เมื่อมีการจ้างงานก็ต้องมีการสิ้นสุดการจ้างงานด้วยเช่นเดียวกัน คล้ายกับคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เลิกรา” อยู่ที่ว่าการสิ้นสุดการจ้าง หรืองานเลี้ยงที่เลิกราไปนั้นจะเป็นการเลิกราที่ดีหรือไม่อย่างไร
เรามาดูกันนะครับว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดกันเมื่อไหร่กันบ้าง
การสิ้นสุดของสัญญาจ้างนั้นมีอยู่ 3 วิธีคือ
1. เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งการที่นายจ้างบอกเลิกจ้างนี้อาจจะมีสาเหตุมากมายหลายหลาก เช่น บริษัทประสบวิกฤติขาดทุน, ขาดสภาพคล่องทางการเงิน, พนักงานมีผลปฏิบัติงานไม่ดี, มีปัญหาสุขภาพ, พนักงานมีความประพฤติเกเร, หมอดูทายว่าดวงของลูกจ้างจะเป็นกาลกิณีกับบริษัทจะทำให้บริษัทล่มจม, ลูกจ้างมีใบหน้าเป็นอาวุธนายจ้างเลยไม่ถูกโฉลก ฯลฯ
สรุปง่าย ๆ ว่าถ้านายจ้างอยากจะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อไหร่ก็สามารถทำได้โดยการบอกเลิกจ้างหรือทำหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันทีโดยระบุสาเหตุของการเลิกจ้างให้ชัดเจน และจะมีผลในวันที่นายจ้างระบุ
ส่วนเรื่องที่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นธรรมหรือไม่ หรือจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างตามอายุงานหรือไม่ต้องจ่ายก็ต้องไปว่ากันในรายละเอียดของสาเหตุการเลิกจ้างกันต่อไป
พูดง่าย ๆ ว่านายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อไหร่ก็ย่อมทำได้ครับ
2. เมื่อลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง ในส่วนของลูกจ้างก็มีสิทธิในการบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อไหร่ก็ได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งวิธีการบอกเลิกจ้างจากทางฝั่งของลูกจ้างที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือการเขียนใบลาออกแล้วส่งให้กับหัวหน้างานหรือส่งให้กับนายจ้างนั่นเองครับ
และถ้าลูกจ้างระบุวันที่มีผลในใบลาออกเมื่อไหร่ก็จะพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างในวันนั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ
แม้ว่าวันที่มีผลลาออกจะไม่ถูกต้องตามระเบียบบริษัทที่กำหนดไว้
เช่น บริษัทมีระเบียบว่าการลาออกจะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แต่ลูกจ้างยื่นใบลาออกวันนี้ให้มีผลวันพรุ่งนี้ก็ย่อมทำได้
แต่ถามว่าควรทำอย่างนี้หรือไม่ก็ต้องลองคิดดูครับ
ส่วนสาเหตุของการบอกเลิกสัญญาจ้างจากทางฝั่งของลูกจ้างก็เช่น ไปหางานใหม่, ไปศึกษาต่อ, สุขภาพไม่ดี, เบื่อหน้าหัวหน้างาน, ได้แฟนรวยหรือถูกหวยรางวัลใหญ่เลยอยากจะลาออกไปใช้เงิน ฯลฯ
ถ้าลูกจ้างไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัท
แล้วเกิดความเสียหายขึ้น
บริษัทก็มีสิทธิฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้ความเสียหายนั้นได้ครับ
ในกรณีที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกนั้น ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ นะครับ เพราะถือว่าลูกจ้างสมัครใจจะบอกเลิกสัญญาจ้างเอง
เมื่อดูจากทั้งข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว
จะเห็นได้ว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิเสมอกันในการบอกเลิกสัญญาจ้างซึ่งกันและกันเมื่อไหร่ก็ได้จริงไหมครับ
3. เมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดระยะเวลา เช่น บริษัท PQR ทำสัญญาจ้างนาย A เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 1 ปี (ซึ่งลักษณะงานต้องไม่ใช่ธุรกิจปกติของนายจ้าง เช่นต้องเป็นงานโครงการ, งานตามฤดูกาลตามม.118 นะครับ)
เมื่อนาย A ทำงานไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 พอวันรุ่งขึ้นคือ 1 พฤษภาคม2567 ก็ไม่ต้องมาทำงานกับบริษัทอีก
โดยที่บริษัทก็ไม่ต้องทำหนังสือเลิกจ้าง นาย A ก็ไม่ต้องเขียนใบลาออก
และบริษัทก็ไม่ต้องมาจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยตามอายุงาน เพราะถือว่าการจ้างงานนี้สิ้นสุดไปโดยสัญญาจ้างที่ระบุระยะเวลาไว้ชัดเจนดังกล่าว
ปัญหาของการเลิกจ้างนั้นมักจะเกิดจากข้อ 1 เป็นหลักเสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายจ้างเลิกจ้างแบบกระทันหันไม่ได้มีวี่แววมาก่อน
ส่วนปัญหาขัอ 3 มักจะเจอสัญญาจ้างประเภททำสัญญาปีต่อปีต่อสัญญากันไปเรื่อย
ๆ
ทั้ง
ๆ ที่ลักษณะงานไม่เป็นไปตามม.118
พอบริษัทไม่ต่อสัญญาจะเลิกจ้างก็เลยโมเมไม่จ่ายค่าชดเชยซะงั้น
ซึ่งแบบนี้ก็ผิดกฎหมายแรงงานนะครับ
มาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าเราคงเข้าใจเรื่องของการสิ้นสุดของสัญญาจ้างตรงกันแล้วนะครับ
…………………………