วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566

ควรปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งหรือไม่และต้องจ่ายค่าตำแหน่งด้วยไหม ?

             ปัญหาเรื่องหนึ่งที่มักได้ยินมาโดยตลอดเกี่ยวกับการ Promote ก็คือ บริษัทจำเป็นต้องปรับเงินเดือนให้พนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ ถ้าจะปรับควรจะปรับให้เท่าไหร่ดี ค่าตำแหน่งต้องจ่ายด้วยไหม ถ้าต้องจ่ายควรจะจ่ายเท่าไหร่ และควรจะจ่ายเมื่อไหร่

            คำถามยาวติดกันเป็นพรืดแบบนี้ผมก็เลยทำเป็นถาม-ตอบเป็นข้อ ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ อย่างนี้นะครับ

ถาม : บริษัทควรปรับขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ ถ้าจะปรับควรจะปรับให้เท่าไหร่ดี ?

ตอบ :

1.      ควรปรับขึ้นเงินเดือนให้ตามหลัก เงินเดือน = P+C (P=Performance และ C=Competency) เหตุผลคือเมื่อพนักงานมีทั้งผลงานที่ดี มีศักยภาพความสามารถมีความรู้มีทักษะมีคุณลักษณะภายในที่เหมาะกับงานและความรับผิดชอบในตำแหน่งที่มีค่างาน (Job Value) เพิ่มมากขึ้นจึงควรต้องมีการปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อให้เกิดแรงจูงใจกับตัวพนักงาน และเป็นการแสดงการยอมรับ (Recognition) ว่าฝ่ายบริหารเห็นความสำคัญในตัวพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งนี้ที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น

2.      ค่าเฉลี่ยในการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote ประมาณ 10-12% แต่ไม่เกินค่ากลาง (Midpoint) ของกระบอกเงินเดือนที่ได้รับการ Promote ขึ้นไป ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่นโยบายฝ่ายบริหารของแต่ละบริษัทที่จะต้องไปคิดต่อกันเอาเองว่าเราควรจะปรับเงินเดือนเมื่อ Promote สักกี่เปอร์เซ็นต์ดี

ถาม : ค่าตำแหน่งต้องจ่ายด้วยไหม ถ้าจ่ายควรให้เท่าไหร่ดี

1.      บางบริษัทก็จ่ายค่าตำแหน่งแต่บางบริษัทก็ไม่จ่ายตำแหน่ง อันนี้ก็คงต้องแล้วแต่นโยบายของบริษัทท่านว่าจะให้หรือไม่ให้ ถ้าบริษัทที่อยากจะสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเพิ่มมากขึ้นก็มักจะมีการให้ค่าตำแหน่ง พูดง่าย ๆ คือคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจะได้ทั้งปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นและได้รับค่าตำแหน่งอีกด้วย ถ้าบริษัทต้องการรักษาคนมีฝีมือเอาไว้แล้วเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งก็จะมีค่าตำแหน่งให้ครับ

2.      การให้ค่าตำแหน่งควรมีระเบียบการจ่ายค่าตำแหน่งระบุเงื่อนไขให้ชัดเจนและประกาศให้พนักงานรับทราบพร้อมทั้งให้พนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเซ็นรับทราบเงื่อนไขเอาไว้ด้วย เช่นจะจ่ายให้กับตำแหน่งไหนบ้าง, ถ้าพนักงานไม่ได้ดำรงตำแหน่งนี้แล้ว (เช่นบริษัทสั่งย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น) ก็จะไม่ได้รับค่าตำแหน่งนี้อีกต่อไป

3.      ผู้บริหารต้องเข้าใจเสมอว่าค่าตำแหน่งเป็น “ค่าจ้าง” นะครับ ดังนั้นระหว่างที่พนักงานได้รับค่าตำแหน่งจะต้องนำค่าตำแหน่งเข้าไปรวมเป็นฐานค่าจ้างในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับพนักงานด้วย เช่น ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าโอที, ค่าชดเชย เป็นต้น

4.      ส่วนคำถามว่าค่าตำแหน่งควรจะจ่ายเท่าไหร่ดี ก็แนะนำให้ไปดูผลสำรวจค่าจ้างเงินเดือนของสำนักต่าง ๆ ที่ทำออกมาแล้วท่านก็มาหาค่าเฉลี่ยแล้ววิเคราะห์ดูนะครับว่าบริษัทของเราควรจะให้ค่าตำแหน่งไหนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ เพราะเรื่องนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมากคุยกันยาวครับ

ถาม : ทั้งการปรับเงินเดือนขึ้นและการจ่ายค่าตำแหน่งควรจ่ายให้เมื่อไหร่

1.      หลักที่ใช้ปฏิบัติกันทั่วไปคือ ถ้าบริษัทมีการกำหนดให้พนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งต้องรักษาการหรือทดลองปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลาที่ตกลงกัน เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน ในระยะเวลาที่รักษาการนี้พนักงานจะยังไม่ได้รับการปรับฐานเงินเดือนหรือยังไม่ได้รับค่าตำแหน่งครับ เพราะต้องมีการติดตามผลงานและประเมินว่าสามารถทำงานรับผิดชอบในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปได้หรือไม่ ตัวอย่างคำสั่งให้รักษาการ เช่น “ให้นาย.....ผู้ช่วยผู้จัดการแผนก......ไปรักษาการในตำแหน่งผู้จัดการแผนก......เป็นเวลา 4 เดือนนับตั้งแต่วันที่......ถึงวันที่........”

2.      ถ้าพนักงานไม่ผ่านรักษาการ บริษัทก็จะมีคำสั่งให้พนักงานดำรงตำแหน่งเดิม แต่ถ้าประเมินผลแล้วผ่านรักษาการ บริษัทก็จะมีประกาศแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่และการปรับเงินเดือนรวมถึงจ่ายค่าตำแหน่งให้ตั้งแต่วันที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่

3.      สาเหตุที่บริษัทจะปรับเงินเดือนและให้ค่าตำแหน่งเมื่อผ่านรักษาการก็เพราะถ้าบริษัทไปปรับขึ้นเงินเดือนและจ่ายค่าตำแหน่งให้ไปแล้ว ถ้าพนักงานมือไม่ถึงหรือขาดความสามารถที่จะรับผิดชอบในตำแหน่งที่สูงขึ้นตามที่บริษัทคาดหวัง บริษัทจะไปลดเงินเดือนลงหรือเรียกค่าตำแหน่งคืนไม่ได้ (ถ้าพนักงานไม่ยินยอม) ซึ่งจะเป็นเรื่องดราม่าตามมาภายหลัง หลายบริษัทจึงปรับเงินเดือนขึ้นและให้ค่าตำแหน่งหลังจากผ่านรักษาการ

เชื่อว่าคงได้ไอเดียในการนำไปปรับใช้ดูกันแล้วนะครับ