วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องต้องระวังกับคำถามที่บอกข้อมูลไม่หมด

             อาจจะด้วยอาชีพของผมที่เป็นที่ปรึกษาและต้องตอบคำถามของผู้คนซึ่งบางครั้งก็มีคำถามทางโทรศัพท์บ้างอีเมล์มาบ้างซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

            ถ้าเป็นการตอบคำถามในห้องอบรมหรือการการพูดคุยเห็นหน้าเห็นตากันแบบ Face to Face ก็คงไม่มีปัญหาที่จะคุยกันในวันนี้หรอกครับเพราะพอจะรู้ว่าคนถามคิดยังไงต้องการอะไรจากสีหน้าและแววตา ยังพอจะซักไซ้ไล่เรียงเรื่องราวที่ยังสงสัยเพิ่มเติมกันได้

            เรื่องที่จะเอามาแชร์กันเป็นอุทาหรณ์เตือนใจในวันนี้ก็คือคำถามนี่แหละ

            ลองอ่านตัวอย่างคำถามนี้ที่ส่งมาให้ทางอีเมล์ดูสิครับ....

          “ตอนนี้หนูเป็นพนักงานชั่วคราวตามสัญญาจ้างคราวละ 1 ปี หนูทำงานที่บริษัทนี้มาได้ 3 ปีเศษแล้ว ทางบริษัทแจ้งว่าจะบรรจุหนูเป็นพนักงานประจำ หนูควรจะต่อรองเงินเดือนและสวัสดิการยังไงดีคะ หนูควรจะเรียกเงินเดือนประมาณเท่าไหร่ และหนูจะได้สิทธิอะไรบ้าง จะได้สวัสดิการเรื่องกองทุนฯไหม....ฯลฯ”

            มีใครที่ตอบคำถามนี้ได้บ้างไหมเอ่ย ?

            เราจะหวังคำตอบที่มีคุณภาพจากคำถามที่ไม่มีคุณภาพได้ยังไงล่ะครับ เพราะองค์ประกอบสำคัญของคำถามที่มีคุณภาพก็คือ “ข้อมูล”

            วันนี้เป็นโลกของข้อมูลใครที่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ ครบถ้วน ถูกต้องก็จะได้เปรียบเสมอในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ

            จากคำถามข้างต้นถามว่าต้องการข้อมูลอะไรประกอบบ้างล่ะ....เช่น

1.      เงินเดือนปัจจุบันของผู้ถามตอนที่เป็นพนักงานชั่วคราวเท่าไหร่ บริษัทแจ้งไหมว่าถ้าบรรจุเป็นพนักงานประจำจะสตาร์ทที่เท่าไหร่ ระเบียบเกี่ยวกับการบรรจุเป็นพนักงานประจำมีไหม เขียนไว้ว่าไง

2.      บริษัทมีระเบียบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์สวัสดิการบ้างหรือไม่, ระเบียบเขียนไว้ยังไงบ้าง สวัสดิการของตำแหน่งงานนี้มีอะไรบ้าง

3.      บริษัทนี้มีการจ่ายเงินประเภทอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนอีกหรือไม่ เช่น เบี้ยขยัน, ค่าครองชีพ ฯลฯ

4.      บริษัทนี้มีการจ่ายโบนัสหรือไม่ โบนัสจ่ายตามผลงานหรือเป็นแบบคงที่เฉลี่ยจ่ายปีละกี่เดือน

หรือนอกจากนี้ยังมีข้อมูลอะไรที่จะบอกผมให้ผมรู้เพิ่มเติมอีกบ้างหรือไม่ ?

เพราะถ้าจะให้ผมตอบคำถามข้างต้นโดยไม่มีข้อมูลอะไรเลยก็คงไม่ต่างกับการนั่งเทียนตอบแบบจิตสัมผัสแหละ

และถ้าตอบแบบจิตสัมผัสโดยไม่มีข้อมูลอะไรเลยอย่างงี้จะมีประโยชน์อะไรกับคนถามล่ะครับ ?

            หรือไม่งั้นผมว่าไปถามคำถามนี้กับทาง HR ของบริษัทผู้ถามจะดีกว่าไหม

แทนที่จะมาถามคนนอกบริษัทซึ่งเขาไม่ได้มีข้อมูลภายในของบริษัท ?

นี่ยังไม่รวมคำถามที่มาบ่อยๆ ประเภทที่ว่า....

“บริษัทไม่ให้ผ่านทดลองงานจะทำอะไรได้บ้าง จะต้องไปฟ้องที่ไหน”

แต่พอถามไปถามมาปรากฎว่าคนถามก็ยอมรับว่าตัวเองมีพฤติกรรมขาดงานบ่อยในช่วงทดลองงาน แต่อ้างว่าสุขภาพไม่ดีบ้างแหละ, มีปัญหาทางบ้านบ้างแหละ เลยทำให้ต้องหยุดบ่อย ทางหัวหน้าเขาก็เลยแจ้งไม่ผ่านทดลองงานและให้เขียนใบลาออก พอไม่ยอมเขียนใบลาออกก็เลยถูกเลิกจ้าง เป็นต้น

            นี่ถึงเป็นปัญหาของที่ปรึกษาหรือคนต้องตอบคำถามที่มักจะเจออยู่เสมอ ๆ คือคนถามจะให้ข้อมูลด้านดีของตัวเองเพียงด้านเดียว หรือไม่งั้นก็บอกข้อมูลมาไม่หมดทั้งแบบจงใจและไม่จงใจ

            ปัญหาแบบนี้จะเจอได้บ่อยบนกระทู้ออนไลน์ตามหน้าเว็บหน้าเพจต่าง ๆ แล้วก็จะมีคนที่ไม่ซักถามรายละเอียดให้ชัดเจนจากคนตั้งคำถามให้ดีเสียก่อน ไปตอบเข้าข้างคนถามที่ให้ข้อมูลแค่ครึ่งเดียว แถมไปด่าฝ่ายตรงข้ามคนถามจนเกิดดราม่าทัวร์ลงก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

            นี่แหละครับเรื่องที่ต้องระวังสำหรับคำถามที่ให้ข้อมูลไม่หมด