เคยมีคำกล่าวว่าแขกกับงูเป็นของคู่กัน
ในยุคสมัยที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษก็เจอปัญหาวุ่นวายเกี่ยวกับงูนี่แหละครับ
โดยเฉพาะในเดลีเมืองหลวงมีอัตราการเกิดของประชากรงูเห่า
(ที่ไม่ใช่คนที่ย้ายพรรคนะครับ) เพิ่มขึ้นมาก
แหม..ถ้าเป็นหมูเห็ดเป็ดไก่วัวควายเพิ่มขึ้นก็คงไม่มีปัญหาอะไรหรอก
แต่นี่ดันเป็นงูเห่าเพิ่มขึ้น จะไปไหนมาไหนก็ต้องคอยระวังระแวงว่าจะปุ๊บปั๊บรับโชคไปฉีดเซรุ่มกันเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
แน่นอนครับว่าผู้ปกครองชาวอังกฤษก็คงไม่อยากจะให้ชาวบ้านชาวเมืองต้องมาลุ้นกับการถูกงูเห่ากัดก็เลยคิดแก้ปัญหานี้แบบตรงไปตรงมา
ด้วยการออกประกาศให้คนอินเดียออกล่างูเห่าแล้วนำซากงูเห่ามาขึ้นรางวัลโดยคิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้จะทำให้ประชากรงูเห่าลดลงได้
เรียกว่ายิ่งฆ่างูเห่าได้มากก็ยิ่งได้เงินมาก
ก็เลยทำให้คนอินเดียในยุคนนั้นออกล่างูเห่าเอาเงินรางวัลกันขนานใหญ่
ช่วงแรก ๆ
ของนโยบายล่างูเห่าขึ้นเงินรางวัลนี้ก็เป็นไปด้วยดีหรอกครับ
แต่เมื่อช่วยกันออกล่างูเห่าไปเรื่อย
ๆ ก็ทำให้ประชากรงูเห่าลดลงไปตามที่อังกฤษต้องการ ในขณะที่รายได้ของแขกก็ลดลงตามไปด้วย
จึงทำให้แขกปิ๊งไอเดียคิดแก้ปัญหาของตัวเองเพิ่มรายได้ให้กลับมาเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิมแบบหักปากกาเซียน
คือแทนที่จะใช้วิธีไปล่างูเห่าแบบเดิม
แขกก็เอางูเห่าไปเพาะเลี้ยงแบบทำฟาร์มงูเห่าแล้วก็นำมาฆ่าเพื่อเอาซากงูเห่าไปขายเพื่อขึ้นเงินกับอังกฤษ
ในเวลาต่อมาอังกฤษก็รู้ว่าตัวเองต้องการจะแก้ปัญหาหนึ่งแต่กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
ก็เลยประกาศยกเลิกการล่างูเห่าเอาเงินรางวัลซะงั้น
ข้างฝ่ายแขกพอถูกอังกฤษเท
อาบังแกก็เลยเทบ้าง
เทงูเห่าที่เพาะเลี้ยงไว้นี่แหละครับ
ก็คือเอางูเห่าที่เลี้ยงไว้แล้วขายไม่ได้ไปปล่อยทิ้ง
ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า
Cobra
Effect
ผลก็คืองูเห่าในเดลีมีมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
!!??
ก็เลยเป็นข้อคิดสำหรับนักแก้ปัญหาว่าในการแก้ปัญหาต้องมองอย่างรอบด้าน
ต้องมองการแก้ปัญหาและผลกระทบจากมุมอื่นที่ไม่ใช่เพียงมุมมองของตัวเราเองเพียงฝ่ายเดียว
เพื่อไม่ให้เกิด Cobra Effect อย่างที่ผมฝอยมานี่แหละครับ
ปิดท้ายด้วยคำถามว่าบริษัทของท่านเคยแก้ปัญหาแล้วเจอ Cobra Effect บ้างไหมครับ ?