วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Self-Serving Bias : อคติที่เกิดจากการเข้าข้างตัวเองมากเกินไป

            คนที่มีอคติประเภทนี้มักมีความภูมิใจในตัวเองสูง จะมองเห็นแต่ความสำเร็จของตัวเองที่ผ่านมา และจะมองข้าม (หรือไม่มอง) ความผิดพลาดของตัวเอง

อคติแบบนี้จึงมักจะพบในคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ๆ มีอีโก้จัด ๆ แบบที่ไม่ยอมฟังใคร แถมยังมองคนที่มาตำหนิติติงตนเองว่าเป็นผู้ไม่หวังดีด้วยอีกต่างหาก

และจะมองตัวเองว่าทุกสิ่งอย่างที่ทำมามันก็ดีที่สุดอยู่แล้ว ใครมาทำอย่างเราก็ไม่มีทางจะทำได้ดีไปกว่าที่เราทำหรอก

ถ้าหากผลจากการกระทำที่ออกมาไม่ดีไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ก็จะโทษไปที่คนอื่น

เช่น นักศึกษาที่อ่านหนังสือก่อนเข้าสอบมาดีและมั่นใจว่าผลการสอบวิชานี้ออกมาต้องได้ A แหง ๆ แต่พอผลการสอบออกมาได้เกรดต่ำกว่าที่คาดหวังก็จะโทษว่าอาจารย์ใช้คำถามในข้อสอบไม่เคลียร์ทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน, อาจารย์ออกข้อสอบไม่ตรงกับที่สอน ฯลฯ

อคติแบบนี้มีผู้รู้บางท่านบอกว่ามักจะพบในฝรั่งชาติตะวันตกมากกว่าเอเชียเพราะการอบรมสั่งสอนบ่มเพาะที่แตกต่างกันมาตั้งแต่เด็ก ฝรั่งจะถูกสอนให้กล้าคิด กล้าถาม กล้าแสดงออก มั่นใจในตัวเอง

ในขณะที่เอเชียจะถูกสอนให้อ่อนน้อมถ่อมตน ต้องรับฟังผู้อาวุโสกว่า เมื่อประสบความสำเร็จบางครั้งก็ไปให้เครดิตกับดวงหรือโชคชะตามากกว่าจะบอกว่าเป็นความสามารถของตนเอง

ถ้าจะว่าไปแล้วเจ้าอคติตัวนี้ผมว่ามีส่วนคล้ายคลึงกับโรคหลงตัวเอง หรือ Narcissism นะครับ

            คำ ๆ นี้มาจากชื่อของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งในตำนานกรีกโบราณคือ “นาร์ซีซัส (Narcissus) ที่ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาแกจะต้องส่องดูรูปโฉมตัวเอง ดูหน้าตาทรงผม มัดกล้ามซิกแพ็คของตัวเองด้วยความพึงพอใจในทุกส่วนของร่างกายแก

            ยัง..ยังไม่พอ หญิงสาวทั้งเมืองก็หลงรักในรูปโฉมของนาร์ซีซัสด้วยเช่นกัน

แต่..ทว่าแกมั่นหน้ามั่นโหนกมั่นรูปโฉมความหล่อของตัวเองมากเสียจนคิดว่าไม่มีสาวคนไหนที่มีค่าคู่ควรกับความหล่อล่ำของแก เรียกได้ว่ามีมั่นสูงแบบไม่บันยะบันไม่แคร์สื่อยังเลยก็ว่าได้

          ว่ากันว่าแกเคยทำให้หญิงสาวที่มาหลงรักถึงกับต้องฆ่าตัวตายเมื่อแกไม่รับรักเลยเชียวแหละ

            และนอกเหนือจากหญิงสาวชาวมนุษย์จะหลงรักแกแล้ว ก็ยังมีนางไม้รูปสวยที่ชื่อเอ็คโค่ (Echo-คุ้น ๆ กับคำว่า “เสียงเอ็คโค่” ไหมครับ) ก็ยังมาหลงรักแต่เนื่องจากนางไม้เอ็คโค่ไปทำให้เทพีเฮร่า (Hera) ที่เป็นมเหสีของซุส (Zeus-ผู้ปกครองคณะเทพเทวดากรีก) ไม่พอใจเลยสาปให้พูดซ้ำ ๆ เหมือนคนติดอ่างเลยกลายมาเป็นรากศัพท์ว่าเสียงเอ็คโค่ (Echo) ทุกวันนี้ยังไงล่ะครับ

            ปรากฎว่านางไม้เอ็คโค่เธออยากจะบอกรักนาร์ซีซัส แต่เนื่องจากถูกสาปก็เลยได้แต่พูดซ้ำ ๆ คำพูดสุดท้ายของนาร์ซีซัสอยู่นั่นแหละ

จนกระทั่งนาร์ซีซัสชักจะลำไย..เอ๊ย..รำคาญและโมโหก็เลยพูดโพล่งออกมาว่า “ต่อให้เจ้าเป็นเทพีอโฟรไดท์ (Aphrodite-ที่ชาวโรมันเรียกว่า “วีนัส” หรือ Venus ที่ถือกันว่าเป็นเทพีแห่งความรัก) เราก็ไม่ยอมให้ออเจ้าเข้าใกล้เรา”

            เท่านั้นแหละครับเทพีอโฟรไดท์ซึ่งเป็นเทพีแห่งความงามเกิดมีโมโหที่ถูกนาร์ซีซัสพูดลบหลู่ เธอก็เลยสาปเข้าให้ว่า “ในเมื่อเจ้าลบหลู่ข้า ก็ขอให้เจ้าหลงไหลรูปโฉมของตัวเจ้าเองเป็นบ้าเป็นหลังไม่ต้องกินต้องนอนกันล่ะ”

            ลองคิดดูสิครับ ก่อนที่แกยังไม่ถูกสาปแกก็ยังหลงตัวเองซะมากมายขนาดนั้น แล้วพอถูกเทวีอโฟรไดท์สาปซ้ำเข้าไปอีกจะหลงตัวเองมากขึ้นอีกขนาดไหน

          คำว่านาร์ซีซัสจึงหมายถึงคนที่หลงตัวเอง (ไม่เฉพาะรูปโฉมเท่านั้นนะครับแต่หมายถึงหลงอำนาจวาสนาที่คิดว่าตัวเองถูกทุกเรื่องทุกอย่างทุกข้อด้วยเหมือนกัน) มาก ๆ จนไม่ฟังใครก็ว่าได้ครับ

            หลังจากถูกเทวีสาประหว่างที่เดินทางกลับบ้านกลางป่าแกหิวน้ำก็เลยจะไปกินน้ำในสระน้ำระหว่างทางแกก็ไปเห็นเงาของของตัวเองในสระน้ำนั้น

คำสาปของเทวีอโฟรไดท์ก็เริ่มทำงานทันที นาร์ซีซัสมองเงาของตัวเองในสระอย่างตกตะลึงว่าทำไมเราถึงได้หล่อปานเทพบุตรอย่างงี้หนอ แล้วก็เฝ้าดูรูปโฉมของตัวเองที่ริมสระน้ำแห่งนั้นจนกระทั่งไม่กินอาหารและในที่สุดก็นอนตายตรงข้างสระน้ำนั้นเอง

            และตรงที่นาร์ซีซัสตายนั้นเองก็มีดอกไม้เล็ก ๆ เกิดขึ้นมาคือ “ดอกนาร์ซีซัส” เกิดขึ้นมาให้เราได้รู้จักกันจนทุกวันนี้

            และต่อมาในทางการแพทย์ก็เลยมีการเรียกคนที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบนี้นี้ว่าโรค Narcissistic personality disorder

ซึ่งคนที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะคิด(และยึด)เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เช่น อยากจะให้คนมาป้อยอเอาอกเอาใจ

หรือชอบคุยโวโอ้อวดความสำเร็จของตัวเองอวดรวยอวดบ้าน อวดรถ หรืออวดฐานะทางการเงินว่าฉันมี ทรัพย์สินเยอะกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่น หรือบางคนก็อวดรวยมองแต่เรื่องวัตถุนิยมจนขาดความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มองคนที่ด้อยกว่าเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง แล้วตัวเองเป็นชนชั้นที่สูงกว่า ฯลฯ

ท่านเคยเจอคนหลงตัวเองแบบนี้มาบ้างไหมครับ ?

          ซึ่งคนที่หลงตัวเองมาก ๆ เหล่านี้ก็มักจะมีปมก็คือจะทนการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองไม่ได้ หรือมักจะมีปัญหา EQ ต่ำ จะรู้สึกอับอายถ้าใครมาวิจารณ์ข้อเสียของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา !

            ถ้าจะถามว่าจะสังเกตได้ยังไงว่าใครเริ่มจะมีอาการหลงตัวเอง ?

            มักจะมีอาการแบบนี้ครับ....

-          ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่เคยมีความคิดแบบ “ใจเขา-ใจเรา” มีแต่ “ใจเรา” เท่านั้น

-          คิดว่าตัวเองสำคัญเหนือใคร เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางในการตัดสินเรื่องต่าง ๆ โดยไม่ฟังใคร

-          หมกมุ่นอยู่กับเกียรติยศศักดิ์ศรี ชื่อเสียง ฐานะ วัตถุต่าง ๆ เช่น บ้าน, รถ, ยศ, ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ตัวเองคิดว่าสูงส่งกว่าคนอื่นมากจนเกินปกติ สังเกตได้ว่าคนแบบนี้มักจะโอ้อวดกับคนรอบข้างทั้งการพูดจาและการอวดผ่านสื่อต่าง ๆ

-          ต้องการการยอมรับและอยากให้คนอื่นมาสนใจ มาเอาใจตัวเอง

-          คิดแต่จะเป็นผู้รับ แต่ไม่เคยให้ใคร

-          คิดว่าตัวเองเป็นคนพิเศษที่ควรจะได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เหนือคนอื่น

-          มีความริษยาคนที่ได้ดีกว่าอย่างรุนแรง

-          พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดวงชั้นสูงเพื่อยกสถานะของตัวเองให้เหนือขึ้นไป

            ประโยชน์ของการได้เรียนรู้เรื่องนี้คือเราจะได้นำมาทบทวนตัวเองเพื่อระมัดระวังไม่ให้มีพฤติกรรมแบบหลงตัวเอง ในขณะที่จะได้นำความรู้ในเรื่องนี้มาสังเกตพฤติกรรมผู้คนในองค์กรของท่านดูนะครับว่าใครบ้างที่มีลักษณะของ Narcissistic personality disorder และมีอยู่ในระดับที่มากน้อยแค่ไหนแค่ไหน

เพื่อหาทางหนีทีไล่ในการรับมือกับคนเหล่านี้อย่างเหมาะสมกับดีกรีความหลงตัวเองของคนเหล่านั้น

            แต่พูดก็พูดเถอะนะครับถ้าคนที่เป็นผู้บริหารขององค์กรยิ่งมีตำแหน่งสูงมากขึ้นเท่าไหร่แล้วมีอาการหลงตัวเองมากตามตำแหน่งไปด้วยล่ะก็ ทายได้ว่าองค์กรนั้นคงจะมีความปั่นป่วนในเรื่องของคน (โดยเฉพาะคนที่เป็นลูกน้อง) มากตามไปด้วย

และจะเป็นสาเหตุสำคัญของการที่คนเก่งคนมีศักยภาพที่เขารับกับเรื่องพวกนี้ไม่ได้ก็จะทิ้งองค์กรไปในที่สุด

จาก Narcissism มาสู่ Self-serving Bias จึงมีจุดสังเกตคือ คนที่มีอคติตัวนี้สูงก็จะหลงตัวเองและจะมองไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง (แถมเจตนามองข้ามอย่างจงใจ) พร้อมจะโยนความผิดพลาดไปให้คนอื่น (เช่นโยนไปให้ลูกน้อง) แทนตัวเอง เพื่อปกป้องตัวเองเอาไว้

ส่วนคนที่มี Self-Serving Bias ต่ำเกินไป ก็จะกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง กลัวความล้มเหลว กลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าตัดสินใจทำอะไร

           นี่คืออคติที่เข้าข้างตัวเองมากจนเกินไปหรือ Self-Serving Bias ครับ

                                             ..........................