วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ค่าชดเชยต้องใช้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นฐานคำนวณ

             ก่อนหน้านี้ผมเขียนเรื่องที่บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานในกรณีที่แจ้งเลิกจ้างเพราะปิดกิจการไปแล้ว ก็มีเรื่องเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมเผื่อว่าจะเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคนที่เป็นพนักงานให้ตัดสินใจในเรื่องนี้ให้ดีเสียก่อน

            เคยมีเจ้าของกิจการถามผม (แบบมีวาระแอบแฝง) ว่า “ถ้าบริษัทประสบปัญหาขาดทุน บริษัทจะลดเงินเดือนพนักงานลงได้ไหม ?”

            ผมเชื่อว่าคนที่เป็น HR ทุกคนก็ตอบคำถามนี้ได้นะครับว่าโดยหลักการแล้วนายจ้างจะเปลี่ยนสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างให้กลายเป็นโทษ (เช่นการลดเงินเดือนลง) ไม่ได้

            แต่....(ตรงคำว่าแต่..นี่แหละครับ) ถ้าลูกจ้างยินยอมโดยทำสัญญายินยอมลดเงินเดือนลงก็สามารถทำได้ (แต่การลดค่าจ้างนั้นต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ) ถ้าใครไม่ยินยอมเซ็นสัญญาก็ไม่มีผลกับคนนั้นนะครับ

            พอตอบไปแบบนี้เจ้าของบริษัทแห่งนั้นก็เผลอหลุดออกมาว่าเขาคิดว่าพอหลังจากขอลดเงินเดือนแล้วอีกสัก 3 ถึง 6 เดือนก็คิดว่าจะปิดบริษัท

            นี่แหละครับคือเป้าหมายที่แท้จริงของผู้บริหารบางคนที่ขาดความคิดแบบ “ใจเขา-ใจเรา”

            คือเวลาไปบอกกับพนักงานขอความร่วมมือลดเงินเดือนลงก็ใช้เหตุผลว่าช่วยกันเพื่อให้บริษัทอยู่รอด แต่เรื่องจริง (ในใจ) ของกรรมการผู้จัดการคือต้องการจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าชดเชยตามกฎหมายลง

          เพราะฐานในการคำนวณค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานบอกไว้ชัดเจนว่าให้ใช้ค่าจ้างอัตราสุดท้าย !

            กฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “เงินเดือน” นะครับ มีแต่คำว่า “ค่าจ้าง” เพราะเงินเดือนคือ “ค่าจ้าง” แต่ค่าจ้างไม่ได้มีเฉพาะเงินเดือน ถ้าบริษัทไหนมีการจ่ายเงินอื่นที่เข้าข่ายค่าจ้าง เช่น ค่าครองชีพที่จ่ายเป็นประจำเท่ากันทุกเดือน, ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ ฯลฯ ต้องนำมารวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วยนะครับ

            ผมยกตัวอย่างเช่น สมมุตินาย A และนาย B ได้รับเงินเดือนปัจจุบันเท่ากันคือเดือนละ 20,000 บาท ทั้งสองคนนี้เข้าทำงานกับบริษัทพร้อมกัน ตอนนี้อายุงาน 4 ปี

อยู่มาวันหนึ่งฝ่ายบริหารก็ขอความร่วมมือพนักงานช่วยลดเงินเดือนลง 10% โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้บริษัทอยู่รอดฝ่ายพ้นวิกฤตไปด้วยกันในยามยากลำบากนี้

            สมมุติว่านาย A เซ็นยินยอมลดเงินเดือนลง 10% นาย A ก็จะได้รับเงินเดือน 18,000 บาท

            ส่วนนาย B ไม่เซ็นยินยอม นาย B ก็ยังได้รับเงินเดือน 20,000 บาทเท่าเดิม

            หลังจากลดเงินเดือนไปได้ 6 เดือนบริษัทแจ้งเลิกจ้างพนักงานทั้งบริษัทเพราะปิดกิจการ

            นาย A และนาย B ก็จะได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน (ม.118) คืออายุงาน 3 ปีไม่เกิน 6 ปี จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันตามนี้

          นาย A ก็จะได้รับค่าชดเชย 18,000 หาร 30 = 600 บาทต่อวัน = 600x180 = 108,000 บาท

          นาย B ก็จะได้รับค่าชดเชย 20,000 หาร 30 = 666.67 บาทต่อวัน = 666.67x180 = 120,000 บาท

            เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่จะต้องตัดสินใจว่าควรจะลดเงินเดือนดีหรือไม่  

ถ้าที่ผ่านมาทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานก็มีความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติต่อกันด้วยดีเสมอมา แล้วในยามที่บริษัทมีปัญหาต้องการขอความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานเพื่อช่วยกับประคับประคองให้บริษัทฝ่าฟันวิกฤตต่อไปได้ ผมว่าก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำ แล้วเมื่อบริษัทมีสถานะที่ดีขึ้นผมก็เคยเจอว่าผู้บริหารก็ปรับเงินเดือนคืนกลับมาให้พนักงานที่มีน้ำใจให้กับบริษัทในยามยากก็มีนะครับ

            แต่ถ้าเจอบริษัทที่มีผู้บริหารมีวาระแอบแฝงอย่างที่เล่ามาให้ฟังข้างต้นก็คงขึ้นอยู่กับคนที่เป็นพนักงานต้องประเมินสถานการณ์ดูแล้วล่ะครับว่าควรจะร่วมมือดีหรือไม่

            เป็นกำลังใจให้ทั้งบริษัทและพนักงานฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันนะครับ