วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2566

ประเภทของหัวหน้ากับการพัฒนาลูกน้อง

            ผมมักเจอหัวหน้า 2 ประเภทหลัก ๆ คือ....

          ประเภทแรก : มีปัญหาด่าไว้ก่อน

หัวหน้าที่สั่งงานลูกน้องไปแล้วเวลาลูกน้องมีปัญหากลับมาถามก็จะเจอด่าไว้ก่อน (แต่คงไม่ใช่พ่อสอนไว้) เช่น “ผมให้คุณไปทำงานอะไรก็ดูมีปัญหาไปซะทุกเรื่องเลยนะ ทำงานมาตั้งหลายปีแล้วรู้จักแก้ปัญหาเองบ้างสิ ไม่ใช่อะไร ๆ ก็วิ่งมาถามผมอยู่นั่นแหละ มาถามอะไรกันตอนนี้ผมไม่มีเวลา พี่ต้องการให้งานเสร็จวันที่......ไปทำให้ได้ก็แล้วกัน”

            หรือ “พี่ไม่มีหน้าที่มารับฟังปัญหาของคุณไปทำมาให้ได้ก็แล้วกัน จบนะ....”

            อย่างงี้จะมีหัวหน้าไปเพื่อ....?

          ประเภทที่ 2 : มีปัญหารอหัวหน้าสั่ง

หัวหน้าประเภทนี้คือเมื่อสั่งงานลูกน้องไปแล้ว พอลูกน้องเจอปัญหาแล้วกลับมาถามหัวหน้า หัวหน้าก็จะเป็นเหมือนพี่ใหญ่ที่มีอำนาจมีความสำคัญที่รู้ทุกเรื่องที่จะคอยบอก (ก็คือ “สั่ง”) ให้ลูกน้องแก้ปัญหาตามสั่ง เช่น “อ๋อ..ปัญหานี้น้องไปทำอย่างงี้เลยนะ 1,2,3,4,5,6,7,8….” แล้วลูกน้องก็ต้องทำตามที่หัวหน้าสั่งการ

ดูผิวเผินในมุมของลูกน้องก็ดีนะครับ เพราะพอมีปัญหาอะไรก็วิ่งไปหาพี่เขาเดี๋ยวพี่เขาก็บอกเองแหละว่าจะให้เราทำอะไร ลูกน้องก็ไม่ต้องใช้สมองคิดอะไรให้มาก ทำตามที่พี่เขาสั่งมาทุกปัญหาก็จบ ??

            แต่..ถ้าหัวหน้าทำอย่างนี้และติดวิธีนี้คิดว่าเป็นวิธีช่วยลูกน้องแก้ปัญหาที่ดีแล้ว ผมว่าหัวหน้ากำลังแก้ปัญหานี้เพื่อสร้างปัญหาใหญ่กว่าในอนาคตแล้วล่ะครับ

            เพราะหัวหน้าประเภทนี้มักจะไปบ่นกับคนรอบข้างอยู่เสมอ ๆ ว่า “โอย..เหนื่อยใจจริง ๆ ลูกน้องผมคิดอะไรเองไม่เป็นเลยจริง ๆ มีปัญหาอะไรก็ต้องวิ่งมาหาผมทุกครั้ง ขนาดผมป่วยนอนโรงพยาบาลยังโทรมาให้ผมช่วยแก้ปัญหาเลย....”

            อย่างงี้หัวหน้าก็เหนื่อย ลูกน้องก็คิดเองไม่เป็นและโตต่อไปได้ยากนะครับ

            งั้นหัวหน้าควรทำยังไง ?

            ก็เป็นประเภทที่ 3 : สิครับคือหัวหน้าที่เป็นพี่หรือเป็นเพื่อนที่คอยเป็นที่ปรึกษาหรือเป็น Coach ให้กับลูกน้อง

            หลักการสำคัญคือไม่ควรด่าหรือปัดความรับผิดชอบเสียทั้งหมด (เหมือนหัวหน้าประเภทที่ 1) และก็ไม่ใช้วิธี “สั่ง” ลูกน้องทุกครั้ง (เหมือนหัวหน้าประเภทที่ 2)

            แต่ควรจะเป็นหัวหน้าประเภทที่ 3 คือหัวหน้าที่เป็นพี่เป็นเพื่อนหรือเป็นโค้ชหรือเป็นที่ปรึกษา เช่น....

            “ปัญหาที่น้องมาถามนี่พี่ให้เวลาน้องกลับไปลองคิดดูสักคืนดีไหมว่าไอเดียของน้องคิดว่าควรจะแก้ยังไงได้บ้าง มีทางแก้ที่เป็นไปได้ได้สักกี่ทาง แล้วพรุ่งนี้มาคุยกันตอนบ่ายสามนะ....”

            แล้วเมื่อถึงเวลานัดก็ฟังไอเดียของลูกน้อง อะไรดีก็ชมเชย อะไรที่ยังไม่ใช่ไม่ถูกต้องก็ให้คำแนะนำเพิ่มเติม แต่หลักก็คือควรจะต้องให้ลูกน้องคิดแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเขาเองเป็นส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมดได้ยิ่งดี) โดยหัวหน้าเป็นที่ปรึกษาคอยใช้คำพูดคำถามเพื่อให้เขาเกิดไอเดียขึ้นมา ซึ่งหัวหน้าต้องเปิดใจรับฟัง มีทักษะการรับฟังที่ดี การให้คำปรึกษาและมี EQ ที่ดี

            วิธีนี้ผมว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาทั้งเรื่องงานที่ลูกน้องเจออยู่และแก้ปัญหาเกี่ยวกับตัวลูกน้องได้แบบยั่งยืนและทำให้ลูกน้องมีพัฒนาตัวเองให้สามารถเติบโตก้าวหน้าได้ดีขึ้นและเก่งขึ้นจริงไหมครับ