วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ทำไมบริษัทต้องทำโครงสร้างเงินเดือนด้วย ที่ผ่านมาก็มีการจ่ายเงินเดือนกันไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร

           บริษัทไหนที่ยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือนก็เปรียบเสมือนบริษัทนั้นยังไม่มีกติกาในการจ่ายค่าตอบแทนที่ชัดเจนและเป็นธรรม เปรียบเสมือนปลูกบ้านแต่ไม่ตอกเสาเข็ม

ถ้าบอกว่าบริษัทจ่ายเงินเดือนอยู่ทุกเดือนโดยไม่มีปัญหานั้นเป็นการมองอย่างผิวเผินครับ !

            เพราะการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานทุกเดือนโดยไม่มีโครงสร้างเงินเดือนจะทำให้เกิดปัญหาสะสมหลายเรื่องที่ซ่อนอยู่โดยผู้บริหารไม่รู้ตัว เปรียบเหมือนโรคร้ายที่หลบซ่อนอยู่ในร่างกายคนโดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่ามีโรคร้ายที่รอเวลาจะก่อปัญหาเมื่อร่างกายเริ่มอ่อนแอ เช่น การบริษัทจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่ไม่มีผลงาน, จ่ายให้กับพนักงานที่ไม่มีความรับผิดชอบในงานที่เพิ่มขึ้น, ไม่พัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ฯลฯ ไปเรื่อย ๆ 

           ในขณะที่พนักงานเหล่านี้จะมีฐานเงินเดือนเพิ่มสูงมากขึ้นทุก ๆ ปีก็จะทำให้ Staff Cost ของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุดเพราะไม่มีเพดานเงินเดือนตัน

ซึ่งพนักงานที่มีฐานเงินเดือนสูงขึ้นเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำผลงานให้กับบริษัทที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี จนในที่สุดบริษัทนั้นก็จะไปไม่รอดเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแบบไม่มีลิมิต (แถมไม่มีเหตุผล) หรือพูดง่าย ๆ ว่าจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้ทุกปีแต่ได้เนื้องานเท่าเดิม

นี่ยังไม่รวมพนักงานที่ไม่มีผลงานแถมยังมีทัศนคติแย่ ๆ กับบริษัทประเภทงานหลักไม่ทำ งานประจำคือด่าผู้บริหารด่าบริษัทว่าให้เงินเดือนน้อย ให้โบนัสน้อย ฯลฯ อีกต่างหาก 

เรียกว่าด่าทุกวันแต่บริษัทก็ยังต้องให้ค่าด่าไปเรื่อย ๆ 

ส่วนพนักงานที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มีความขยันขันแข็ง มีฝีมือมีผลงาน มีความสามารถตั้งใจทำงาน แต่ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าที่ตลาดภายนอกจ่ายกัน เพราะบริษัทไม่มีโครงสร้างเงินเดือนจึงทำให้ไม่รู้ว่าตอนนี้จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานเหล่านี้ต่ำกว่าที่ตลาดภายนอกเขาจ่ายกันมากเกินไปหรือเรียกว่า “Under Paid” 

ก็จะทำให้พนักงานที่ทำงานดีเหล่านั้นรู้สึกไม่เป็นธรรมและรับไม่ได้ และในที่สุดพนักงานที่ดีมีผลงานมีความรู้ความสามารถเหล่านี้ต้องลาออกไป

แต่ถ้ามีโครงสร้างเงินเดือนบริษัทจะมีกรอบการจ่าย หรือมีกระบอกเงินเดือนคือมี Min มี Max มีค่ากลาง (Midpoint) ที่ชัดเจนและใช้กรอบการจ่ายนี้เป็นตัวบอกได้ว่า การที่บริษัทจ่ายเงินเดือนในตำแหน่งต่าง ๆ ให้สูงหรือต่ำ มากหรือน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับการจ่ายของตลาดแข่งขันภายนอกบริษัท 

ซึ่งจะทำให้บริษัทกำหนดอัตราการจ่ายเงินเดือนได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรมและสามารถแข่งขันกับตลาดในการรักษาคนที่เก่งคนดีเอาไว้ได้ และยังใช้ประโยชน์ของโครงสร้างเงินเดือนในการบริหารจัดการด้าน HR อีกหลาย ๆ เรื่องเช่น ใช้เป็นตัวบอกว่าอัตราเงินเดือนที่ผู้สมัครต้องการน่ะอยู่ตรงไหนของโครงสร้างเงินเดือน ถ้าบริษัทตกลงรับเข้ามาแล้วจะเกิดปัญหาอะไรตามมาอีกหรือไม่ 

หรือใช้ดูประกอบการทำ Career Path ว่าจำเป็นต้องมีการปรับเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษสำหรับ Talent ที่บริษัทมีแผนจะวางสายความก้าวหน้าแบบ Fast Track แบบไหนยังไง, การกำหนดหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่ง, การขึ้นเงินเดือนประจำปี, หลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยโครงสร้างเงินเดือนเป็นหลักในการอ้างอิง เพราะถ้าไม่มีโครงสร้างเงินเดือนก็ไม่มีอะไรที่จะเป็น Benchmark ที่จะบอกได้ว่าตอนนี้เรามีการจ่ายเงินเดือนอยู่ตรงจุดไหน

นี่แหละครับคือความจำเป็นของบริษัทที่จะต้องมีโครงสร้างเงินเดือน