วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

ปัญหาของการทำงานแบบ Silo และวิธีแก้ไข

             บริษัทส่วนใหญ่มักมีการจัดผังองค์กร (Organization Chart) แบ่งการทำงานแบบแยกส่วนตามฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายขาย, ฝ่ายการตลาด, ฝ่ายผลิต, ฝ่ายบัญชีการเงิน, ฝ่ายทรัพยากรบุคคล, ฝ่ายจัดซื้อ ฯลฯ

            การแบ่งตามลักษณะของงานแบบนี้มีศัพท์เป็นที่รู้จักกันว่า Silo Organization ซึ่งมีความหมายตรงตัวในภาษาอังกฤษเลยนะครับว่าไซโลก็คือการแบ่งแยกออกเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจน

            พอมีการแบ่งหน่วยงานตามลักษณะงานแบบนี้มันก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสียตามมา

            ข้อดีคือแต่ละหน่วยงานจะรู้ขอบเขตงานของตัวเองอย่างชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรหรือรับผิดชอบอะไรบ้าง ทำให้สามารถกำหนดเป้าหมายการทำงานของหน่วยงานของตัวเองรวมไปถึงความรับผิดชอบของแต่ละคนในหน่วยงานได้ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไร

            แต่ข้อเสียคือเมื่อทำงานไปนาน ๆ เข้าก็จะเกิดการแบ่งอาณาจักร แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต่างคนต่างทำงานไม่มีการพูดคุยสื่อสารซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็อยากจะทำงานให้ได้ตาม KPIs ตามเป้าหมายของตัวเองโดยไม่สนใจว่าฝ่ายอื่นจะเป็นยังไง เผลอ ๆ ทำให้ภาพรวมของบริษัทไม่บรรลุเป้าหมายเพราะเกิดความขัดแย้งแย่งซีนกัน

           พูดง่าย ๆ ว่าปัญหาของการทำงานแบบไซโลมักทำให้ทีมเวิร์คในภาพรวมของบริษัทมีปัญหาครับ

            แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวคิดในการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้นที่เรียกว่าการทำงานแบบ Agile แต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกองค์กร เพราะวิธีการทำงานแบบนี้จะเน้นไปที่คน, การสื่อสารและการพัฒนาให้สินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานให้สั้นลง รวมถึงลดการทำงานด้านเอกสารให้น้อยลงแล้วเน้นการสื่อสารเป็นหลัก

อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าแนวคิดนี้ก็มีที่มาจากบริษัทพัฒนาซอฟแวร์จึงอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกธุรกิจครับ

แม้ว่าบริษัทของท่านยังมีการทำงานแบบไซโลอยู่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นองค์กรที่ล้าสมัยสู้ใครไม่ได้นะครับ เพราะรูปแบบการทำงาน Agile ก็มีข้อดี-ข้อเสียในตัวมันเองเช่นเดียวกันกับทุกเรื่องนั่นแหละครับ

ข้อดีก็คงเป็นการทำงานที่รวดเร็ว เน้นการสื่อสารของคนทำงานให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ลดขั้นตอนการทำงานลงไม่เน้นงานเอกสาร เหมาะกับบริษัทขนาดไม่ใหญ่นักหรือโครงการที่ใช้เวลาไม่นานมากนัก

แต่ข้อเสียก็อาจจะไม่เหมาะกับองค์กรใหญ่ ๆ ในโครงการที่จะต้องมีคนหรือหน่วยงานที่เข้ามาร่วมประสานงานหลาย ๆ ภาคส่วนและทุกคนต้องเท่าเทียมกันไม่มีใครเป็นผู้นำแต่เน้นการทำงานเป็นทีมแบบรับฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งลักษณะการทำงานแบบนี้อาจไม่เหมาะกับวัฒนธรรมของบริษัทใหญ่ที่ไม่ต้องการความยืดหยุ่นหรือจำเป็นต้องมีระบบเอกสารหลักฐานรองรับการทำงาน

ว่าไปแล้วรูปแบบการจัดองค์กรแบบไซโลมีมานานมากกว่าแนวคิด Agile ซึ่งจากระยะเวลาที่ผ่านมาผมก็เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ใช้ระบบการจัดองค์กรแบบไซโลก็พยายามแก้จุดอ่อนของระบบนี้โดยมีกิจกรรมที่เรียกว่า “Cross Functional” หรือการประชุมข้ามฝ่าย ซึ่งในบริษัทที่ผมเคยทำงานมาหลาย ๆ แห่งก็มักจะจัดให้มีการประชุมในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ปีละครั้ง โดยจัดพร้อมกับการประชุม Business Plan ของบริษัท

ซึ่งการประชุม Business Plan ก็จะทำตอนใกล้ ๆ จะสิ้นปีงบประมาณโดยให้กรรมการผู้จัดการมาเล่าวิสัยทัศน์ในปีหน้ารวมทั้งกำหนดเป้าหมายด้านต่างๆ  (KPIs) ของบริษัทให้ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ได้รับทราบ

แล้วผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ก็กลับไปทำแผนงานในปีหน้าพร้อมตั้งกำหนดเป้าหมาย (KPIs) ของฝ่ายตัวเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทตามที่กรรมการผู้จัดการกำหนดเอาไว้แล้วนำกลับมาเสนอใน Business Plan

ซึ่งก็จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับทราบเป้าหมายของแต่ละฝ่ายร่วมกัน พร้อมทั้งสามารถโต้แย้งพูดคุยกันว่าเป้าหมายของฝ่ายไหนขัดแย้งหรือสอดคล้องกับฝ่ายไหนหรือไม่ยังไง เพื่อจะได้ปรับแผนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยสุดท้ายกรรมการผู้จัดการก็จะเป็นคนเคาะอนุมัติแผนงานของเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่เอามานำเสนอ

หลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุม Business Plan แล้ว แต่ละฝ่ายก็จะนำแผนงานและเป้าหมายไปประชุมกับพนักงานในฝ่ายของตัวเองเพื่อให้แต่ละคนที่เกี่ยวข้องนำไปทำแผนงานของตัวเองเพื่อกลับมาคุยกับผู้จัดการฝ่าย

ซึ่งแผนงานและเป้าหมายของพนักงานแต่ละคนก็ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของฝ่าย

จากที่ผมแชร์มานี่แหละครับคือ Business Plan หรือ Cross Functional ที่สามารถนำมาลดปัญหาของการทำงานแบบไซโลลงไปได้ไม่น้อย

นี่ยังไม่รวมการประชุมทบทวน Business Plan ทุกไตรมาสซึ่งก็จะทำให้เพิ่มการสื่อสารระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น ซึ่งก็จะดีกว่าการประชุมกันแค่เพียงปีละครั้ง

หลักการสำคัญคือ "ยิ่งสื่อสารกันมากขึ้นยิ่งเข้าใจกันมากขึ้น"

หวังว่าเรื่องที่ผมแชร์มานี้จะเป็นประโยชน์และทำให้ท่านเกิดไอเดียนำไปประยุกต์ใช้เพื่อลดปัญหาในการทำงานแบบไซโลลงได้นะครับ

 

…………………………….

ปัญหาของการทำงานแบบ Silo และวิธีแก้ไข