วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

ถูกเลิกจ้างเพราะมาทำงานสาย..จะได้ค่าชดเชยหรือไม่?

             เรื่องที่ผมเอามาแชร์ในวันนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้จริงเสมอ แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราเพียงแต่รักษา “วินัย” เบื้องต้นในการทำงานให้ดี

            ปัญหาคือนางสาววันดี (นามสมมุติ) มาทำงานสายเป็นประจำ หัวหน้างานก็เรียกมาเตือนด้วยวาจาแล้วก็ยังมาสาย จนกระทั่งถูกตักเตือนเป็นหนังสือตามระเบียบของบริษัทแต่วันดีก็ยังมาทำงานสายอยู่เหมือนเดิมโดยสายครั้งละ 10-15 นาที (ไม่รู้แกติดธุระอะไรสิน่า) แถมวันดียังเถียงหัวหน้าอีกว่าทีคนอื่นมาสายทำไมหัวหน้าไม่เห็นออกหนังสือเตือนบ้างเลย

            จนกระทั่งครั้งล่าสุดวันดีก็ถูกเรียกมารับทราบการตักเตือนเรื่องมาสายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วหัวหน้าก็ยื่นสำเนาหนังสือตักเตือนโดยในหนังสือตักเตือนมีใจความดังนี้

                                                                        14 สิงหาคม 25….

เรื่อง      ตักเตือน

เรียน     คุณวันดี สายเสมอ

 

            เนื่องจากท่านได้ประพฤติตนฝ่าฝืนระเบียบ และข้อบังคับของบริษัท กล่าวคือ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 25…. ท่านมาเข้าทำงานเวลา 8.45 น. ซึ่งตามระเบียบของบริษัทกำหนดให้พนักงานจะต้องเข้าทำงานภายในเวลา 8.30 น.โดยการลงเวลามาทำงานไว้เป็นหลักฐาน บริษัทจึงถือว่าท่านมาทำงานสายในวันดังกล่าว

            ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้เคยเชิญท่านมารับทราบการตักเตือนในเรื่องการมาทำงานสายมาแล้ว 2 ครั้ง ตามหนังสือตักเตือนลงวันที่ 18 มิถุนายน 25…. และวันที่ 16 กรกฎาคม 25…. ซึ่งท่านก็รับทราบการตักเตือนของบริษัทแล้วแต่ก็ยังมาทำงานสายอีกในครั้งนี้  

            บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าการกระทำของท่านดังกล่าว เป็นการประพฤติปฏิบัติตนฝ่าฝืนต่อระเบียบและข้อบังคับของบริษัทบทที่ 9 เรื่อง วินัย และการลงโทษทางวินัย ข้อ 14 การมาทำงานของพนักงาน

            ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทจึงขอตักเตือนท่านเป็นลายลักษณ์อักษร มิให้ประพฤติปฏิบัติตนเช่นนี้อีก และให้ท่านปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทโดยเคร่งครัด และหากท่านยังประพฤติฝ่าฝืนและมาทำงานสายอีก บริษัทจะพิจารณาเลิกจ้างท่านโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ

 

                                                ลงชื่อ..................................................... ผู้แจ้งการตักเตือน

                                                         (                                                )  

                                                       วันที่..........................................

ลงชื่อ..................................................... ผู้รับทราบการตักเตือน      

              (                                               )                                                  

       วันที่...............................................

ลงชื่อ...........................................พยาน           ลงชื่อ......................................... พยาน

          (                                     )                              (                                       )

       วันที่..................................                        วันที่....................................

            แล้ววันดีก็มาสายอีกหลังจากถูกหนังสือตักเตือนฉบับนี้ บริษัทจึงเลิกจ้างวันดีตามที่ได้เคยเตือนไว้แล้ว

            ประเด็นก็คือ วันดีจะได้ค่าชดเชยตามอายุงานหรือไม่เพราะวันดีทำงานมา 3 ปีเศษ ๆ ถ้าวันดีมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเนื่องจากถูกเลิกจ้าง เธอก็จะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงานคือค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าได้ค่าชดเชย 6 เดือนนั่นแหละครับ

            ตรงนี้ผมทิ้งให้ท่านลองคิดดูสักแป๊บหนึ่งนะครับ ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก.....

            ปิ๊ง......หมดเวลาครับ

          คำตอบคือ “วันดีไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน” เพราะ....

"มาตรา ๕๘๓  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้" (จากประมวลกฎหมายแพ่ง)

และ....

มาตรา ๑๑๙  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

“...... (๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด....” (จากบางส่วนของพรบ.คุ้มครองแรงงาน)

            เรียกว่ากรณีนี้คุณวันดีทำผิดสองเด้งเลยก็ว่าได้คือผิดทั้งประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 583 และผิดกฎหมายแรงงานมาตรา 119 !!

            และถ้าหากคุณวันดียังไม่ปรับปรุงตัวเอง และยังขาดวินัยหรือมีพฤติกรรมอย่างนี้ในที่ทำงานใหม่อีกล่ะก็ คงไม่แคล้วถูกเขาเลิกจ้างอีกเหมือนเดิมแหละครับ

            ผมว่าคุณวันดียังไม่ต้องไปมองคนอื่นหรอกนะครับว่าเขามาสายแล้วทำไมถึงไม่ถูกหัวหน้าตักเตือนหรือไม่ถูกเลิกจ้าง แต่คุณวันดีควรจะหันกลับมาปรับปรุงตัวเองให้มาทำงานตรงเวลาเสียก่อนจะดีกว่า 

           เพราะใครเขาจะมาทำงานสายหรือไม่มันก็เรื่องของคนนั้น ถ้าเราไม่มาสายเราก็คงไม่ถูกเลิกจ้างแบบนี้หรอกจริงไหมครับ

                                                               ..............................