนนี่ผมพูดอยู่เสมอว่า “ให้เท่าไหร่ก็ไม่เคยถึงใจคนรับ” จริงไหมครับ ?

            แต่ถ้ามองในมุมของนายจ้างล่ะ แน่นอนว่านายจ้างที่ไม่ใช่รายใหญ่ก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไปตามสภาพ เจ็บแต่ไม่รู้จะพูดยังไง คล้าย ๆ กับโดนประกาศิตในหนังเรื่องหนึ่งที่บอกว่า “ข้าจะเสนอในสิ่งที่เจ้าปฏิเสธไม่ได้” ทำนองนั้นแหละครับ

ถ้านายจ้างรายไหนยังแบกรับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอยู่ได้ก็ไปต่อ แต่ถ้ารายไหนรับไม่ไหวก็ต้องพอแค่นี้ และก็ยังมีนายจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่รู้ว่าเสี่ยงก็ยังต้องขอลอง คือตีมึนแล้วจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กระทรวงแรงงานประกาศครับ

            ส่วนในมุมของพ่อค้าแม่ค้าก็แน่นอนว่าราคาสินค้าถูกขยับขึ้นไปรับค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน

            แล้วมุมมองของผมล่ะ ?

          ผมมองว่าการที่นักการเมืองคิดเพิ่มรายได้เข้ากระเป๋าลูกจ้างด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยคิดว่าเมื่อลูกจ้างได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นก็จะมีเงินไปจ่ายค่าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น เป็นแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยฝีมืออะไรเลย

แถมยังทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าที่เพิ่มตาม, การปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิต่าง ๆ เพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำ, นายจ้างต้องแบกรับต้นทุนการปรับค่าจ้างเงินเดือนคนเก่าเพื่อหนีคนใหม่ที่ค่าจ้างเงินเดือนไล่จี้ตามหลังมาเพิ่มขึ้น ฯลฯ

            นี่ยังไม่รวมแรงงานต่างด้าวนับล้านคนที่ได้อานิสงส์นี้แล้วส่งเงินกลับประเทศตัวเองโดยที่เม็ดเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เข้ามาหมุนเวียนช่วยระบบเศรษฐกิจในบ้านเราอีกต่างหากนะครับ

            แต่ถ้ารัฐมีแผนพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างให้เพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสในการสร้างงานให้ลูกจ้างมีงานทำมากขึ้น ส่งเสริมให้ลูกจ้างพัฒนาให้ยืนได้ด้วยตัวเองในอาชีพต่าง ๆ ที่หลากหลายเพิ่มขึ้น วางแผนการศึกษาของชาติเสียใหม่ให้ตอบโจทย์ที่ธุรกิจต้องการ ฯลฯ

อย่างนี้แหละครับที่เป็นเรื่องพิสูจน์กึ๋นและฝีมือของนักการเมืองบ้านเราว่ามีมากหรือน้อยแค่ไหน