หลายบริษัทยังมีการจัดหลักสูตร “การสร้างจิตสำนึกรักองค์กร” หรือ “Employee
Engagement” แล้วก็ให้พนักงานเข้าอบรม
วัตถุประสงค์ก็ไม่มีอะไรมากคืออยากจะให้พนักงานเกิดความรักและผูกพันกับบริษัทมากขึ้นจะได้ทำงานด้วยกันให้นานขึ้นจะได้ลดอัตราการลาออกลง
หรือบางทีก็ทำเป็นโครงการรณรงค์ให้พนักงานเกิดจิตสำนึกรักองค์กรด้วยการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการให้โดยมีการทำกิจกรรมกันอย่างเป็นระบบแล้วก็มีการประเมินความสำเร็จของโครงการว่าทำไปแล้วพนักงานรักองค์กรมากขึ้นบ้างไหม
ไม่ว่าจะจัดเป็นหลักสูตรฝึกอบรมหรือทำเป็นโครงการขึ้นมาก็ต้องใช้
“เงิน” ใช้งบประมาณซึ่งก็แล้วแต่นโยบายของฝ่ายบริหารของแต่ละบริษัทว่าจะทุ่มทุนสร้างกันสักขนาดไหน
บางบริษัทลงทุนไปในงานทำนองนี้ไม่ต่ำกว่าหกหลักกันเลยทีเดียว
คำถามคือ..ผลที่ได้กลับคืนมาคุ้มค่าใช้จ่ายที่ลงไปหรือไม่
จัดไปแล้วทำแล้วพนักงานเกิดจิตสำนึกรักองค์กรมากขึ้นหรือลดลงแค่ไหน
ลดการลาออกได้จริงไหม มีการวัดผลและติดตามผลที่ชัดเจนหรือไม่ยังไง ?
เพราะพอผมเข้าไปดูสื่อออนไลน์ในโซเชียลมีเดียเว็บไซด์ดัง ๆ มักจะเจอกระทู้ทำนองนี้ครับ
“ถ้าถูกปลูกฝังให้รักองค์กรที่ทำงานอยู่โดยทำให้เพื่อองค์กร
แต่มีองค์กรใหม่มาเสนอโอกาสที่ดีกว่ารายได้ที่ดีกว่าเพื่อน ๆ จะไปไหม ?”
ผมขอสะท้อนเสียงคนที่ตอบกระทู้ออนไลน์ข้างต้นนะครับว่าเขาคิดกันยังไง....
“ออกสิคะ รออะไร” , “รักองค์กรได้ก็แค่ระดับหนึ่งแต่ที่ใหม่ให้มากกว่าก็ควรจะไป”
, “ถ้าคุณออกวันนี้บริษัทก็ไม่ล้มหรอก เขาก็หาคนใหม่มาแทนคุณได้” , “อย่ารักองค์กร
องค์กรไม่ได้รักเรา เราตายไปเขาก็หาคนใหม่มาแทนได้” ,
“ผมลาออกมาหลายที่ตอนนี้เงินเดือนเพิ่มขึ้น พวกที่มองว่าหักหลังเป็นพวกดักดาน” ,
“บริษัทจะต้องทำอย่างนั้นอยู่แล้วครับ
แต่เราต้องมาพิจารณาดูว่าบริษัทจะเลี้ยงเราไว้หรือเปล่าถ้าเราไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้เหมือนก่อนผมเคยเห็นพนักงานหลายคนถูกให้ออกกระทันหันมาแล้ว..”
, “บริษัทยักษ์ใหญ่ที่โฆษณาทางทีวีว่าเห็นคุณค่าของพนักงานกำลังจ่อจะปลดพนักงานเป็นทางเลือกแรก”
ฯลฯ
ผมมีข้อคิดอย่างนี้ครับ
1. หลายบริษัทยังแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม
ๆ คือใช้การฝึกอบรมเป็นหลัก : คือยังมองการจัดฝึกอบรมเหมือนบ่อชุบตัวสังข์ทอง
แต่ไม่ได้คิดถึงธรรมชาติของคนเลยว่าการที่พนักงานจะรักหรือไม่รักบริษัทไม่ใช่แค่จัดให้พนักงานเข้าอบรมหลักสูตรประเภทจิตสำนึกรักองค์กรหรือแค่การจัดโครงการรณรงค์
ถ้าเปรียบบริษัทเป็นครอบครัวหนึ่ง
ถ้าพ่อแม่พี่ป้าน้าอาผู้ใหญ่ในบ้านยังไม่รักเด็กในบ้าน แถมยังทำตัวไม่ดีไม่น่านับถือกับเด็กในบ้าน
แต่อยากจะให้เด็กรักบ้านหลังนี้ก็เลยส่งเด็กในบ้านไปเรียนในโรงเรียนที่สอนให้เด็กรักบ้านรักครอบครัว
แต่พอเด็กกลับมาบ้านก็เจอผู้อาวุโสในบ้านทำตัวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี,
ปากพูดไปทางแต่การกระทำไปอีกทาง, ดุด่าพนักงานแบบใช้อารมณ์ ฯลฯ
การส่งเด็กคนนี้ไปให้โรงเรียนสอนให้รักบ้านรักคนในบ้านจะได้ผลจริงหรือไม่ ?
2. ความรักความผูกพันเป็นเรื่องของใจใครจะมาบังคับให้รักไม่ได้ ถ้าผู้บริหารยังไม่เคยแสดงอะไรให้พนักงานเห็นเลยว่ารักและหวังดีกับพนักงานยังไง
แต่อยากจะให้พนักงานมารักบริษัท มันจะย้อนแย้งกันไหม ถ้าหัวหน้าเจอลูกน้องทุกวันก็มีแต่พูดจาให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำน้ำใจ
มีวาจาเป็นอาวุธดาวพุธเป็นวินาศ จุดเดือดต่ำฟิวส์ขาดง่าย
อารมณ์ร้ายโวยวายเสียงดังใส่พนักงานเป็นประจำ ฯลฯ
อย่างนี้แล้วการส่งพนักงานเข้าอบรมหลักสูตรการสร้างจิตสำนึกรักองค์กรจะได้ผลไหมล่ะครับ
?
3. บริษัทยังมีกฎระเบียบที่เอาเปรียบพนักงาน ในบางบริษัทที่ยังมีผู้บริหารคิดเล็กคิดน้อยทำให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทเอาเปรียบ
เช่น หักค่ามาสายเกินจริง(การหักค่ามาสายผิดกฎหมายแรงงานนะครับ),
จัดงานปีใหม่ประจำปีแต่ให้พนักงานออกเงินกันเอง, สั่งให้พนักงานไปทำงานนอกสถานที่แต่ให้จ่ายค่าแท็กซี่เอง,
สั่งให้ทำงานล่วงเวลาแต่ไม่จ่ายโอที, มีการลงโทษแบบเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม, มีกฎระเบียบต่าง
ๆ ที่ผิดกฎหมายแรงงาน ฯลฯ
แบบนี้จะให้พนักงานรักบริษัทก็คงจะเป็นไปไม่ได้หรอกครับ
แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการส่งพนักงานไปอบรม บริษัทเริ่มทำอย่างนี้ก่อนจะดีไหมครับ
1. ทบทวนดูว่ามีกฎระเบียบหรือการบริหารจัดการที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมาบ้างหรือไม่
เช่น
-
กฎ ระเบียบ คำสั่ง
หรือวิธีปฏิบัติใดบ้างที่เอารัดเอาเปรียบพนักงาน หรือมีการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม
หรือผิดกฎหมายแรงงาน ฯลฯ
-
ผู้บริหาร (คนไหน)
ในฝ่ายไหนหรือแผนกไหนที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (อย่างที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้น)
กับพนักงานบ้าง แล้วผู้บริหารระดับเหนือขึ้นไปเคยเรียกผู้บริหารประเภทนี้มา Feedback
เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบ้างหรือยัง
มีการติดตามผลอย่างจริงจังแค่ไหน
-
บริษัทเคยมีกิจกรรมทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อเสริมสร้างให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในบริษัทบ้างหรือไม่
เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงานและนำความคิดเห็นที่ดี ๆ
มาต่อยอดจนเกิดผลเป็นรูปธรรมในบริษัท รวมถึงมีระบบรางวัล (ที่ไม่ใช่การให้เป็นเงินเพียงอย่างเดียว)
เช่นมีการประกาศชมเชย, การให้โล่ให้เหรียญ
เพื่อทำให้พนักงานที่ทำดีเกิดความภาคภูมิใจบ้างหรือไม่
-
ผู้บริหารและหัวหน้ามีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องในแต่ละวันเป็นยังไงบ้าง
พูดคุยกันด้วยภาษาพี่ภาษาน้อง ยิ้มแย้มแจ่มใสใส่อารมณ์ขันระหว่างการทำงานกันบ้างหรือเปล่า
หรือมีแต่วลีพิฆาตเอาแต่จ้องจับผิดกันอยู่ทุกวัน
-
สำรวจสภาพแวดล้อมในที่ทำงานของบริษัทว่าเป็นยังไงบ้าง
มีสภาพการทำงานเหมาะสมและจูงใจอยากให้คนทำงานที่นี่หรือไม่ มีกลิ่น, มีความร้อน,
ฝุ่นควัน, วัสดุกองระเกะระกะ, สกปรกรกไม่เป็นระเบียบ ฯลฯ บางไหม
และจะจัดการเรื่องเหล่านี้ยังไงให้เกิดบรรยากาศที่น่าทำงาน
2. นำปัญหาตามข้อ
1 มาคิดดูว่าจะแก้ไขยังไงให้ดีขึ้น
ซึ่งเรื่องนี้ก็คงจะต้องเป็นรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละบริษัทแล้วล่ะครับว่ามีประเด็นไหนบ้าง
เพราะปัญหาของแต่ละบริษัทไม่เหมือนกันซึ่งผมคงไม่สามารถไปลงรายละเอียดตรงนี้ได้
แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมแชร์มาในข้อนี้
Key Success Factors (KSF) อยู่ที่ MD และผู้บริหารทุกระดับอีกนั่นแหละครับว่ามีความตั้งใจจริงที่อยากจะทำให้พนักงานรักและผูกพันบริษัทจริงหรือไม่
ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือบริษัทไม่ควรตั้งคนที่มีทัศนคติไม่ดีหรือคนที่
EQ มีปัญหาขึ้นมาเป็นหัวหน้าเพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานหมดใจหมดไฟและลาออกทิ้งบริษัทไปในที่สุด