วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ลาออกปากเปล่าได้ไหม ?

             พนักงานบัญชีเดินมาบอกกับผู้จัดการฝ่ายบัญชีว่าจะขอลาออก (เช่นมาบอกว่าจะลาออกวันที่ 1 กันยายน โดยระบุวันที่มีผลจะลาออกคือวันที่ 1 ตุลาคม) คือบอกล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบบริษัทนั่นแหละครับ เพียงแต่พนักงานไม่ได้ยื่นใบลาออก

            ผู้จัดการฝ่ายก็แจ้งมาที่ฝ่าย HR ให้เตรียมหาคนมาทำงานแทน  

ทาง HR เองก็ไม่ได้ทวงถามใบลาออกจากหัวหน้าของพนักงานคนนี้แต่รีบไปหาคนมาทำงานแทนพนักงานที่จะลาออก ปัญหามาเกิดตรงที่พอรับพนักงานเข้ามาทดแทนได้

พนักงานกลับมาบอกผู้จัดการฝ่ายบัญชีว่าเปลี่ยนใจไม่ลาออกแล้ว

            ก็เลยเกิดคำถามว่าอย่างงี้ก็ได้เหรอ..ตกลงบริษัทจะทำยังไงกับพนักงานคนนี้ดี ?

            จะถือว่าเป็นการลาออก หรือจะถือเป็นการเลิกจ้างถ้าบริษัทจะไม่ให้พนักงานคนนี้มาทำงานจะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เพราะไม่มีใบลาออกเป็นหลักฐาน ?

            เรื่องนี้อธิบายได้อย่างนี้ครับ

1.      การลาออกถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากฝั่งลูกจ้าง ซี่งกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.5681-5684/2555 บอกไว้ว่า “....ส่วนการเลิกสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ก็มิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา 

นายจ้างหรือลูกจ้างจึงบอกกล่าวเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ 

ส่วนการลาออกที่มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือก็ดี หรือมิได้ยื่นใบลาออกต่อผู้มีอำนาจของจำเลยล่วงหน้าและได้รับอนุมัติจากต้นสังกัด ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ดี 

ถือเป็นเรื่องการแสดงเจตนาลาออกหรือเลิกสัญญาจ้างที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยก็ถือได้เพียงว่า ลูกจ้างปฏิบัติผิดหน้าที่ตามที่กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเท่านั้น 

ซึ่งหากการกระทำดังกล่าวก็เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างย่อมใช้สิทธิทางศาลต่างหาก  หาทำให้การแสดงเจตนาลาออกของโจทก์ที่  เสียไปไม่ 

ดังนั้น การที่โจทก์ที่  แสดงเจตนาขอลาออกด้วยวาจาต่อนายจ้างย่อมมีผลทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง

2.      สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาตามข้อ 1 ได้ว่าการบอกลาออกด้วยวาจา (หรือปากเปล่า) มีผลได้เช่นเดียวกับการเขียนใบลาออกครับ

แต่..ปัญหาของบริษัทที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้นมีอยู่ว่าตอนที่พนักงานไปบอกลาออกกับผู้จัดการฝ่ายบัญชีน่ะคงต้องไปดูข้อเท็จจริงกันต่อว่ามีพยานรู้เห็นยืนยันได้ว่าพนักงานคนนี้มาบอกลาออกกับผู้จัดการฝ่ายบัญชีจริงหรือไม่

เพราะบริบทข้อเท็จจริงเหล่านี้ถ้าหากมีปัญหาฟ้องร้องกันก็คงต้องนำไปสู่ศาล ซึ่งสุดท้ายเรื่องนี้จะถือว่าเป็นการลาออกหรือถูกเลิกจ้างก็อยู่ที่ศาลท่านจะตัดสิน

            ที่เขียนมานี้ผมแค่อยากจะแชร์ให้ทั้ง HR และ Line Manager ทราบว่าปัญหาทำนองนี้จะไม่เกิดขึ้น และไม่เป็นคดีไปถึงศาลเลย ถ้าเพียงแต่ HR ของบริษัทนี้ไม่ Over React เร็วจนเกินไป

รวมถึงต้องให้ความรู้กับ Line Manager ด้วยว่า ถ้าพนักงานมาบอกว่าจะลาออกแล้วไม่ยื่นใบลาออก ก็ให้ผู้บังคับบัญชาบอกให้พนักงานนำใบลาออกมายื่นให้ด้วย หรือ HR ก็ควรจะช่วยตามเรื่องใบลาออกจากตัวพนักงานด้วยก็ได้

            แม้จะมีคำพิพาษาศาลฎีกาจะบอกไว้ว่าการลาออกไม่จำเป็นต้องยื่นใบลาออกเป็นหนังสือ จะบอกลาออกด้วยปากเปล่าก็ได้

            แต่การที่มีหลักฐานชัดเจนเช่นใบลาออกก็ย่อมจะดีกว่าการพูดปากเปล่า แถมยังป้องกันปัญหาดราม่าในอนาคตอีกด้วยจริงไหมครับ ?