วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

การมีสคริปต์ในการติดต่อวิทยากรมีประโยชน์ยังไง ?

            ก่อน T/O (Training Officer) จะติดต่อกับวิทยากรควรจะต้องเตรียมบทคำพูดในการติดต่อกับวิทยากรบ้างไหมครับ ?

หรือจะถามใหม่ว่าก่อนที่จะโทรติดต่อกับวิทยากรน่ะ ท่านเคยมีสคริปต์ (Script) หรือไม่ ?

            บอกได้เลยว่า T/O ส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมตัวอะไรในการติดต่อวิทยากรเลย และเมื่อถึงเวลาจะต้องติดต่อวิทยากรก็จะกดโทรศัพท์ไปหาวิทยากรด้วยความเคยชินตามสัญชาติญาณเหมือนโทรหาใครสักคนหนึ่ง

            เมื่อวิทยากรรับสายปั๊บ...ก็จะพูดแบบด้นสดไปทันทีชนิดน้ำไหลไฟดับว่า....

            “สวัสดีค่ะ...นี่กิ๊กนะคะ..อาจารย์.....(เผลอ ๆ เรียกชื่อวิทยากรผิดอีกต่างหาก)...ใช่ไหมคะ..กิ๊กจะจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาทักษะหัวหน้างานวันที่ 25 กรกฎาคมนี่แหละค่ะ อยากจะเชิญอาจารย์มาบรรยาย...ฯลฯ...และ ฯลฯ...”

            เล่นเอาวิทยากรต้องสตั๊นท์และงงไปสักสองสามวิ แล้วคิดว่ากิ๊กคือใครกันหว่า

แถมจะให้ไปพูดวันที่ 25 กรกฎาคม น่ะถามก่อนหรือยังว่าวิทยากรติดคิวรับนิมนต์ใครไว้ก่อนหรือมีธุระอะไรบ้างหรือเปล่า....

          ที่สำคัญคือขณะที่คุณกิ๊กโทรมาน่ะ..วิทยากรอาจจะกำลังอยู่ในระหว่างการนำกิจกรรมกลุ่มกับผู้เข้าอบรม หรืออาจจะกำลังอยู่ในห้องน้ำซึ่งไม่สะดวกจะพูดอะไรได้มากนักในเวลานั้น

            ที่ผมยกตัวอย่างมาให้ดูเล่น ๆ  (แต่เกิดขึ้นจริงอยู่บ่อย ๆ) มานี้ก็เพื่ออยากจะให้ท่านเห็นความสำคัญของเรื่องการมีสคริปต์สำหรับติดต่อวิทยากรยังไงล่ะครับ

            เราลองมาดูกันไหมครับว่าถ้าคุณกิ๊กตามตัวอย่างข้างต้นได้ทำบทหรือสคริปต์ในการติดต่อวิทยากรเอาไว้ หรือเรียกว่าวางแผนเอาไว้ก่อนล่วงหน้าจะลดปัญหาการติดต่อวิทยากรลงได้บ้างไหมดังนี้


ลองคิดตามผมมานะครับว่า ถ้าท่านมีสคริปต์ก็เหมือนกับการทำ Checklist เพื่อลดความผิดพลาดในการติดต่อวิทยากร

อย่างน้อยการติดต่อวิทยากรจะราบรื่นกว่าการไม่มีสคริปต์หรือไม่

ทำให้ไม่พลาดหรือตกหล่นในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น คุยกับวิทยากรไปแล้วลืมถามว่าวิทยากรคิดค่าบรรยายเท่าไหร่ หรือคุยกันไปแล้วลืมบอกให้วิทยากรส่ง Outline มาให้ หรือ คุยกันแล้วลืมถามว่าวิทยากรสะดวกมาบรรยายในวันที่เรากำหนดหรือไม่ เป็นต้น

ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการมีสคริปต์ก็คือ เมื่อท่านมี T/O รุ่นน้องรุ่นหลังเข้ามาเขาก็จะได้มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน และยังทำให้ไม่ทำงานผิดพลาดในการติดต่อวิทยากรอีกด้วย

อย่างนี้จะดีกว่าไหมครับ ?

เรียกว่ามีประโยชน์สองต่อเลยคือทั้งป้องกันความผิดพลาดในงาน และเป็นประโยชน์สำหรับการสอนงานและช่วยให้การทำงานของน้องใหม่มีมาตรฐานเดียวกัน

            ลองนำเอาไปปรับใช้กันดูนะครับ

…………………..

ตอนหนึ่งจากหนังสือ "จัดการฝึกอบรมให้มีประสิทธิผลอย่าง Training Officer มืออาชีพ" คลิ๊ก

https://www.dropbox.com/s/urvq70samjd3tfr/TO_Free.pdf?dl=0