ต้องยอมรับกันแล้วว่าพลังของโซเชียลมีเดียมีมากมายจริง ๆ ทั้งทางบวกและลบ
มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ว่ามีพลังจริง ๆ ครับพลังของโซเชียลฯทางบวกสามารถโอบอุ้มช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก คนถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรมให้มีกำลังใจลุกขึ้นมายืนหยัดในสังคมได้ในขณะที่พลังโซเชียลฯทางลบสามารถลงทัณฑ์คนที่ทำไม่ดีทำผิดแบบทัวร์ลง เล่นงานจนทำให้คนที่ถูกข่าวลือไปในทางที่ไม่จริงเสียผู้เสียคนไปก็ไม่น้อยแล้วพลังของโซเชียลฯมาเกี่ยวอะไรกับการบริหารงานบุคคล ?ในสมัยก่อนบริษัทจะทำยังไงกับพนักงานก็ได้แล้วแต่ใจของฝ่ายบริหารแล้วแต่ใจของเถ้าแก่หรือตามใจฝ่ายบริหาร เช่น....- เงินเดือนพนักงาน 20,000 บาท ก็จ่ายแค่ 18,000 บาท ที่เหลืออีก 2,000 บาทเอาไว้จ่ายเดือนหน้า (ขอต๊ะไว้ก่อน) หรือบางเดือนก็จ่ายเงินเดือนไม่ตรงเวลาอีกต่างหาก- หักเงินค้ำประกันการทำงานทุกตำแหน่งงาน ใครจะเข้าทำงานตำแหน่งไหนต้องเอาเงินมาวางค้ำประกันความเสียหายแม้ตำแหน่งนั้นไม่เกี่ยวกับความรับผิดชอบในตัวเงินหรือทรัพย์ของนายจ้างก็ตามซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน- ทำสัญญาจ้างงานบอกเอาไว้ว่าถ้าไม่ผ่านทดลองงานบริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าผลงานไม่ดี- หากพนักงานไม่ลาออกล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบของบริษัท บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าทำผิดกฎระเบียบเรื่องการลาออก- ไม่ใช้ “ค่าจ้าง” เป็นฐานในการคำนวณโอที- ฯลฯ หากบริษัททำสิ่งที่ผิด ๆ ตามที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ในสมัยก่อนมีสื่อโซเชียลก็ไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรกลับมาที่บริษัทนัก เพราะพนักงานก็ไม่รู้ว่าจะไปร้องเรียนเอากับใคร อย่างมากก็เขียนจดหมายไปที่หนังสือพิมพ์เพื่อร้องเรียนซึ่งก็ไม่รู้ว่าจดหมายจะไปถึงสำนักพิมพ์หรือเปล่า, เขาจะลงพิมพ์ให้ไหม, ถ้าตีพิมพ์ไปแล้วจะมีคนสนใจติดตามเรื่องไหม ฯลฯ ถ้าไม่ใช่เรื่องเด่นประเด็นฮ็อตหรือเรื่องน่าสนใจจริง ๆ ก็มักจะเงียบหายไป แต่ในปัจจุบันนี้ทุกคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่คน Gen Y เป็นต้นไป) มีสื่อโซเชียลฯอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นไลน์, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม,ติ๊กตอก ฯลฯถ้าบริษัทไหนไปทำแบบที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นในยุคนี้ เรื่องเหล่านี้ก็จะถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นข้อความ, ภาพ, คลิปยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดียิ่งมีการแชร์ต่อกันไปอย่างรวดเร็ว เท่า ๆ กับชื่อเสียงขององค์กรก็จะเสียหายอย่างรวดเร็วและกู้กลับคืนมาได้ยากลำบากอีกด้วยยังจำเรื่องพี่กบที่ไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปงานศพคุณแม่ได้ใช่ไหมครับดังนั้น องค์กรและผู้บริหารทุกระดับควรจะต้องหันกลับมาทบทวนกฎ ระเบียบ วิธีการปฏิบัติ รวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลที่ปฏิบัติกับพนักงานแบบไม่ถูกต้องเสียใหม่ให้มีความถูกต้อง ชัดเจน มีเหตุมีผลที่อธิบายให้เข้าใจตรงกันได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นจำเลยของสังคมในสื่อโซเชียล ซึ่ง HR เองก็จะต้องปรับตัวเองให้เข้าสู่โหมดออนไลน์เพื่อหาข้อมูลให้มากขึ้นเพื่อนำมาสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้บริหารและพนักงานให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร รวมถึงคนที่ทำงาน HR ควรจะต้องกล้าให้ความเห็นคัดค้านฝ่ายบริหารหากจะมีการตัดสินใจใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ถูกต้องในหลักของการบริหารงานบุคคลHR ต้องกล้าพูดกล้าชี้ให้เห็นถึงผลดี-ผลเสียเพื่อให้ฝ่ายบริหารทบทวนการตัดสินใจใหม่อีกครั้งอย่างมืออาชีพ เพื่อลดผลกระทบความเสียหายและลดโอกาสที่จะทำให้องค์กร (หรือตัวผู้บริหารในองค์กร) ถูกนำไปโพสในเชิงลบผ่านสื่อโซเชียลด้วยนะครับ ที่ผมพูดมานี้ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องกลัวสื่อโซเชียลฯจนไม่เป็นอันทำอะไรนะครับ เพียงแค่อยากให้ตระหนักว่า.... สื่อโซเชียล....อยู่ในอากาศในคลื่นไวไฟหรือ 5G มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้..แต่มีพลังอยู่จริง ถ้าองค์กรหรือฝ่ายบริหาร (รวมถึงหัวหน้างานทุกระดับ) มีหลักและวิธีการบริหารงานบุคคลด้วยความถูกต้องมีเหตุผล และรู้จักใช้สื่อโซเชียลเป็นก็จะได้รับพลังนี้ในเชิงบวก แต่ถ้ามีการบริหารงานบุคคลแบบไม่ถูกต้องหรือใช้สื่อนี้ไม่เป็นก็ต้องระวังพลังของสื่อโซเชียลในเชิงลบเอาไว้ให้ดีครับ