ถ้าจะถามว่าทำไมต้องมีการทดลองงานก็คงจะได้คำตอบทำนองที่ว่าเพราะบริษัทอยากจะดูผลงานกันให้แน่ใจเสียก่อนว่าจะทำงานได้จริงไหม เป็นยังไงบ้าง ก็เลยกำหนดช่วงเวลาในการทดลองงานขึ้นมา
โดยทั่วไปมักจะมีระยะเวลาทดลองงานไว้คล้ายกันคือไม่เกิน 120 วัน ถ้าจะถามต่อว่า “ทำไมต้องทดลองงานกันไม่เกิน 120 วันด้วย” ?? ผมได้ยินคำตอบของคนส่วนใหญ่ก็คือ “เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดเอาไว้” !!?? จริงหรือครับที่กฎหมายแรงงานกำหนดให้ทดลองงานไม่เกิน 120 วัน ? ถ้าเป็นอย่างนี้จริง บริษัทที่มีการต่อทดลองงานออกไปเกินกว่า 120 วันก็จะทำผิดกฎหมายแรงงานแหงแก๋ เรื่องนี้ก็เลยมาเป็นคำถามในวันนี้ยังไงล่ะครับว่าบริษัทมีสิทธิจะขอต่อทดลองงานพนักงานใหม่ได้หรือไม่ แถมพนักงานเข้าใหม่บางคนยังเข้าใจว่าบริษัทที่ขอต่อทดลองงานกำลังทำผิดกฎหมายแรงงานที่กำหนดให้ทดลองงานไม่เกิน 120 วัน ผมเลยขออธิบายให้เข้าใจตรงกันตรงนี้ว่า.... ไม่มีมาตราไหนในกฎหมายแรงงานที่ระบุให้มีการทดลองงานเลยแม้แต่มาตราเดียวนะครับ ! การทดลองงานจึงเป็นเรื่องที่ตกลงกันเองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แล้วทำไมบริษัทส่วนใหญ่ถึงทดลองงานกันไม่เกิน 120 วันล่ะ ? ก็ตอบแบบตรงไปตรงมาได้ว่า…. ถ้าหากมีการทดลองงานยังไม่ถึง 120 วัน แล้วลูกจ้างผลงานไม่ดีมีปัญหาเช่น ในระหว่างการทดลองงานพนักงานก็ชอบมาสาย, อู้งาน, ไม่รับผิดชอบงาน, ไม่สนใจเรียนรู้งาน, ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่บริษัทคาดหวัง ฯลฯ บริษัทก็สามารถจะแจ้งเลิกจ้างพนักงานที่มีปัญหาเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน (รายละเอียดให้ดูในมาตรา 118 เพิ่มเติมนะครับ) เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สมมุติว่าบริษัทรับพนักงานเข้ามาทำงานและทดลองงานมาแล้วเมื่อถึงกำหนด 120 วัน บริษัทอยากจะต่อทดลองงานจึงเป็นสิ่งที่บริษัททำได้ครับ แต่บริษัทจะต้องเข้าใจว่าสถานะของพนักงานทดลองงานคนนี้กลายเป็น “ลูกจ้าง” ที่ทำงานครบ 120 วันไปแล้วนะครับ ดังนั้นเมื่อต่อทดลองงานออกไปไม่ว่าจะกี่วันหรือกี่เดือน แต่ถ้าอายุงานของลูกจ้างทดลองงานคนนี้ครบ 120 วันขึ้นไป หากบริษัทไม่พึงพอใจกับผลการทำงานแล้วบริษัทต้องการจะเลิกจ้าง บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตร 118 ก็เท่านั้นแหละครับ มาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างคงเข้าใจเรื่องของการต่อทดลองงานตรงกันแล้วนะครับ